เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

โดย ปตท.สผ.แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไทยว่าเชฟรอนได้ตัดสินใจถอนตัวออกและได้โอนหุ้น 41.1% ให้ ปตท.และรัฐวิสาหกิจเมียนมา

โดยบริษัทพลังงานยักษ์สหรัฐฯ แห่งนี้แจ้งว่าสาเหตุที่ถอนตัวเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

และโยงถึงการก่อรัฐประหารในเมียนมา กับการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารที่ตามมา

ก่อนหน้านี้เป็นเวลากว่าสองปี บริษัทเชฟรอนได้ประณามเหตุความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เมียนมา และประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะมีการถอนตัวจากแหล่งก๊าซแห่งนี้

แทนที่จะขายหุ้น 41.1 เปอร์เซ็นต์ ในบ่อก๊าซ ทางบริษัทเชฟรอนได้โอนหุ้นให้กับบริษัท ปตท.สผ.ของไทยและรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของเมียนมาชื่อว่า บริษัทเมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ส เอนเตอร์ไพรส์ (MOGE)

ปตท.สผ.ผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซออกมากล่าวเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า หุ้นในยาดานาของบริษัทเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 62.95 เปอร์เซ็นต์

 “การถอนตัวดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความตั้งใจของเราที่จะออกจากเมียนมาในลักษณะที่ต้องมีการควบคุม และต้องการจะถอนตัวหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และหลังจากเหตุวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กําลังดําเนินอยู่” โฆษกเชฟรอนบอกในแถลงการณ์

ในหนังสือของ ปตท.สผ.ถึงตลาดหลักทรัพย์นั้นได้แจ้งว่าจะเดินหน้าบริหารแหล่งก๊าซแห่งนี้ต่อไปเพราะมี “ความสำคัญทางยุทธศาสตร์พลังงาน” ต่อไทยและเมียนมา

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยคงจะต้องถูกตั้งคำถามว่าการยังมีข้อตกลงกับรัฐบาลทหารพม่าในกรณีนี้จะทำให้ถูกตีความว่าสนับสนุนการปกครองปัจจุบันที่ถูกประณามโดยสหประชาชาติและหลายๆ องค์กรระหว่างประเทศหรือไม่

ถึงวันนี้ ปตท.สผ.ยังยืนยันจะดำเนินการต่อไปเช่นเดิม

แต่เชื่อได้ว่าคงมีการพูดจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลตะวันตกที่ได้พยายามเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทยเข้าร่วมการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าด้วย

เหตุผลที่ทางการไทยให้กับประเทศตะวันตกในเรื่องนี้ก็คือ การที่จะรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านพลังงานของไทยและพม่าซึ่งมีผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนทั้งสองประเทศ

มิได้มีผลกระทบต่อรัฐบาลทหารพม่าแต่เพียงฝ่ายเดียว

แหล่งก๊าซยาดานาตั้งอยู่ที่อ่าวเมาะตะมะ โดยมีอัตราการผลิตก๊าซอยู่ที่ 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซถูกส่งให้กับประเทศไทย และอีก 30 เปอร์เซ็นต์ถูกส่งให้ MOGE เพื่อนำไปใช้ในเมียนมา

หน่วยงานของ MOGE ถูกยึดโดยรัฐบาลทหารหลังการรัฐประหารในปี 2564

ความจริงเชฟรอนได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2565 แล้วว่าจะถอนกิจการออกจากเมียนมา

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว บริษัทพลังงานยักษ์แห่งนี้ก็ได้ตกลงที่จะขายทรัพย์สินที่นั่น รวมถึงสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งก๊าซยาดานา

แต่ข้อตกลงนี้ถูกยกเลิกไปจนมีคำประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

กลุ่มเคลื่อนไหวไม่แสวงหาผลกำไร Justice for Myanmar แจ้งว่าที่เชฟรอนต้องถอนตัวนั้นเพราะเกิดแรงกดดันจากภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่บริษัทส่งรายได้จากโครงการก๊าซให้รัฐบาลทหารเมียนมาย่อมกลายเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับเผด็จการทหาร

เชฟรอนอ้างว่าการตัดสินใจถอนตัวครั้งนี้กระทำด้วย “ความรับผิดชอบ เป็นระเบียบ และปลอดภัย ตามกฎหมายระหว่างประเทศและการคว่ำบาตรทางการค้า

ย้อนกลับไปในช่วงหลังรัฐประหาร เชฟรอนและ TotalEnergies กลุ่มบริษัทพลังงานจากฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งหุ้นส่วนร่วมกันในโครงการในขณะนั้น ประกาศหยุดการรับส่งเงินจากธุรกิจยาดานาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มีเงินของทั้งสองบริษัทรั่วไหลไปสนับสนุนคณะรัฐประหาร

ก่อนที่ TotalEnergies จะถอนตัวไปเต็มตัวในปี 2565

ส่วนเชฟรอนก็ทยอยขายสินทรัพย์ ถอนตัวออกจากโครงการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564

ก่อนที่ในวันจันทร์ที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา เชฟรอนจะออกมาประกาศถอนตัวจากยาดานาอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศโอนหุ้น 41.1% ให้กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ของไทย

การโอนหุ้นครั้งนี้ทำให้ ปตท.สผ.กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการยาดานาและหุ้นส่วนในโครงการหนึ่งเดียวของรัฐบาลทหารเมียนมา โดยถืออยู่ทั้งหมด 62.96% ขณะที่ MOGE ถืออยู่ 37.04%

นักวิเคราะห์มองว่ากิจกรรมในเมียนมาทั้งหมดของ ปตท.สผ. (ยาดานา + Zawtika) คิดเป็นประมาณ 8% ของยอดขายรวมของรัฐวิสาหกิจไทยแห่งนี้

โครงการ Yadana เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่ตั้งอยู่ที่อ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน เมียนมา ห่างจากชายฝั่งที่ใกล้ที่สุดราว 60 กิโลเมตร

แรกเริ่มเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรท้องถิ่นและบริษัทน้ำมันจากชาติตะวันตกเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบท่อส่งก๊าซบนพื้นดิน

รวมไปถึงแท่นขุดเจาะและระบบท่อส่งก๊าซใต้ทะเล

ค้นพบก๊าซธรรมชาติในพื้นที่นี้ครั้งแรกเมื่อปี 2523 และการพัฒนาแหล่งผลิตก๊าซ Yadana ก็เริ่มขึ้นในปี 2535

เริ่มผลิตก๊าซสำหรับใช้ในเมียนมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544

ในตอนต้นบริษัท Total เป็นผู้ดำเนินการ มีหน้าที่พัฒนาแหล่งผลิตก๊าซและขนส่งก๊าซไปที่ชายแดนไทย-เมียนมา ภายใต้การร่วมทุนกับอีก 3 บริษัท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นดังนี้

บริษัท Total ถือหุ้น 31.23% Unocal ถือหุ้น 28.26% ปตท.สผ. 25.5% และ Myanmar Oil and Gas Enterprise ถือหุ้น 15%

โครงการนี้เป็นแหล่งก๊าซที่สำคัญ ใช้ผลิตไฟฟ้าในเมียนมา 30% ของปริมาณที่ผลิตได้

ส่วนอีก 70% ถูกส่งมายังประเทศไทย เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันตกของไทย

โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 10-15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

โครงการนี้มีปริมาณผลิตคิดเป็น 1.8% ของกำลังผลิตรวมของ ปตท.สผ. คิดเป็น 3% ของรายได้ทั้งหมด และทำกำไรคิดเป็น 6% ของกำไรทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.มีโครงการในเมียนมาทั้งหมด 3 โครงการ ประกอบด้วย Zawtika, Yadana และ Yetagun มีสัดส่วนการลงทุน 80%, 25% และ 19% ตามลำดับ

ตามข้อตกลง จากกรณีที่ผู้ร่วมทุนรายใดถอนตัวจากโครงการ สัดส่วนการถือครองหุ้นจะถูกจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่เหลือเท่าๆ กัน

มาถึงวันนี้ โครงการนี้จึงเหลือเพียงรัฐวิสาหกิจของไทยกับของรัฐบาลเมียนมาเท่านั้น

ยิ่งหากสามารถแสวงหาสันติภาพในพม่าได้เร็วเพียงใด ความยุ่งยากที่กระทบไทยก็จะยิ่งผ่อนเบาได้เร็วขึ้นขนาดนั้น

การเสนอตัวเพื่อเป็น “คนกลาง” เพื่อไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายหาทางเจรจาร่วมกันในพม่าจึงมีความสำคัญเร่งด่วนมากขึ้นทุกที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป