หากไม่ปฏิวัติการศึกษา เราก็แข่งกับใครไม่ได้

ผมยืนยันได้ว่าหากรัฐบาลเศรษฐาไม่ยอมทำเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไทยก็จะไม่มีทางแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

และอีกไม่ช้าไม่นาน เราก็จะเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านความรู้และทักษะเป็นอันดับสุดท้ายของอาเซียน

เพราะเมื่อมาตรฐานการศึกษาของเรารั้งท้าย เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกสอนให้ “คิดวิเคราะห์” เป็น แต่พูดตามคนอื่นแบบนกแก้วนกขุนทอง ถูกจูงจมูกได้ง่าย เศรษฐกิจเราก็จะล้าหลัง

เพราะยุคดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงนั้นต้องการคนที่คิดเองได้ ทำเองเป็น

ประเภทที่ทำอะไรซ้ำๆ แบบเดิมจะถูกแทนที่โดย “ปัญญาประดิษฐ์” อย่างแน่นอน และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหล่านี้จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด

เดิมเราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นทุก 10 หรือ 20 ปี

แต่จากนี้ไปโลกจะพลิกไปมาตลอดเวลา และเกือบทุก 6 เดือน เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา

เรื่องของภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราต้องเอาจริงเอาจัง

ตามมาด้วยการยกมาตรฐานของมหาวิทยาลัยที่ต้องเน้นสร้างคนที่มีวิสัยทัศน์, กรอบความคิดและจินตนาการที่ “สั่ง” AI ให้ทำตามที่เราต้องการ ก่อนที่จะถูกแทนที่โดยปัญญาประดิษฐ์

ตาราง 2 ชุดนี้สะท้อนถึงความล้าหลังของระบบการศึกษาไทยอย่างเห็นได้ชัด

ตารางหนึ่งสะท้อนถึงดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ประจำปี 2023 ซึ่งประเทศไทยมีดัชนีต่ำสุดในบรรดา 8 ประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีการวัดผล

ไทยถูกจัดให้อยู่ที่อันดับ 101 จาก 113 ประเทศ ด้วยคะแนน 416 ลดลงจากอันดับ 97 จาก 111 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2022

อีกตารางหนึ่งยิ่งต้องทำให้เราหนักใจ เพราะเห็นได้ชัดว่านอกจากมหาวิทยาลัยจะแพ้สิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว สถาบันอุดมการศึกษาชั้นสูงของเวียดนามยังแซงหน้าของไทยเราไปแล้วอย่างเห็นได้ชัด

หนทางที่จะแก้ไขปัญหาทั้ง 2 คือต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐานทางความคิด

และต้องไม่มองเฉพาะเรื่องของระบบการศึกษาเท่านั้น

แต่ต้องมองกว้างไกลกว่านั้น นั่นคือคุณภาพระบบการศึกษาและความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

ความอ่อนแอของคุณภาพระบบการศึกษาเกิดจากหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนที่ยังล้าหลัง

แม้จะพยายามปรับปรุงแล้ว แต่คุณภาพครูก็ยังไม่ตอบโจทย์จริงๆ ได้

อีกทั้งกฎเกณฑ์กติกาของกระทรวงศึกษาธิการก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในอันที่จะให้ครูต่างชาติเข้ามาสอนเด็กไทย

ทั้งๆ ที่ครูคนไทยที่จะสอนภาษาอังกฤษให้ได้มาตรฐานยังขาดแคลนอย่างหนัก

ต้องไม่ลืมว่าเด็กไทยไม่ได้มีจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ผลการเรียนสะท้อนว่าชั่วโมงเรียนที่มากกว่า หรือแม้แต่ความขยันขันแข็งที่ไม่น้อยไปกว่าชาติอื่นก็ไม่อาจจะทำให้เกิดทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

แต่ที่เป็นปัญหาร้ายแรงไม่น้อยไปกว่ากันคือ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

เด็กไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพในระดับใกล้กัน

ไม่ต้องพูดถึงช่องว่างที่เพิ่มขึ้นทุกทีเมื่อเราเห็นเด็กไทยจำนวนหนึ่งมีโอกาสไปต่อต่างประเทศ หรือหากผู้ปกครองส่งเสียได้ก็เรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือเรียนในโรงเรียนที่จัดหลักสูตรภาษาอังกฤษที่เรียกว่า English Programme หรือ EP)

วันก่อนผมอ่านเจอข้อเสนอของ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่เคยทำ startup เรื่องการศึกษาเสนอวิธีปฏิรูปเรื่องนี้ 5 ด้านรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการสามารถดำเนินการได้ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ

ผมคิดว่าน่าสนใจและตรงกับที่ผมเชื่อว่าควรจะเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะต้องนำไปพิจารณา นั่นคือ

 1.ออกแบบหลักสูตร การสอน การประเมินวิชาภาษาอังกฤษใหม่ เช่น ปรับหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษ ให้เน้นด้านทักษะการสื่อสารหรือการ “ใช้” ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นแค่เพียงหลักภาษาและไวยากรณ์

ต้องช่วยกันทำให้ห้องเรียนภาษาอังกฤษเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ช่วยให้ผู้เรียนกล้าลองผิดลองถูกในการใช้ภาษา และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ดำเนินการพร้อมกับการออกแบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ด้านภาษาอังกฤษ ที่เน้นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ มากกว่าเพียงการอัดฉีดเนื้อหา

2.ยกระดับการอบรมทักษะภาษาอังกฤษของครูไทย เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการอบรมครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู (pre-service training) และการพัฒนาทักษะในงาน (in-service training)

อีกทั้งต้องเน้นการกระจายงบอบรมครูที่ปัจจุบันกระจุกอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด ไปเป็นการให้งบตรงไปที่โรงเรียนและครูแต่ละคนในการซื้อคอร์สพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ด้านที่ตนเองต้องการพัฒนา

3.ทำ MOU กับประเทศหรือเมืองอื่นๆ เพื่อให้มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษในต่างประเทศและครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ เช่น เพิ่มสภาพแวดล้อมที่นักเรียนไทยได้ฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติที่มาสอนในประเทศไทย ยกระดับทักษะครูไทยที่จะมีประสบการณ์ไปสอนในโรงเรียนที่ต่างประเทศ

4.ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน เช่น พิจารณาจัดสรร “คูปองเปิดโลกเรียนรู้” สำหรับเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งอาจรวมถึงคอร์สหรือกิจกรรมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษ จัดทำแพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่รวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะ เช่น คอร์สภาษาอังกฤษ จากผู้ผลิตเนื้อหาในภาคเอกชนและภาควิชาการ โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนเรียนได้ฟรีไม่จำกัด เพิ่มจุดที่ประชาชนได้สัมผัสกับภาษาอังฤษในชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มบทบรรยายภาษาอังกฤษใต้ภาพ (subtitles) สำหรับข่าวสาร ละคร รายการในโทรทัศน์

5.รณรงค์ให้สังคมไม่มีค่านิยมที่ให้ความสำคัญมากเกินไปกับเรื่องสำเนียง (accent) จนทำให้เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ เช่น สร้างความเข้าใจว่าการออกเสียง (pronunciation) ให้ชัดถ้อยชัดคำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการให้คู่สนทนาเข้าใจสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร แต่สำเนียงไม่ควรถูกมองว่าเป็นสาระสำคัญ

เนื่องจาก “สำเนียงที่ถูกต้อง” แม้ในเชิงทฤษฎี ก็อาจไม่มีอยู่จริง ในเมื่อภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาที่ถูกใช้กันโดยคนในหลายประเทศทั่วโลกด้วยสำเนียงที่หลากหลาย หรือแม้แต่คนในประเทศสหราชอาณาจักรเอง ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตำรับภาษาอังกฤษ ก็ยังมีหลายสำเนียงที่แตกต่างออกไปในแต่ละภูมิภาค

นอกเหนือจาก 5 ข้อนี้แล้ว ผมคิดว่าแต่ละท้องถิ่นมีปัญหาที่แตกต่างกันไป รัฐบาลและเอกชนจะต้องร่วมมือกันสร้างรูปแบบการพัฒนาการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรหลักและภาษาต่างประเทศให้สอดคล้องกับสภาพของแต่ละชุมชนให้จงได้

หาไม่แล้วเราจะกลายเป็น “คนป่วยของเอเชีย” แห่งยุคสมัยทีเดียว!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021