กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุเมื่อวันจันทร์ว่า จีนมุ่งตรวจสอบพลเมืองที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศว่าอาจมีพฤติกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ถึงขั้นคุกคามสมาชิกในครอบครัว
แฟ้มภาพ นักเคลื่อนไหวจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อสนับสนุนชาวอุยกูร์ นอกรอบการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในเมืองตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม (Photo by Lionel BONAVENTURE / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งจับตาทุกความเคลื่อนไหวของพลเมืองตนเองที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ
จีนไม่ยอมให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการข่มขู่เพื่อปราบปรามผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวในประเทศ
นอกจากนี้การจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของรัฐบาลปักกิ่งกำลังขยายออกไปในต่างประเทศมากขึ้นในรูปแบบของ "การปราบปรามข้ามชาติ" ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่อ้างถึงการสัมภาษณ์นักศึกษาหลายสิบคนใน 8 ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ
นักศึกษาเหล่านั้นให้ข้อมูลว่า สมาชิกในครอบครัวที่พำนักอยู่ในแผ่นดินจีนได้รับคำขู่ หลังจากพวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในต่างประเทศ รวมถึงการรำลึกเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989
"ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสมาชิกครอบครัวในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ การเพิกถอนหนังสือเดินทาง, ไล่พวกเขาออกจากงาน, ขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งและผลประโยชน์หลังเกษียณ หรือแม้แต่จำกัดเสรีภาพทางกายภาพของพวกเขา" นักศึกษาฯระบุ และเสริมว่าพวกเขาถูกบล็อกไม่ให้โพสต์และถูกเฝ้าดูบนแอปโซเชียลของจีนซึ่งมักเป็นวิธีเดียวที่จะสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวได้ เนื่องมาจากการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลปักกิ่ง
บรรดานักศึกษาต่างตกอยู่ในความกดดันอย่างหนักที่เกิดจากการถูกสอดส่องในทุกวิถีทาง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต, คุณภาพการเข้าชั้นเรียน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กลายเป็นความเครียดและความบอบช้ำทางจิตใจ ไปจนถึงความหวาดระแวงและภาวะซึมเศร้า
รัฐบาลปักกิ่งออกมาตอบโต้รายงานดังกล่าวของแอมเนสตี้ โดยกระทรวงต่างประเทศมองว่ารายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็น "การกล่าวเท็จด้วยความมุ่งร้ายอย่างแท้จริง"
"สื่อที่เป็นกลางใดๆ ก็ตามจะพบว่าชาวจีนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศรู้สึกภาคภูมิใจกับการพัฒนาและความแข็งแกร่งของมาตุภูมิ" หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวในการแถลงข่าว และปฏิเสธคำกล่าวอ้างเรื่องการมุ่งเป้าไปที่พลเมืองที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยยืนกรานว่ารัฐบาลปักกิ่งเคารพอธิปไตยของประเทศอื่น และการดำเนินการด้านความมั่นคงใดๆ ก็ตามเป็นไปตามกฎหมาย
รายงานเมื่อปีที่แล้วโดยกลุ่มวิจัยสหรัฐฯ 'ฟรีดอมเฮาส์' พบว่าจีนต้องรับผิดชอบต่อ "การปราบปรามข้ามชาติ" หลายร้อยกรณีตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงความพยายามที่จะกดดันประเทศอื่นๆ ให้ส่งตัวสมาชิกของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์กลับสู่แผ่นดินจีน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า การที่รัฐบาลปักกิ่งมุ่งเป้าไปที่นักศึกษาได้ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั่วยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ ซึ่งส่งผลเสียต่อสิทธิมนุษยชนของนักศึกษา
"ผลกระทบของการปราบปรามข้ามชาติของจีนก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ" ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำประเทศจีน กล่าว.