โลกเครียดเมื่อมะกันหนุนญี่ปุ่น ฟื้นแสนยานุภาพทหารครั้งใหญ่

ไม่ต้องอ้อมค้อมกันอีกต่อไป...สหรัฐฯ ประกาศว่าจะยกระดับความร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่น

เพื่อสกัดอิทธิพลจีนและเกาหลีเหนือ

ด้วยการเพิ่มศักยภาพการ “ตอบโต้” ทางทหารของญี่ปุ่นถึงระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้ง 2 ใช้คำว่า counter-strike capability

หมายถึงการที่ญี่ปุ่นจะสร้างแสนยานุภาพทางทหารครั้งสำคัญถึงขั้นที่สามารถจะโจมตีฐานยิงขีปนาวุธของฝ่ายตรงกันข้ามในดินแดนของศัตรู

นั่นหมายความว่า สหรัฐฯ จะช่วยญี่ปุ่นเพิ่มศักยภาพถึงขั้นที่ยิงถล่มดินแดนของจีนและเกาหลีเหนือได้

ในกรณีที่หาก 2 ประเทศนี้เปิดฉากโจมตีญี่ปุ่นก่อน

อ่านแถลงการณ์ร่วมของ 2 ผู้นำแล้วจะพบว่า เป็นภาษาที่แข็งกร้าวและมุ่งไปที่จีน, รัสเซียและเกาหลีเหนืออย่างตรงไปตรงมา

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ โดยไบเดนแสดงการสนับสนุนแผนการของโตเกียวที่จะเสริมศักยภาพการป้องกันที่ “เป็นตัวของตัวเอง”

หมายความว่าไม่ต้องพึ่งพาชาติอื่นหากเกิดการสู้รบ

ตอนเริ่มการประชุมไบเดนพูดถึงแผนการป้องกันใหม่ของญี่ปุ่นว่า :

“ผมขอพูดให้ชัดเจนแบบจะจะเลยว่าสหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ทั่วถึง และสมบูรณ์ต่อพันธมิตร และที่สำคัญกว่านั้นคือต่อการ (สหรัฐฯ จะช่วย) ปกป้องคุ้มกันญี่ปุ่น"

ไบเดนพูดถึงข้อผูกมัดของสหรัฐฯ ต่อญี่ปุ่นในเรื่องความมั่นคงด้วยคำว่า

Fully, thoroughly, completely

ซึ่งเป็นการตอกย้ำมั่นคงอย่างที่ไม่เคยใช้กับประเทศอื่นมาก่อน มีความหมายว่า “ครบถ้วนทุกกระบวนการ...” หรือสุดๆ กันเลยทีเดียว

คราวนี้ถือว่าคิชิดะเหยียบวอชิงตันเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี

เปิดฉากด้วยการแสดงจุดยืนด้านการทหารที่กร้าวว่า

"ปัจจุบันญี่ปุ่นและสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ท้าทายและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา" 

และย้ำถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นว่าด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นคำประกาศนโยบายระดับชาติที่เพิ่งปรับแก้ครั้งใหญ่ล่าสุด

มีเนื้อหาที่เด่นชัดว่าจะเป็นการผลักดันให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับเพิ่มงบประมาณทางทหารจาก 1% เป็น 2% ของผลผลิตมวลรวม หรือ GDP ของประเทศ

รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการโจมตีตอบโต้ (counter-strike) ซึ่งรวมถึงความสามารถในการโจมตีฐานยิงขีปนาวุธของศัตรู

หมายถึงการเข้าถล่มโจมตีถึงบ้านของฝ่ายตรงกันข้าม

ระหว่างการแลกเปลี่ยนกับไบเดนนั้น คิชิดะยืนยันว่าแนวทางของโตเกียวสอดคล้องและเหมาะสมกับกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยของรัฐบาลสหรัฐฯ

เรียกมันว่าเป็นการมุ่งเน้นที่การ “ป้องปรามแบบบูรณาการ”

แถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังการประชุมย้ำว่า "พันธมิตรด้านความมั่นคงของเราแข็งแกร่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน"

“เราสามารถสร้างความไว้วางใจส่วนตัวต่อกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” 

คิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม "เรายังสามารถยืนยันความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ"

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า "อินโด-แปซิฟิกเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การกระทำที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบสากลตามกฎกติกาของจีน ไปจนถึงการยั่วยุโดยเกาหลีเหนือ"

นั่นคือการระบุว่า จีนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง...ตามมาด้วยเกาหลีเหนือ

อีกทั้งยังชี้นิ้วไปที่จีนเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าวอชิงตันกับโตเกียวถือว่าปักกิ่งกำลังจะพยายามที่จะ “เปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่เพียงฝ่ายเดียว” (unilaterally change the status quo) รอบหมู่เกาะเซนกากุ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ดูแลและจีนอ้างเป็นของตน 

จีนเรียกหมู่เกาะเดียวกันนี้ว่าชื่อ “เตียวหยู” และอ้างหลักฐานประวัติศาสตร์ว่าอยู่ใต้การปกครองของจีนมายาวนานก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าครอบครอง

ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือประเด็นที่ไบเดนกับคิชิดะย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน

“เราเน้นย้ำว่าจุดยืนพื้นฐานของเราในไต้หวันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวันในฐานะองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมระหว่างประเทศ” 

ญี่ปุ่นอ้างว่าหากจีนใช้กำลังบุกไต้หวันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของตนด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

และเมื่อคิชิดะประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่ายืนอยู่ข้างเดียวกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ก็เท่ากับเป็นการท้าทายจีนอย่างเปิดเผย

จีนถือว่าโตเกียวแสดงอาการยั่วยุและแทรกแซงกิจการภายในอย่างเห็นได้ชัด

สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นยังตกลงที่จะแบ่งปันข่าวกรองระหว่างกันและกับเกาหลีใต้เกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธโดยเกาหลีเหนือ 

ในขณะที่เปียงยางยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์จะไม่เอ่ยถึงสงครามยูเครนไม่ได้เช่นกัน

วอชิงตันและโตเกียวตกลงที่จะคงมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียและสนับสนุนยูเครน รักษาแนวร่วมของ Group of 7 หรือกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลก 7 ประเทศ

“เรากล่าวอย่างชัดเจนว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียในยูเครนจะเป็นการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อมนุษยชาติและไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด” แถลงการณ์ร่วมระบุ

ถ้อยแถลงยังประกาศด้วยว่า ทั้ง 2 ประเทศจะเสริมสร้าง "ความได้เปรียบร่วมกัน" ในภาคส่วนต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อวกาศ พลังงานนิวเคลียร์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ประเด็นโรคระบาดโควิดก็เป็นส่วนหนึ่งของความกังวลร่วมของ 2 ประเทศ

แถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้จีน "รายงานข้อมูลลำดับจีโนมทางระบาดวิทยาและไวรัสที่โปร่งใสเพียงพอเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโควิด-19 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกเตรียมพร้อมเพื่อลดการแพร่กระจายและระบุสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นไปได้"

เป็นการซัดใส่จีนอีกหนึ่งดอก

ก่อนจะไปถึงวอชิงตันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คิชิดะเดินสายไปเยี่ยมเยือนผู้นำประเทศกลุ่ม G-7 ก่อนการประชุมสุดยอดของกลุ่มที่ฮิโรชิมาในเดือนพฤษภาคมนี้ 

โดยแวะหลายประเทศในยุโรปที่เป็นสมาชิก G-7 และแคนาดา 

ไบเดนกับคิชิดะย้ำว่า "จะร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อให้การประชุมสุดยอดประสบความสำเร็จ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ G-7 ในการสนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม" 

จีนและเกาหลีเหนือย่อมไม่อาจจะอยู่เฉยๆ ได้กับถ้อยแถลงที่ฟาดฟันตรงๆ จาก 2 ประเทศที่อ้างความเป็นเจ้าของ “ระเบียบโลกที่เกาะเกี่ยวบนพื้นฐานกติกาสากล”

จีนถามย้ำเสมอว่า “กติกาสากลที่ว่านี้เป็นอย่างไร ใครเป็นคนเขียนขึ้นมา และทำไมกติกาสากลจึงทำให้โลกปั่นป่วนได้ขนาดนี้”

คอยติดตามปฏิกิริยาร้อนๆ จากปักกิ่ง, มอสโกและเปียงยางอีกไม่นานเกินรอ!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน