ใครคุม ครม.เศรษฐกิจ?

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกว่าจะเรียกประชุม “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ” วันจันทร์ที่ 27  พฤษภาคมนี้

เป็นคำประกาศตอนที่อยู่อิตาลีเมื่อต้นสัปดาห์นี้ หลังจากตัวเลขจากสภาพัฒน์ออกมาบอกว่าไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราโตเพียง 1.5% ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน

ไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าการเรียกประชุม “รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นั้นจะช่วยทำให้มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรที่ใหม่ไปกว่าที่เราได้รับทราบอยู่แล้ว

เพราะนักการเมืองมักจะคิดว่าการ “เรียกประชุมด่วนพิเศษ” นั้นคือการได้แก้ปัญหาแล้ว

ทั้งๆ ที่หน่วยงานของรัฐควรจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจตลอดเวลา และต้องมีการปรับแผนตามปัจจัยที่เปลี่ยนไป

โดยที่นายกรัฐมนตรีจะต้องสามารถบอกได้ว่าแผนตั้งรับและแผนรุกทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเช่นไร

ไม่ใช่เป็นลักษณะมีปฏิกิริยาต่อตัวเลขชุดใดชุดหนึ่งแล้วก็ “ขอเรียกประชุม” ทุกครั้งไป

โดยไม่มีวาระที่แน่ชัดว่ารัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและมีแนวทางแก้แต่ละเรื่องอย่างไร

ยังไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลนี้มี “ครม. เศรษฐกิจ” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่

เพราะใน ครม.เศรษฐาที่ 1 นั้น นายกฯ ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังด้วย   จึงถือได้ว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้มีการแต่งตั้งเป็นเรื่องเป็นราว

เพราะรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

มีแนวทางการทำงานเหมือนจะแบ่งกันบริหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน จึงกลายเป็นไม่มีเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ

มาถึง ครม.เศรษฐา 1/1 คุณพิชัย ชุณหวชิร มาเป็นทั้งรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังแล้ว แต่ก็ไม่มีการประกาศตั้ง ครม.เศรษฐกิจอยู่ดี

พอนายกฯ พูดวันก่อนว่าจะมีการประชุม “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ” จึงเกิดคำถามว่า ตกลง ครม.เศรษฐกิจมีเป็นตัวเป็นตนหรือไม่

ความจริง ถ้านายกฯ ศึกษาที่รองนายกฯ พิชัยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ บอกนักข่าวว่าที่เจอกันครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันประเด็นไหน ก็น่าจะเป็นแนวทางสำหรับการวางทิศทางของทิศทางเศรษฐกิจของประเทศได้

คุณพิชัยบอกว่าเคลียร์ใจผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแล้ว ใช้เวลาคุยกันนานเกือบ 2 ชั่วโมง

คุณพิชัยบอกว่าทั้งสองคนเห็นตรงกันหลายเรื่อง ทั้งกรอบเงินเฟ้อ เร่งเสริมสภาพคล่องให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน

ส่วนดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติไปทบทวนย้ำให้อิสระ 

หลังจากนี้จะนัดคุยกันบ่อยขึ้น เพื่อทำงานให้สอบประสานกันมากที่สุด

ประเด็นที่เข้าใจตรงกันก็คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติและคณะกรรมการนโยบายการเงินสามารถใช้วิจารณญาณ เครื่องมือวิเคราะห์และดำเนินการได้

มีการพูดถึงกรอบเงินเฟ้อซึ่งปกติมีการทบทวนทุกปี โดยกรอบ 1-3% ใช้มาแล้ว 3-4 ปี

คุณพิชัยบอกว่าแบงก์ชาติคงไปดำเนินการว่าจะปรับอย่างไร ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง จากนั้นก็มาพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติ

คุณพิชัยกับคุณเศรษฐพุฒิเห็นตรงกันว่าปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยสำคัญน้อยกว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่อง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข

โดยเฉพาะปัญหารายย่อย ภาคครัวเรือน เอสเอ็มอี และกลุ่มที่มีปัญหาจากโควิด

แม้จะได้รับการช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่เรียบร้อย ต้องนำมาทบทวนอีกครั้ง

อีกทั้งยังคุยกันเรื่องการทำงานของสถาบันการเงินของรัฐเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม หากแก้ได้จะทำให้ยอดของหนี้ NPL ลดลงบ้าง และมีโอกาสเข้าถึงเงินทุน

จากนี้ไป นโยบายการเงินการคลังจะทำงานสอดประสานกันให้มากที่สุด

และหลังจากการหารือครั้งนี้แล้ว ก็จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. และแบงก์ชาติ ซึ่งอาจจะต้องมีการทำรายละเอียด และปรับหลักเกณฑ์บางเรื่องเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ผู้ว่าฯ ธปท.ก็ยืนยันว่าการพูดจากับ รมว.คลัง บรรยากาศดี แลกเปลี่ยน “ตรงไปตรงมา”

เห็นตรงกันว่าจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

 “ก็เป็นการคุยกันอย่างตรงไปตรงมา  ท่านก็พูดเหมือนกันว่าไม่ควรเห็นตรงกันทุกเรื่อง เพราะสวมหมวกคนละใบ ผมคิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยบรรยากาศที่ดี” คุณเศรษฐพุฒิ บอก

ผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่าได้เสนอแนวคิด 2 เรื่องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นั่นคือ

การใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อที่มีความยืดหยุ่นกว่าการใช้การค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งต้องรองบประมาณจากภาครัฐ

โดยอาจเป็นรูปแบบบริษัทเพื่อมาทำหน้าที่ค้ำประกัน ซึ่ง รมว.คลังก็เห็นด้วย

นอกนั้นยังเสนอให้ทำ Open Data เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคที่อยู่กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลการชำระค่าน้ำค่าไฟ เพื่อนำมาสู่การช่วยวิเคราะห์สินเชื่อได้

หากสถาบันการเงินหรือผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบมากขึ้น และจะเป็นการแก้ปัญหาส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างรายย่อยและรายใหญ่ได้อย่างยั่งยืน

 “ที่เราดีใจคือท่านเห็นด้วยกับเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญ คือ เรื่องการค้ำประกันสินเชื่อ และ Open Data ซึ่งท่านเองก็คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น โดยเรามองว่ากลไกการค้ำประกันและ Open Data ต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อให้มีข้อมูลในการประเมินความเสี่ยง โดยเราจะเริ่มทำ Open Data จากฝั่งเราให้ได้ก่อน แล้วจึงขยับไปคุยกับกระทรวงการคลัง เพราะมีข้อมูลหลายอย่างที่อยู่กับทางนั้น เช่น ข้อมูลภาษี”

ดร.เศรษฐพุฒิเล่าว่า นอกจากนี้ยังได้หารือถึงเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัญหาในปัจจุบัน คือ

1.เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้า เนื่องจากไทยพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเก่าๆ

2.การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด

 “เรามีความเห็นตรงกันว่าต้องการช่วยกลุ่มเปราะบาง ส่วนมุมมองเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ต่างกัน แต่การแก้ปัญหาทางรัฐบาลจะเน้นการแก้ปัญหาระยะสั้นมากกว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากและใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล”

ดร.เศรษฐพุฒิย้ำว่าปัญหาเชิงโครงสร้างถ้าไม่เริ่มตอนนี้แล้วจะเห็นเมื่อไร

ดังนั้นการแก้ปัญหาของเศรษฐกิจก็ต้องสร้างสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ถ้านายกฯ จะลงมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างจริงจัง เริ่มด้วยประเด็นหลัก ๆ ที่ทั้งสองท่านแลกเปลี่ยนเอาไว้ก็จะไม่หลงทิศผิดทางแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อ ‘หว่อง’ กับ ‘อันวาร์’ ประสานมือเคลียร์ใจ

ผู้นำสิงคโปร์คนใหม่ลอเรนซ์หว่องกับนายกฯอันวาร์อิบราฮิมของมาเลเซียพบกันอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา...และตอกย้ำว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”

แค่หลุดปากเรื่องไต้หวัน มหาเศรษฐี แห่ง Nvidia ก็เดือดร้อนหนัก!

นักธุรกิจดังระดับโลกที่เกิดในไต้หวันแต่ไปสร้างความโด่งดังที่อเมริกา ก็ยังไม่วายถูกปักกิ่งเตือนดังๆ ให้ “ระวังปาก” เวลาพูดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตน