สงครามยูเครนจะผลัก ให้ BRICS โดดเด่นขึ้น

เมื่อเกิดสงครามยูเครน การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับตะวันตกทำให้เกิดภาพของการแบ่งโลกเป็นสองขั้ว

ขั้วตะวันตกกับขั้วจีนบวกรัสเซีย

จีนกับรัสเซียมีกลุ่มที่เรียกว่า BRICS ซึ่งเพิ่งเปิดการประชุมประจำปีเมื่อวันพฤหัสฯ

พร้อมคำประกาศว่า นี่เป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่ไม่เอาตะวันตก

สอดคล้องกับที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่บอกว่ายุคแห่งโลกที่มีมหาอำนาจประเทศเดียวชี้นิ้วสั่งการทุกคนได้นั้นสิ้นสุดลงแล้ว

สิ่งที่เรียกว่า Unipolar World หรือโลกขั้วเดียวไม่มีอีกต่อไป

โลกจะมีประเทศมหาอำนาจมากกว่าหนึ่งขั้ว

จีนสยายปีกขึ้นมาท้าทายเบอร์หนึ่งคือสหรัฐฯ

ส่วนรัสเซียจะอยู่เบอร์ 3 หรือเป็นอินเดียหรือญี่ปุ่นก็ยังไม่มีการวิเคราะห์กันอย่างลงตัว

การประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 14 จัดแบบออนไลน์โดยมีปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ

BRICS มีประชากรรวมกัน 43% และ 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก

จีนมีเศรษฐกิจเท่ากับ 70% ของทั้งกลุ่มเลยทีเดียว

ที่แน่ๆ คือการประชุม BRICS ครั้งนี้มีความสำคัญตรงที่ปูตินประกาศว่ารัสเซียปรับยุทธศาสตร์ของตนใหม่

จะหันมาคบหาและค้าขายกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตก

และยกตัวอย่างว่าจีนกับอินเดียจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากขึ้นทุกที

จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดที่เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ของห้าประเทศกลุ่ม BRICS อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

ท่ามกลางการจับตามองของนานาชาติต่อท่าทีของประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญเหล่านี้ เรื่องสงครามในยูเครน

ก่อนวันงานวันเปิดของการประชุมระดับผู้นำ ก็มีการตั้งวงของแกนนำภาคธุรกิจของกลุ่มนี้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวเปิดงาน และหนีไม่พ้นที่เขาต้องพูดถึงความกังวลต่อสงครามยูเครน

เริ่มด้วยการชี้นิ้วกล่าวหาตะวันตก

โดยเฉพาะตำหนิมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย...โดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ

สำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียงหลักของทางการจีน เผยแพร่คำพูดของผู้นำจีนที่การประชุมงาน BRICS Business Forum ของภาคธุรกิจว่า

 “วิกฤตยูเครนส่งเสียงเตือนอีกครั้งต่อมวลมนุษยชาติ”

สี จิ้นผิง บอกที่ประชุมออนไลน์พุ่งเป้าไปที่ “พันธมิตรทางทหาร” ด้วย

 “ประเทศต่างๆ จะต้องเผชิญกับความยากลำบากด้านความมั่นคงอย่างแน่นอน ถ้ายังหลับหูหลับตาเชื่อในท่าทีของตนเรื่องความแข็งแกร่ง และมุ่งขยายพันธมิตรทางทหาร รวมถึงแสวงหาความปลอดภัยให้กับตนเอง โดยสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น”

ไม่ต้องสงสัยว่าผู้นำจีนหมายถึงใคร และต้องการจะแสดงจุดยืนที่อยู่เคียงข้างกับรัสเซีย

ผมพยายามฟังว่า สี จิ้นผิง มีข้อเสนอทางออกจากสงครามยูเครนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรหรือไม่

ต้องคอยดูบทสรุปของการประชุมระดับนำ จึงจะรู้ว่ากลุ่ม BRICS จะมีข้อเสนอที่เป็นทางการเพื่อหาทางออกจากสงครามยูเครนอย่างไร

ที่สำคัญคือ ที่ประชุมจะเชื่อตามที่ปูตินได้แสดงจุดยืนมาตลอด 4 เดือนของสงครามที่ผ่านมาหรือไม่

ผู้นำจีนตอกย้ำว่า การใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นจะไม่ได้ผล

ตรงกันข้าม กลับกลายเป็น “บูมเมอแรง” ตีย้อนกลับมายังประเทศที่เป็นผู้กระทำด้วยซ้ำ

อีกทั้งยังจะเป็น “ดาบสองคม” สำหรับประเทศที่เป็นผู้ร่วมในการคว่ำบาตรประเทศอื่น

และเสริมว่าประชาคมโลกจะเดือดร้อนจากกระแสเศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ถูกทำให้เป็นประเด็นการเมือง และทำให้เป็น “อาวุธ” มาประหัตประหารกัน

แน่นอนว่าปูตินของรัสเซียก็ต้องมีถ้อยแถลงของตนบนเวทีที่ส่วนใหญ่มีความเห็นอกเห็นใจตน

ปูตินบอกว่ารัสเซียกำลังเปลี่ยนตลาดการซื้อขายสินค้าและส่งออกน้ำมันไปยังห้าประเทศกลุ่ม BRICS มากขึ้น

เพราะต้องการจะเดินหน้าต่อต้านมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก

โดยเฉพาะกรณีตะวันตกพยายามจะแบนการสั่งเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย

ปูตินบอกว่ามอสโกกำลังเจรจาให้เพิ่มการสั่งซื้อรถจากประเทศจีนเพื่อใช้ในรัสเซีย

และจะเปิดทางให้ซูเปอร์มาร์เก็ตอินเดียเริ่มธุรกิจในรัสเซียได้เพื่อเสริมสร้างโอกาสการทำมาหากินระหว่างกัน

ปูตินคงจะรู้ผลกระทบที่ประเทศในสหภาพยุโรปถอนธุรกิจค้าปลีกและรายใหญ่ๆ ออกจากรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการบอยคอต

จึงต้องหันมาจับมือกับประเทศในกลุ่ม BRICS เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ

ปูตินย้ำว่า “ถึงเวลาที่รัสเซียจะขยายบทบาทในกลุ่ม BRICS แล้ว และการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียไปยังจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

ตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน สถิติการค้าขายระหว่างรัสเซียกับอินเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลของศุลกากรจีนชี้ชัดว่า จีนได้เพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียถึง 55% เฉพาะในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่น่าสนใจก็คือ รัสเซียได้กลายเป็นผู้ขายน้ำมันให้จีนอันดับหนึ่งที่เดิมเป็นซาอุดีอาระเบียในเดือนเดียวกันนั้นด้วย

เหตุผลไม่มีอะไรซับซ้อน

เพราะรัสเซียขายน้ำมันให้กับจีนและอินเดียใน “ราคามิตรภาพ” มีส่วนลดพิเศษ

ด้านหนึ่งอาจจะมองว่าเป็น “มิตรในยามยาก”

อีกด้านหนึ่งถือได้ว่าเป็นการแสดงความสมัครสมานสามัคคีของประเทศกลุ่มที่ไม่เอากับตะวันตก

อีกประเด็นหนึ่งที่ปูตินเน้นคือการลดการพึ่งพาตะวันตกเรื่องระบบการเงิน

เขาบอกว่าระบบธุรกรรมการเงินข้ามประเทศของรัสเซียจะเปิดการเชื่อมต่อกับประเทศกลุ่ม BRICS มากขึ้นกว่าเดิม

 และยังมีสามารถชำระเงินผ่านระบบ MIR ของรัสเซียเพิ่มมากขึ้น

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษในกรณีนี้คือ ที่ผู้นำรัสเซียบอกว่าเขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างเงินสำรองระหว่างประเทศที่อ้างอิงตะกร้าของเงินสกุลในประเทศกลุ่ม BRICS อย่างจริงจังอีกด้วย

นั่นหมายถึงการไม่พึ่งพาดอลลาร์ และจะร่วมกันสร้างกลไกทางความร่วมมือทางการเงินในกลุ่มนี้กันเอง

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่เร่งความร้อนแรงขึ้น...และจะเป็นการพิสูจน์อีกด้านหนึ่งว่า สงครามยูเครนจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับเครือข่ายยักษ์ๆ อย่าง BRICS ที่จะมาทดแทนกลุ่มก้อนทางตะวันตกได้มากน้อยเพียงใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว