สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

แต่สถานการณ์การสู้รบในรัฐยะไข่ก็ซับซ้อนไม่น้อย  ว่ากันว่ามีเงื่อนปมที่ทับซ้อนไม่แพ้เมืองเมียวดีแห่งรัฐกะเหรี่ยงเลยทีเดียว

นักข่าวอาวุโสที่เกาะติดข่าวเพื่อนบ้านมายาวนาน “แคน สาริกา” เล่าว่ายะไข่ ไม่มีทุนจีนสีเทา แต่มีประเด็น ‘เชื้อชาติ-ศาสนา’ ซ่อนอยู่ใต้ควันปืน

ศัตรู-มิตรไหลลื่นไปตามสถานการณ์ ตรงกับสัจธรรมที่ว่าไม่มีมิตรและศัตรูถาวรจริง ๆ

พล.ต.ตุน มัต นาย ผู้บัญชาการใหญ่ของ AA (คนที่ 2 จากขวา)

อีกทั้งมีประเด็นซ้อนเข้ามาคือ “โรฮิงญา”

เพราะเมื่อเพลี่ยงพล้ำในสนามรบและต้องเสียรี้พลไปเยอะ มิน อ่องหลายก็ตั้ง ‘กองทัพเมียนมาโรฮิงญา’ (MR rohingya)

ซึ่งเป็นกลยุทธ์ใหม่ของกองทัพพม่าที่ใช้ในรัฐยะไข่

กองทัพอาระกัน(AA) เรียกกองกำลังนี้ว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’

เป็นเหตุให้ AA ประกาศเคอร์ฟิวส์เมืองบูตีด่อง-เมืองหม่องดอ เขตอิทธิพลของ AA เพื่อปกป้องกันความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินชาวยะไข่(พุทธ)   โดยอ้างว่ามีกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญา มาปันป่วนวุ่นวาย

ที่ผ่านมา กองทัพของชาวยะไข่(พุทธ) กับกองทัพปลดปล่อยมุสลิมโรฮิงญา(ARSA) ไม่ได้เป็นศัตรูกัน.

แต่วันนี้ มิน อ่องหลายจับมือหลวมๆ กับ ARSA ประจันหน้า AA ทำให้ AA ต้องใช้มาตรการเคอร์ฟิวส์ 2 เมืองในรัฐยะไข่

“แคน สาลิกา” ย้อนความว่าในรัฐยะไข่ มีกองกำลังติดอาวุธของ ‘ชาวโรฮิงญา’ 2 กลุ่มคือ กองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา(ARSA) และกองทัพอาระกันโรฮิงญา (ARA)

ทั้ง 2 องค์กรนี้ ไม่เคยเป็นพันธมิตรกับกองทัพอาระกัน(AA) ของชาวยะไข่(พุทธ)

เพจ ARSA เผยแพร่ภาพทหารเมียนมา มอบข้าวสารให้ชาวโรฮิงญา ในเมืองบูตีด่อง รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของ AA เมื่อ 24 เม.ย.67  หลังเกิดเหตุเผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญาและยะไข่พุทธ

ในอดีต รัฐบาลเต่งเส่ง-กองทัพเมียนมาเคยประกาศขึ้นบัญชี ARSA เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ชั่วโมงนี้ ARSA และ ARA เป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมา เผขิญหน้า AA ในรัฐยะไข่

ตรงกับแนววิเคราะห์ว่าสงครามในเมียนมา มิตรและศัตรู ลื่นไหลไปตามผลประโยชน์ ยิ่งทำให้การแสวงหาทางออกที่ตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้เป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวายอย่างยิ่ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้บัญชาการกองทัพ AA กล่าวหาว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งกำลังหนุนหลังระบอบการปกครองของทหารเมียนมาผ่านการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุน

AA ไม่เพียงแต่จะสู้รบกับรัฐบาลทหารในรัฐยะไข่เท่านั้น แต่ยังประสานกำลังกับพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อปะทะกับทหารพม่าในรัฐฉานทางตอนเหนือ คะฉิ่น และรัฐชินทางตอนใต้ รวมถึงภูมิภาคสะกายและมาเกวตอนบน

เนื่องเพราะได้แสดงฝีมือในการสู้รบในระดับน่าประทับใจ นักรบอาระกันจึงได้ชื่อว่าเป็นทหารที่มีความช่ำชองและพร้อมถวายหัวในการเผชิญหน้ากับกองกำลังที่มีอาวุธมากกว่าตน

พลเรือนราว 180 รายถูกสังหารและกว่า 460 รายได้รับบาดเจ็บทั่วรัฐยะไข่และเมืองปาเลตวาทางตอนใต้ของรัฐชินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจากการโจมตีด้วยกระสุนปืนและการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลทหาร

นี่เป็นข้อมูลจากสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาของ AA เอง

พล.ต. ตุน มัต นาย หัวหน้า AA กล่าวสุนทรพจน์ในวันกองทัพของกลุ่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังเผชิญกับความแตกแยกอย่างหนัก  เพราะมีความร้าวฉานระหว่างผู้นำกองทัพกับแกนนำของรัฐบาล

รัฐบาลทหารมีความได้เปรียบในด้านอาวุธ กองทัพเรือ และทางอากาศ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำธุรกิจกับรัฐบาลทหาร ช่วยให้รัฐบาลทหารดำเนินการรณรงค์ก่อการร้ายต่อพลเรือนและรักษาอำนาจไว้ได้” เขากล่าว

ผู้นำรัฐยะไข่ไม่ได้ระบุชื่อประเทศที่ถูกกล่าวหา แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีผู้คนคาดเดากันไม่ยากนัก

AA อ้างว่ากองกำลังของตนได้ยึดเกือบครึ่งหนึ่งของรัฐยะไข่ นับตั้งแต่เริ่มโจมตีรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนปีที่แล้ว

โดยบอกว่านักรบฝ่ายตนด้วยความร่วมมือกันกลุ่มพันธมิตรได้ยึดฐานทัพทหารได้มากกว่า 170 แห่ง และเมืองปาเลตวาทางตอนใต้ของรัฐชินทั้งหมด   โดยควบคุมเมืองทั้งหมด 6 เมืองและอีก 3 เมืองจาก 17 เมืองของรัฐยะไข่

กลุ่มติดอาวุธได้ล้อมรอบเมืองหลวงของรัฐ ซิตตะเว และเมืองจอก์พยู ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการลงทุนของจีน

AA ได้ทำการโจมตีเมืองแอน ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการตะวันตกของรัฐบาลทหารอีกด้วย หากเมืองนี้ถูกยึด ก็จะทำให้ AA ควบคุมทางใต้ของรัฐยะไข่อย่างเต็มที่

ฝ่ายต่อต้านกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารโจมตีเป้าหมายพลเรือน ซึ่งรวมถึงโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทางศาสนา ภายใต้การควบคุมของ AA

และได้ปิดกั้นการเชื่อมต่อการคมนาคม อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ปฏิบัติการทางทหารต่อกองทัพรัฐบาลทหาร

ยะไข่จึงเป็นสนามรบอีกจุดหนึ่งของพม่าที่จะเป็นดัชนีวัดความสามารถในการทำศึกสงครามของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านที่ต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสูญเสียผู้นำฉับพลัน เป็นช็อกครั้งใหญ่ของอิหร่าน

เป็นข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจไม่น้อยทีเดียวเมื่อประธานาธิบดีอิหร่าน เอบราฮิม ไรซี เสียชีวิตในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสำหรับผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี

สถานการณ์สู้รบพม่าเปลี่ยน ดันให้หลายชาติปรับท่าที

สถานการณ์ในเมียนมามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงน่าสนใจว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะทำอย่างไรกับคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตามและกำกับทิศทางของเรื่องร้อนนี้

สี จิ้นผิงกอดปูติน: ส่งสัญญาณ ‘นี่คือระเบียบโลกใหม่ที่มี 2 ขั้ว’

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “สองสหาย” แห่ง “ระเบียบโลกใหม่” ต้องการจะบอกชาวโลกว่ายุคสมัยแห่งการมีโลกที่สหรัฐฯและตะวันตกเป็นผู้กำหนด ทิศทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นกำลังสิ้นสุดลง

จีนกังวลโครงการท่าเรือในพม่า ขณะที่การสู้รบในยะไข่ยังเดือด

สมรภูมิที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพม่าวันนี้คือรัฐยะไข่ที่กองทัพอาระกันสามารถเอาชนะทหารรัฐบาลพม่าในหลายแนวรบ ขณะที่ยังมีความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นและโยงไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีนด้วย