สู่ปากีสถาน .. ในฐานะ Gandhara Ambassador!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในมรดกโลกของพุทธศาสนา.. หากพูดถึงมรดกโลกทางพุทธศาสนา เราทั้งหลายมักจะคำนึงถึงสถูปพระเจดีย์ วัดวาอาราม มหาวิหาร อันเป็นโบราณสถานของพุทธศาสนาที่ยังคงปรากฏรากฐานเค้าโครงสืบเนื่องมาจากในอดีต ที่มีอายุโดยเฉลี่ยมากกว่าพันปีเป็นอย่างน้อย หรือดังที่ชาวพุทธทั่วโลกจะระลึกถึงสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงบริโภคใช้สอยสมัยเมื่อทรงมีพระชนม์อยู่...

การระลึกถึงเค้าโครงทางโบราณคดี พุทธศิลป์ แต่ละยุคสมัย ที่ทับถมส่งต่อสืบเนื่องกันมานั้นว่าเป็นมรดกโลก มิใช่เป็นเรื่องที่ผิด.. เพราะคำว่า มรดกโลก นั้นจะระบุว่า แหล่ง หรือ พื้นที่มรดกโลก ที่มีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ โดยแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโก จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา ด้วยสถานที่เหล่านั้นถือว่าสำคัญต่อประโยชน์ของมนุษยชาติหรือประชาคมโลก ซึ่งสะท้อนผ่านหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ๖ ข้อ...

จึงควรอย่างยิ่งที่ “ศิลปะคันธาระทางพุทธศาสนา” ที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ เป็นต้นมา.. ซึ่งเป็นจุดกำเนิดพุทธศิลป์อย่างแท้จริงในประวัติศาสตร์ ส่งต่อสืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนานับตั้งแต่ภายหลังพุทธปรินิพพาน จะได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อเป็นสิ่งยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมทางพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ ที่ยังคงมีปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับ “นครตักกศิลา” แห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป ที่ปรากฏหลักฐานเป็นนครโบราณที่มีอายุมายาวนานหลายพันปี เป็น นครแห่งการศึกษาทางโลก ที่เรียกว่าเป็น “ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยการศึกษาของโลก (ชมพูทวีป)” ก็ว่าได้.. ด้วยความสืบเนื่องมายาวนาน “นครตักกศิลา” จึงอยู่ภายใต้อารยธรรมมากมาย.. โดยเฉพาะความโดดเด่นของความเป็น “นครพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ” ที่แคว้นคันธาระ .. คู่กับ “นครพุทธศาสนาฝ่ายใต้” ที่นครราชคฤห์ แคว้นมคธ (ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตรัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย) ซึ่งทั้งสองแห่งมีความสัมพันธ์ทางพุทธประวัติที่สืบเนื่องกันอย่างมีหลักฐานปรากฏชัดเจนในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา...

ดังที่เห็นร่องรอยความเจริญของพุทธศาสนาที่สืบต่อมาจากสมัยพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่.. และต่อเนื่องไปจนถึงหลังพุทธปรินิพพาน ๒๐๐-๓๐๐ ปี ที่มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ณ แคว้นมคธ ที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒-๓.. ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งโมริยวงศ์ ที่พุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพานรุ่งเรืองถึงขีดสูงสุด ที่มีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่มคธชนบท ซึ่งได้แผ่อำนาจปกครองไปทั่วชมพูทวีป จนถึงคันธาระ กัมโพชะ.. แว่นแคว้นฝ่ายเหนือ

นครคันธาระในสมัยนั้น จึงอยู่ในการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงได้เห็นหลักฐานร่องรอยอารยธรรมของพุทธศาสนาที่แผ่กว้างครอบคลุมไปทั่วแว่นแคว้นฝ่ายเหนือ โดยมีนครตักกศิลาเป็นศูนย์กลาง.. และเมื่อเปลี่ยนผ่านการปกครองเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๕-๖.. ซึ่งเข้าสู่ยุคสมัยของราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองในแคว้นฝ่ายเหนือ โดยมีนครคันธาระเป็นศูนย์การปกครอง จึงได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาที่ขยายผลส่งสืบต่ออย่างยิ่งใหญ่ในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งทรงวางรากฐานพุทธศิลป์แบบคันธาระ บนร่องรอยอารยธรรมในพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ ที่มีความแปลกแตกต่างออกไปจากพุทธศาสนาฝ่ายใต้ และเป็นที่มาของการกำเนิดพุทธศาสนามหายานขึ้น..ในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังพุทธศาสนาแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากถึง ๑๘ นิกาย หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี

นอกจากอารยธรรมของพุทธศาสนา ที่มีอิทธิพลยิ่งในแว่นแคว้นฝ่ายเหนือของชมพูทวีป โดยเฉพาะพื้นที่แคว้นคันธาระ แคว้นกัมโพชะ เป็นต้นแล้ว.. ยังมีอารยธรรมจากตะวันตก ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ในยุคสมัยต่างๆ ทั้งที่ส่งต่อสืบเนื่องในระหว่างอารยธรรม.. จนถึงการทับซ้อนระหว่างอารยธรรม..ในกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ที่ผสมผสาน และเชื่อมโยงกันในร่องรอยอารยธรรมในฐานะที่แว่นแคว้นฝ่ายเหนือ ได้แก่ แคว้นคันธาระ หรือนครตักกศิลา.. เป็นประตูสู่ชมพูทวีปของชาวโลก ดังปรากฏอิทธิพลกรีกและโรมันในสมัย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ามาสู่ชมพูทวีปประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒ ที่เข้ามาปะปนในตำราหรือคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในยุคหลังพุทธปรินิพพาน เช่น หนังสือมิลินทปัญหา.. ที่นักวิชาการตะวันตก ชื่อ เจ ดันแคน เอ็ม เดอร์เรตต์ (J. Duncan M. Derrett) ได้เขียนวิพากษ์ไว้ว่า.. “เนื้อหาของหนังสือมิลินทปัญหานั้นมีอิทธิพลสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่รู้จักกันในชื่อ “อเล็กซานเดอร์-โรมานซ์” (Alexzander-Romance) .. และยังมีเนื้อหาคำสอนทางศาสนาคริสต์ยุคแรก (The gospels) ซึ่งแน่นอนคงเป็นส่วนแต่งเติมขึ้นหลังคริสตกาล... นี่เป็นอิทธิพลกรีกและโรมันที่ตกมาถึงพุทธศาสนา (ฝ่ายเหนือ) ในแว่นแคว้นคันธาระ.. ที่ไม่ใช่อิทธิพลของวรรณกรรมสันสกฤตในอินเดีย..”

ดินแดนพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ (คันธาระ, กัมโพชะ ฯลฯ) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ หรือตอนเหนือของชมพูทวีป จึงทับซ้อนกับอารยธรรมหลายยุคสมัย ที่ควรศึกษาอย่างยิ่งในร่องรอยพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงกับโลก โดยเฉพาะจากกรีกที่แผ่อิทธิพลเข้าสู่การสร้างพุทธศิลป์ยุคแรก ที่มีศูนย์กลางในแคว้นคันธาระ ในสมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ จนเป็นที่มาของพุทธศิลป์คันธาระ.. ที่เลื่องลือถึงความสวยงามที่เผยแพร่ไปทั่วโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะ หินสลักรูปพระพุทธเจ้าและประติมากรรมทางพุทธศาสนา รวมถึงสถูปเจดีย์จำนวนมากมาย ซึ่งในส่วนของสถูปและวัดจำนวนมาก ได้ส่งต่อมาจากความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช..

ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นคันธาระปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จึงได้เห็นร่องรอย พุทธศาสนจักร เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมไปทั่วทั้งในรัฐปัญจาบและรัฐไคเบอร์ปักตุนควา จนถึงบางส่วนของแคชเมียร์.. โดยเฉพาะพื้นที่นครโบราณที่ชื่อ “ตักกศิลา” ที่ครอบคลุมทั้งเมืองตักกศิลาเองและอาณาบริเวณรายรอบเชื่อมโยงครอบคลุมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน.. จนถึง ไคเบอร์พาส (Kyber Pass) ซึ่งเป็นช่องทางธรรมชาติเชื่อมต่อไปสู่ ประเทศอัฟกานิสถาน ในปัจจุบัน

แม้แต่หุบเขาสวัตอันสวยงามด้วยธรรมชาติ ซึ่งในอดีตรู้จักดินแดนดังกล่าวในชื่อ “อุทยาน” (Udyana) ที่เชื่อมต่อกับทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน ก็ล้วนเป็นอาณาจักรที่พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาในยุคนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ดินแดนหรืออาณาจักรในหุบเขาเหล่านี้ จะมีร่องรอยพุทธศาสนา ทั้งอาราม วิหาร สถูป และหินสลักรูปพระพุทธเจ้าจำนวนมาก ที่ควรแก่การศึกษาในประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นแหล่งกำเนิด พุทธศิลป์แบบคันธาระ ที่ทรงคุณค่ายิ่งทางจิตวิญญาณของชาวพุทธทั่วโลก...

ดังที่ได้กล่าวมาโดยย่อนั้น เพื่อแสดงความเป็น มรดกโลกทางพุทธศาสนา ในความเป็นอารยธรรมด้านพุทธศิลป์จากวัตถุโบราณรูปแบบต่างๆ.. ที่บอกกล่าวเล่าเรื่องในแต่ละยุคสมัย ผ่านวัตถุ สิ่งของ เหล่านั้น ได้แก่ วัดวาอาราม สถูปเจดีย์ หินสลักรูปพระพุทธเจ้าปางต่างๆ .. ที่ถ่ายทอดมาจากเรื่องราวในชาดก จากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา

แต่ในอีกมิติหนึ่ง..ที่ควรกล่าวถึงอย่างยิ่งในฐานะชาวพุทธที่แท้จริง.. ได้แก่ จิตวิญญาณของอารยธรรมต่างๆ ของมนุษยชาติ.. ที่ปรากฏอยู่ในร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนา ที่ควรได้รับการยกให้เป็น มรดกโลกของมนุษยชาติ.. ที่มีคุณค่าต่อประชาคมนานาชาติ.. ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ.. ที่มีปรากฏอยู่ในร่องรอยการสืบทอดอารยธรรม.. ที่เชื่อมโยงมาสู่สมัยพุทธศาสนารุ่งเรืองในชมพูทวีป..

จึงยินดียิ่งเมื่อได้ทราบว่า จะได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งใหญ่ที่นครอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ในหัวข้อ Cultural Diplomacy : Reviving Gandhara Civilization and Buddhist Heritage in Pakistan ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖.. และในงานดังกล่าว อาตมภาพเป็นพระภิกษุจากพุทธศาสนา ที่คณะกรรมการจัดงานมีหนังสือมานิมนต์ให้ไปเป็นองค์บรรยายในหัวข้อ Importance of Gandhara in Buddhism” ซึ่งจะไปบรรยายในฐานะ Gandhara Ambassador” ที่ได้รับการถวายตำแหน่ง.. รัฐไคเบอร์ปักตุนควา (KP)/ปากีสถาน.. สมัยเมื่อไปจำพรรษา ณ นครตักกศิลา ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ตามคำเชิญ (นิมนต์) ของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน.. จึงได้ฐานะทูตสันถวไมตรีมรดกโลกพุทธศาสนามาตั้งแต่นั้น...

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ