อีกวันที่ 'ไม่ค่อยรู้เรื่อง'

ขอบคุณแฟนๆ

ที่ส่งใจยินดีกับการขึ้นบ้านใหม่ของไทยโพสต์ ที่ประชาชื่น ๔๖

ไม่นึกว่าจะคึกคักออนไลน์ขนาดนี้ 

แต่เมื่อท่านยินดีทิพย์กันมารัวๆ ทำเอาผมงี้...ซึ้งไปเลย!

นี่้ถ้าย้อนวัยใกล้เคียงลิซ่าซักหน่อยละก็ ต้องไขว้ขา ย่อเข่า พนมมือ

"ขอบคุณค่ะ" แหงๆ

แต่เมื่อวัยมันใกล้ระดับ "คุณปู่ลิซ่า" แล้ว เอาเพียงว่า ซาบซึ้ง..ซาบซึ้ง ทั้งสิบทิศ ก็คงพอนะครับ

อ้อ...เดี๋ยวบอกนิด....

คือตอนนี้ ไทยโพสต์ "สำนักงานใหม่" อยู่ระหว่างติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐาน

เพื่อความสะดวกสำหรับหน่วยงานและบางท่านที่จะส่งเอกสารทางไปรษณีย์ แอดเดรส ตามนี้ครับ

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

บริษัท สารสู่อนาคต จำกัด

๑๔๐๙ ซอยประชาชื่น ๔๖ ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กทม. ๑๐๘๐๐

มีเรื่่องเร่งด่วน ส่งข้อความผ่าน plewseengern.com ชั่วคราวก่อนก็ได้ ผมจะทำหน้าที่แมสเซนเจอร์ ส่งต่อฝ่ายนั้นๆ ให้

เข้าใจตามนี้นะครับ

เมื่อเข้าใจ ก็เข้าเรื่อง "นินทาชาวบ้าน" ตามงานถนัด แต่บอกตามตรง วันนี้ มึนๆ งงๆ คิดไม่ออกว่าจะคุยอะไร

ความจริง เรื่องมันมีล้านแปด

แต่เท่าที่สดับตรับฟัง "ล้านแปด" ของการเมืองประเทศไทยตอนนี้ สรุปลงที่ประเด็นเดียว คือ

รุมตีน "ตื้บ" นายกฯ!

ตีนใครบ้างล่ะ...?

เท่าที่เห็น ก็ตีนพวกอ้างตนเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" กับสื่อสายผสม "กระหายเรตติ้่ง"

อันที่จริง ไม่แปลก .....

ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน เห็นมาตลอด ที่การเมืองฝ่ายค้านกับสื่อ จะผสมโรงกัน "ถล่มรัฐบาล"

เท่าที่จำความได้ สมัยจอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์ หนังสือพิมพ์ฉบับไหน ด่ารัฐบาล จะขายดี

อย่าง "สารเสรี" สมัยนั้น....

เขาเชียร์จอมพลสฤษดิ์ โจมตีจอมพล ป.และ พล.ต.อ.เผ่า ขายดิบขายดี แย่งกันซื้อจนตัดห่อไม่ทัน

คือผมอยู่แม่กลอง สมัยนั้น การคมนาคม นอกจากเรือเมล์แล้ว ก็มีแค่รถไฟอย่างเดียว

รถไฟมีวันละ ๓ เที่ยว จากแม่กลองตอนเช้าไปมหาชัย ลงรถไฟที่ท่าฉลอม

แย่งกันวิ่งไปลงเรือ ข้ามแม่น้ำท่าจีน ไปขึ้นฝั่งมหาชัย

ต่อรถไฟ จากมหาชัยไป ตลาดพลู วงเวียนใหญ่

สุดทางรถไฟสายแม่กลองที่ "สถานีปากคลองสาน" ริมเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้าม "สี่พระยา"

ก็ไม่ถึง "กรุงเทพฯ" อยู่ดี

เพราะสมัยนั้น ยังเป็น "จังหวัดธนบุรี"!

จะไปฝั่ง "จังหวัดพระนคร" ได้ ต้องผ่านพระบรมราชานุสาวรีย์ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

ที่ทรงม้าชูพระแสงดาบ เด่นสง่า น่าครั่นคร้าม ตรงวงเวียน ไปข้าม "สะพานพระพุทธยอดฟ้า"

นั่นแหละ จึงจะเรียกว่า "ได้มากรุงเทพฯ"!

รถไฟออกเช้า ขาล่องกลับจากท่าฉลอมถึงแม่กลองตอนเที่ยง ชักหวูด ปู๊น..ปู๊น...ฉึ่ก..ชั่ก...ฉึ่ก..ชั่ก

ยืนดู ตอนเข้า-ตอนออก รถไฟเครื่องจักรไอน้ำสมัยก่อนดูมันน่าเกรงขาม เหมือนม้าศึก กำลังคึกจริงๆ

ใครได้ขึ้นรถไฟ ตอนชักหวูดออกจากสถานี ....
คอยาวเท่าไหร่ ต้องยืดให้คนเห็นทางหน้าต่างให้ยาวที่สุด เท่าที่จะยืดให้ยาวได้

มันเท่ อะ ได้นั่งรถไฟ ไปเมืองกรุง!

ลูกไฟงี้ ปลิวว่อน ขืนเผลอหลับ เป็นถูกลมหอบสะเก็ดไฟปลิวกระเด็นไหม้เสื้อผ้า ถ้าเข้าปากที่อ้าละก็...ซวยเลย

นั่นแหละ บรรดาหนังสือทุกชนิด รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันส่งจากกรุงเทพฯ จะไปถึงแม่กลอง

เอเยนต์เขาตั้งแผงอยู่ตรงหัวชานชาลาสถานีนั่นเลย

พอมัดหนังสือพิมพ์โยนโครมลงมา...
 อย่างที่ว่า "สารเสรี" ฉบับละ ๑ บาท แย่งกันพรึ่บเดียวเกลี้ยง!

เพราะช่วง ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ล้มจอมพล ป.กับอัศวินเผ่า กำลังเข้าไคล

"สารเสรี" ถล่มจอมพล ป. กับ พล.ต.อ.เผ่าทุกวัน

ชาวบ้านตอนนั้น สนับสนุนจอมพลสฤษดิ์เต็มร้อย สารเสรี ของสฤษดิ์ จึงเป็นหนังสือพิมพ์ฮิตขายดีทิ้งขาด ทั้งเพลินจิต และพิมพ์ไทย รายวัน

แต่พอจอมพลสฤษดิ์ขับไล่จอมพล ป.และพล.ต.อ.เผ่าจนไปตายนอกประเทศแล้ว

"สารเสรี" จากแย่งซื้อ แจกฟรี คนยังไม่อ่าน เหลือเบะ!

มีหนังสือพิมพ์เกิดใหม่ ดูเหมือนชื่อ "อิสรภาพ" หรืออะไรนี่แหละ ออกมาโจมตีจอมสฤษดิ์ตอนเป็นนายกฯ ทุกวัน

ก็ขายดี ชนิดแย่งกันซื้อ เหมือนสารเสรี ยุคโค่นจอมพล ป. ยังไง-ยังงั้่น

มาพีกระเบิดเถิดเทิง จนถูกบุกทุบแท่นพัง ก็ตอนเรียกจอมพลสฤษดิ์ว่า "ไอ้ยักษ์ใหญ่ม้ามแตก" นั่นแหละ!

ที่เล่านี่ ผมจำมาในฐานะเด็ก ที่เขาใช้ไปแย่งซื้อหนังสือพิมพ์ทุกวันน่ะ

อย่าเข้าใจว่า ผมเป็นนักข่าวตอนนั้นเชียว บอกก่อน

ไม่งั้น เดี๋ยวมีคนไล่อายุ แล้วมาจับไก่ ว่า...

ฮั่นแน่ ไอ้คิงคองน้อย ขี้โม้!

นั่นเป็นภาพรวม "การเมืองกับสื่อ" ซึ่งสมัยโน้น "หนังสือพิมพ์" คือสื่อ

แต่มายุคนี้ เมื่อพูดคำว่า "สื่อ"

"หนังสือพิมพ์" แทบจะหลุดจากคำนิยามนั้นไปแล้ว!

ยุคไอที "ครองโลก" นี้ หนังสือพิมพ์ ใกล้ถูกจัดไปอยู่ในประเภท มวลสารกระดาษที่กำลังแปรสภาพเป็น "ศิลาจารึก"

รองจาก "แผ่นหิน" ไปแล้ว!

การสื่อสารประเภท ดิจิทัล โซเชียล ออนไลน์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ได้รับการยกระดับเป็น "สื่อสารสายหลัก" แทน!

ยุคก่อน เป็นนักข่าว ต้องบอกว่า "ยาก"

ต้องสอบผ่านกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับบัตร มีหมายเลขสมาชิก จึงจะเป็นนักข่าวได้ ๖ เดือน หรือ ๑ ปี ต้องต่อทะเบียนครั้ง
เป็นสมุดเล่มเล็กๆ ปกแข็ง สีน้ำเงิน มีตราครุฑประทับ ของผมยังจำได้ หมายเลข ๒๑๑๒ 

เวลาไปทำข่าว ต้องพกติดกระเป๋าไปด้วย ไม่งั้น บางที่-บางสถานการณ์ เขาไม่ให้เข้า

แต่เดี๋ยวนี้ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

มีมือถือเครื่องเดียว รับจ้างนำคำถามที่เขายัดปากให้ไปถามรัฐมนตรีหรือนายกฯ เพื่อให้เป็นข่าว ในประเด็นที่เขาต้องการได้!

สมัยก่อน ที่สัมภาษณ์ทุกวัน ไม่มี จำได้ว่า จันทร์ จอมพลถนอมให้สัมภาษณ์ พุธ จอมพลประภาส ให้สัมภาษณ์

นอกนั้น นักข่าวการเมืองไป "สีฟข่าว" กันเอาเอง! 

สมัยก่อน พูดกันตรงๆ นักการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้าน มีคุณภาพ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ชนิดประชาชน "ฝากผี-ฝากไข้"

ฝ่ายค้าน สมัยนั้่น คือประชาธิปัตย์ ที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค

ยอมรับเลยว่า เขาทำหน้าที่ฝ่ายค้านแบบสุภาพบุรุษการเมืองจริงๆ เรื่องลีลาการพูด ยกไว้

ที่สำคัญ คือ เขาห้ำหั่นกันด้วย ข้อมูล หลักฐาน จะเจ็บแสบ ไม่ใช่จากการจิกหัวด่าหยาบคาย หรือการปั้นข้อมูลเท็จ

หากแต่เจ็บแสบด้วยลีลาวาทะสุนทร อันผู้มีความเป็นมนุษย์ด้วยกัน เพียง "วาทะสุนทร" แค่นั้น ด้วยจิตละอาย ก็แทบแทรกแผ่นดินหนีแล้ว

แต่การเมือง, สื่อยุคไอที มันไปอีกมิติ ซึ่งผมไม่สรุปว่ายุคไหนจะดี-จะไม่ดีกว่ากัน เพราะเหตุปัจจัย แต่ละยุคสมัย ต่างกัน

บอกได้แต่ว่า สมัยก่อน การเมือง เขาสู้กันแบบสุภาพบุรุษ ประเภท ปั้นเรื่อง นำมาใส่ร้ายป้ายสีอภิปรายกัน น้อยมาก

และหนังสือพิมพ์ ประเภท "ตั้งประเด็น" ให้นักข่าวนำไป "ถามนำ" ด้วยหวังผลซ่อนเร้นบางประการ

คนหนังสือพิมพ์ยุคนั้น เขาหยิ่งในศักดิ์ศรี น้อยครั้ง-น้อยคน ที่จะมีทำอย่างนั้น!

ท่านสังเกตดูซี แต่ก่อน หนังสือพิมพ์มี ยักษ์ใหญ่-ยักษ์เล็ก ทุกวันนี้ เป็น "ยักแคระ" กันหมดแล้ว

คนไม่เลิกติดตามข่าวสารหรอก

แต่เขา "เลิกอ่านข่าว" จากหนังสือพิมพ์ที่ยาวเป็นวา-เป็นศอก แล้วไปอ่านตามออนไลน์ ที่ขยุ้มนำเสนอ ๔-๕ บรรทัด

ไม่ก็ไปดู-ไปฟังตามโทรทัศน์ ที่เอาจากหนังสือพิมพ์ไปอ่านบ้าง

มีคนพูดสรุปว่า อะไรที่เกิน ๔-๕ บรรทัด คนไม่อ่านแล้ว เพราะมันยาว!

นั่น อย่าสรุปว่า คนยุคนี้ไม่อ่านหนังสือเชียวนะ ผมถือว่า "ดูถูกเขา"

ยุคไอที โลกหมุนเร็ว แต่วิปริต และหดสั้น

ในขณะเดียวกัน ยุคหนังสือพิมพ์ เป็นโลกหมุนช้า แต่ยืนยง และยาวนาน

ฉะนั้น การทำหนังสือพิมพ์ "นอกตำรา" ตามประสาผม ก็คือ

หมุนตามโลก แต่ไม่ "หลงโลก"!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง