'แบกเสลี่ยง' งานชั้นต่ำ?

ท่าทางจะจบยาก!

เห็นเด็กจุฬาฯ แชร์กลอนกันในเพจ "คณะจุฬา"

ก็เรื่อง ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั่นแหละครับ ใครอยากรู้ทัศนคติของเด็กๆ เหล่านี้ต่อที่มาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ลองอ่านดูครับ
-------------

....มหาวิทยาลัยอันสุนทร

กลายเป็นโรงละครแล้วหรือนั่น

สวมหัวโขนเต้นเร่าอย่างเมามัน

เลือดรักสถาบันเริ่มทำงาน

ความเป็นจุฬาฯ มาจากไหน

มาจากในสัญลักษณ์อัครฐาน ?

มาจากสรวงสวรรค์ดลบันดาล ?

หรือมาจากหมอบคลานประเพณี ?

ปากตะโกนก้องว่า “อย่าลืมราก”

แต่ลืมคนทุกข์ยากทุกถิ่นที่

เป็นเสาหลักค้ำฟ้าบารมี

แต่ฐานเสาบดขยี้ธุลีดิน

ตราพระเกี้ยวประทับตราทุกอาคาร

อยู่ทุกหัวเอกสารไม่หมดสิ้น

แค่ไม่แห่วอทองผยองบิน

ใครหลายคนก็ดีดดิ้นกินรังแตน

ให้แบกเองคงไม่กล้าจะมาแบก

เพราะที่หลังหนักแอกจนหลังแอ่น

สมัครใจก็เชิญแบกให้ตัวแบน

แต่จะให้แบกแทน กู ไม่ ทำ !

-มาลินี....
-------------

เรื่องวิธีคิดและการเข้าใจปัญหา ดูจะเป็นปัญหาที่เจอกันมากในหมู่คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ที่เล่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย

ที่มาของจุฬาลงกรณ์ เป็นที่รับรู้ของสังคมทั้งในและนอกจุฬาลงกรณ์มานับร้อยปี

จุฬาลงกรณ์มาจากไหน สรวงสวรรค์ดลบันดาล หมอบคลานประเพณี อย่างนั้นหรือ

ความคิดที่ผ่านตัวอักษรนี้เต็มไปด้วยอคติ ไม่รับรู้ประวัติศาสตร์ที่มีข้อเท็จจริง และเป็นที่ยอมรับของคนไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มมาจากสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองในกระทรวงมหาดไทย

ผู้ที่จบจากโรงเรียนนี้จะได้รับการถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมต่างๆ ต่อไป

ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๔๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก”

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำริที่จะผลิตข้าราชการไปรับราชการในกระทรวงอื่นๆ อีก ไม่เฉพาะแต่กระทรวงมหาดไทย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๓ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ทุนรอนใช้เงินที่เหลือมาจากที่ราษฎรบริจาคสร้างพระบรมรูปทรงม้า

สถานที่ตั้งคือวังของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อน คือบริเวณสนามศุภชลาศัยในปัจจุบัน

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่ ๑,๓๐๙ ไร่เป็นเขตโรงเรียน

แบ่งการศึกษาเป็น ๕ โรงเรียนย่อย คือ โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนคุรุศึกษา โรงเรียนแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา และโรงเรียนยันตรศึกษา เหมือนเป็น ๕ คณะ

ต่อมาทรงพระราชดำริขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ นี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะผู้ที่มุ่งรับราชการเท่านั้น

แต่เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะศึกษาชั้นสูงทั่วไปก็เข้าศึกษาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

และทางมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

พ.ศ.๒๔๕๙-๒๔๖๕

มีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และการเตรียมการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา มีการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อให้ช่วยเหลือการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์

พ.ศ.๒๔๖๖-๒๔๘๐

เริ่มรับผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ และมีการปรับปรุงหลักสูตรและรับนักเรียนผู้จบประโยคมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนอีก ๔ คณะ

พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๙๐

เริ่มเน้นการเรียนการสอนพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดเตรียมมหาวิทยาลัยคือนักเรียนจะต้องเลือกเรียนตามคณะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ทำให้เกิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น

พ.ศ.๒๔๙๑-๒๕๐๓

เป็นระยะเวลาของการขยายการจัดการศึกษาออกไป โดยเน้นระดับปริญญาตรีเป็นหลัก

พ.ศ.๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน

เป็นช่วงเวลาของการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี และเริ่มพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม และการบริการทางวิชาการให้แก่สังคม มีการจัดตั้งสถาบันวิจัย สถาบันบริการ ศูนย์ และสำนัก เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกวิถีทาง

ให้สมกับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป

ครับ...ผมก็เที่ยวหาคัดลอกมาจากข้อมูลของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตั้งใจนำเสนอเพื่อให้เห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จุฬาฯ มาจากไหน และพัฒนามาอย่างไร

แน่นอนครับไม่ได้มาจากสรวงสวรรค์ดลบันดาล หรือหมอบคลานประเพณี

แต่มาจากจุดเริ่มต้นที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์ฝึกฝนคนเพื่อไปพัฒนาบ้านเมือง

ไม่ต่างจากจุฬาฯ ในปัจจุบันที่ผลิตบัณฑิตไปพัฒนาประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน

ก็เหมือน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงวางแผนพัฒนาประเทศเอาไว้ คนรุ่นหลังก็ได้ประโยชน์จากแผนดังกล่าวและพัฒนาต่อยอดไปอีก

การโยงเรื่อง สรวงสวรรค์ดลบันดาล หรือหมอบคลานประเพณี จะให้แปลความว่าอะไร?

ที่บอกว่า เลือดรักสถาบันเริ่มทำงาน ก็ชัดเจนว่าคนที่ใช้ประโยคเช่นนี้ มีอยู่กลุ่มเดียวคือ กลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัติรย์

ฉะนั้นถ้าเริ่มด้วยความคิดล้มล้างสถาบัน ก็มองข้อเท็จจริงอย่างอื่นไม่ออก

อีกประเด็นที่เห็นจากทัศนคติคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการแบกเสลี่ยงคืองานที่ใช้แรงงาน เป็นงานชั้นต่ำ ไม่ใช้สมอง

อันนี้น่าจะมากไป!

เมื่อเรียกร้องคนเท่ากัน ก็ต้องมองงานที่คนทำให้เท่ากันด้วย

ถ้าดูถูกชนชั้นแรงงาน เป็นชนชั้นต่ำ เพราะทำงานชั้นต่ำ ไม่มีทางที่คนจะเท่ากันได้

เพราะความคิดที่ต่ำตม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ

รัฐบาลลิงแก้แห

ชี้แจงก็เหมือนไม่ชี้แจง ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คงจะหน้าเขียวไปตามๆ กัน เพราะถูกรัฐบาลบีบให้ร่วมโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินที่รัฐบาลล้วงมาคือ ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท