ผลงานประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี

รัฐบาลอิหร่านดำเนินนโยบายต่อต้านไซออนิสต์ ชาติตะวันตกเรื่อยมา อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านได้ทำหน้าที่จนถึงนาทีสุดท้าย

อิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่านมีผลงานมากมาย ในที่นี้นำเสนอ 2 เรื่อง เป็นตัวอย่างผลงานที่นานาชาติรับรู้

การปรับสัมพันธ์อิหร่าน-ซาอุฯ:

ความบาดหมางระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับชาติอาหรับและเครือข่ายย้อนหลังยาวไกล เกี่ยวข้องกับนิกายศาสนา อำนาจปกครอง และร้อนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมหาอำนาจเข้ามาในตะวันออกกลาง ขั้วซาอุฯ ที่เป็นมิตรกับสหรัฐดำเนินนโยบายหลายข้อตามตะวันตก หนึ่งในนั้นคือต่อต้านระบอบอิหร่าน ในระยะหลังรัฐบาลอิหร่านพยายามปรับความสัมพันธ์กับชาติอาหรับโดยเฉพาะซาอุฯ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลซาอุฯ ไม่ยอมรับ ชี้ว่าอิหร่านพยายามแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายสันติภาพตะวันออกกลาง

ภาพ: ชาวอิหร่านร่วมไว้อาลัยประธานาธิบดี

เครดิตภาพ: https://www.tehrantimes.com/news/498862/Tehran-prepares-for-President-Raisi-s-funeral-prayer-led-by-Leader

เรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นเมื่อเมษายน 2023 รัฐบาลอิหร่านกับซาอุฯ ร่วมแถลงจะเปิดสถานทูตระหว่างกัน จะมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับเศรษฐกิจอีกครั้ง เรื่องนี้ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คนกลาง

เป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญสวนหลักคิดเดิมที่ยึดมาหลายทศวรรษ

อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวในโอกาสดังกล่าวว่า อิหร่าน “ไม่เคย” คิดว่าซาอุฯ เป็นศัตรู ไซออนิสต์ต่างหากที่เป็นศัตรู

ในมุมอาหรับ การที่อิหร่านกับซาอุฯ คืนดีกันตั้งอยู่บนหลักคิดว่าตะวันออกกลางที่สงบสุขให้ประโยชน์แก่อาหรับมากกว่า นโยบายตอนนี้คือขยับเข้าหารัสเซีย จีน อิหร่านมากขึ้น ถ่วงดุลอิทธิพลสหรัฐ ร่วมต่อต้านอิสราเอล โดยเฉพาะประเด็นปาเลสไตน์ เป็นความจริงที่บางประเทศสร้างและรักษาความยิ่งใหญ่ด้วยสงคราม ขยายอิทธิพลกว้างขวาง สามารถวางกฎระเบียบที่ตนได้ประโยชน์ให้ประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตาม คำถามสำคัญคือ รัฐบาลซาอุฯ ได้ประโยชน์จากแบบใดมากกว่า ระหว่างส่งเสริมให้เกิดสงคราม สร้างความวุ่นวายในประเทศต่างๆ

กับอีกแนวทางคือภูมิภาคที่สงบเรียบร้อย คืนดีอิหร่าน ดึงซีเรียกลับมาเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ เปิดทางให้มหาอำนาจจีน รัสเซีย มีบทบาทในภูมิภาค เหล่านี้เป็นหลักฐานชี้ว่าซาอุฯ เลือกสันติภาพ

ทุกคนรู้ว่ายิ่งรบยิ่งพัง ส่วนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ความร่วมมือกับการพัฒนาจะเกิดขึ้นเอง เป็นข้อที่ผู้ปกครองต้องตัดสินใจว่าต้องการสิ่งใด ไม่ถูกต่างชาติเสี้ยมให้รบกันด้วยหลักคิดที่อาจฟังดูดีแต่ทำไม่ได้จริง เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

เมื่อรัฐบาลไรซียื่นมือออกไปและซาอุฯ ตอบรับ ผลคือประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องผวาภัยสงคราม ระดมทรัพยากรพัฒนาประเทศ ตั้งหน้าสร้างอนาคต สังคมเดินหน้าเต็มกำลัง

ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี

ปลดปล่อยปาเลสไตน์เชิดชูอิหร่าน:

สงครามฮามาส-อิสราเอลเป็นเรื่องที่โดดเด่น เป็นความจริงที่พวกรัฐอาหรับแสดงบทบาทแข็งขันไม่น้อย สันนิบาตอาหรับ (Arab League) กับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) มีมติคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธกับกระสุนแก่อิสราเอล หลายครั้งพิสูจน์แล้วว่าแรงกดดันจากอาหรับได้ผลไม่น้อย

แต่ในบรรดาประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอิหร่านโดดเด่นเหนือใคร ไม่เพียงแต่พวกฮามาสในกาซา กองกำลังอื่นๆ ที่อิหร่านหนุน อันได้แก่ ฮิซบอลเลาะห์ ฮูตี กองกำลังในอิรักกับซีเรียเปิดฉากรบกับอิสราเอล บางส่วนปะทะกับกองกำลังสหรัฐกับพวกในตะวันออกกลาง ในทะเลแดง เหล่านี้ชี้ว่าฝ่ายอิหร่านสู้กับไซออนิสต์จริง เรื่องนี้สัมพันธ์กับศาสนาด้วย

ตั้งแต่ต้นฝ่ายอิหร่านย้ำหลายรอบว่ารัฐบาลอิหร่านไม่ได้สั่งการ ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นฝีมือฮามาส 100% ทั้งนักรบกับการวางแผน เช่นเดียวกับกองกำลังอื่นๆ อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวว่า กองกำลังที่โจมตีฐานที่มั่นสหรัฐในตะวันออกกลาง ตัดสินใจและลงมือด้วยตัวเอง แต่ยอมรับว่าอิหร่านถือเป็นหน้าที่ต้องสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ 

การรบของกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลัง (รวมทั้งฮามาส) จึงเชิดชูบทบาทอิหร่านตั้งแต่เริ่มสงครามฮามาส-อิสราเอล

ลงโทษอิสราเอล:

สงครามฮามาส-อิสราเอลอาจตีความว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลและสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่าสงครามจะบานปลายกลายเป็นการรบโดยตรงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล

ในที่สุดอิหร่านกับอิสราเอลได้ปะทะกันโดยตรง ทางการอิหร่านกล่าวสรุปปฏิบัติการโจมตีเพียงรอบเดียวว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว พร้อมกับเตือนอิสราเอลอย่าโต้กลับ อิหร่านไม่ต้องการทำสงคราม เป็นการตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ ตอบโต้อย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องอธิปไตย (ไม่ได้ประเมินจากความสูญเสียที่อิสราเอลต้องชดใช้) ประธานาธิบดีไรซีสดุดีความสำเร็จ กล่าวว่าปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล “ให้ไซออนิสต์ได้บทเรียน”

การปะทะโดยตรงแม้ถูกตีความว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่นับว่าอิหร่านกล้าลงมือโจมตีอิสราเอลถึงบ้าน ขีปนาวุธ โดรนอิหร่านบินตรงถึงอิสราเอลแล้ว

อิหร่านหลังไรซีเหมือนหรือแตกต่าง:

ถ้าถามว่าการจากไปของประธานาธิบดีไรซีส่งผลต่อประเทศหรือไม่ คำตอบคือคงไม่มาก เพราะเป็นระบอบ Islamic theocracy ศาสนาเป็นรากฐานการปกครอง พระเจ้ามีสิทธิอำนาจสูงสุด (ไม่ใช่กษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือประชาชน)

ในขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งรัฐสภาหรือ Majles (National Assembly) เฟ้นหาตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วนเป็นตัวแทนคนทั้งชาติ มีพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่มีแนวทางบางอย่างแตกต่างกัน เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจนโยบายรัฐบาล ตรวจตรากิจการของรัฐ รวมถึงศาล รับรองการแต่งตั้งรัฐมนตรีจากประธานาธิบดี มีอำนาจถอดถอนรัฐมนตรี โดยต้องสอดคล้องกับหลักศาสนา-ศาสนาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง การปกครองแบบหนึ่งนั่นเอง

Majles มาจากการเลือกตั้งทุก 4 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 290 คน อีกบทบาทสำคัญคือเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้พิทักษ์จำนวน 6 คน (จากทั้งหมด 12 คน)

สภาผู้พิทักษ์ (Council of Guardians/Guardian Council) ประกอบด้วย คณะนักกฎหมาย (jurists) จำนวน 12 คน ทั้งหมดต้องมีความเชี่ยวชาญการพิพากษาด้วยศาสนา (กฎหมายตั้งบนหลักศาสนา การเข้าใจกฎหมายต้องมีความรู้หลักศาสนาอย่างดี) 6 คนมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากผู้นำสูงสุดอีก 6 คนมาจากการเลือกผ่านรัฐสภา

สภาผู้พิทักษ์มีหน้าที่วินิจฉัยรัฐธรรมนูญและรับรองกฎหมายที่ผ่านจาก Majles ว่าถูกต้องตามหลักอิสลาม และมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เช่น การเลือกตั้งปี 2005 มีผู้สมัครกว่า 2 พันราย แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 8 ราย

จะเห็นว่าสมาชิกสภาผู้พิทักษ์ครึ่งหนึ่งมาจากผู้นำสูงสุดอิหร่าน กับอีกครึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาผ่านรัฐสภา

โดยรวมแล้วประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนรัฐสภา ได้รัฐบาลบริหารประเทศ ได้เลือกครึ่งหนึ่งของตัวแทนสภาผู้พิทักษ์ แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนหลักศาสนาอิสลาม

เมื่อศาสนามั่นคง (เปลี่ยนแปลงไม่ได้) รัฐบาลทุกชุดบริหารประเทศขัดศาสนาไม่ได้ การบริหารจึงไปทิศทางเดียวกัน เช่น นโยบายปลดปล่อยปาเลสไตน์ ต่อต้านไซออนิสต์ ไม่ยอมให้ตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม การบริหารประเทศของรัฐบาลแต่ละชุด จึงแตกต่างในเชิงการให้น้ำหนักหรือวิธีการบางอย่างตามบริบท

ยกตัวอย่าง สมัยประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ในตอนนั้นกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรอยู่ในตะวันออกกลางจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอยู่ในอัฟกานิสถาน ประธานาธิบดีอะห์มาดิเนจาดดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ปี 2005 ประกาศว่าอิหร่านจะเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ และอาจถอนตัวออกจาก NTP ซึ่งเท่ากับว่า IAEA ไม่อาจตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์อิหร่านได้อีกต่อไป และอาจตีความตั้งใจว่าจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ในสมัยอะห์มาดิเนจาดโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสำคัญต่อเนื่อง

ดังนั้น การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีหรือรัฐบาลจึงเปลี่ยนแปลงในวิธีการบางอย่างตามบริบท ส่วนเป้าหมายหลักคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงและไม่อาจเปลี่ยนแปลง อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านได้ทำหน้าที่จนถึงนาทีสุดท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว (1)

สัจนิยมมีข้อดีหลายอย่างแต่เปิดช่องให้รัฐบาลบางประเทศตีความว่าสามารถรุกรานประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติของโลก บางประเทศพยายามทำให้ดูดีอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเอง

ไล่ ชิงเต๋อจะพาไต้หวันรบจีนไหม (2)

การประกาศเอกราชอาจอยู่ในแผนที่ต้องดำเนินตามขั้นตอน ดังผู้เชี่ยวชาญตะวันตกบางคนวิเคราะห์ว่ากองทัพจีนจะบุกไต้หวันในสมัยรัฐบาลไล่ชุดนี้

ไล่ ชิงเต๋อ จะพาไต้หวันรบจีนไหม (1)

ผู้นำไต้หวันหวังว่าจีนจะยอมรับการมีอยู่ของประเทศไต้หวัน เคารพการตัดสินใจของคนไต้หวัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เรื่องนี้จะสู่สงครามแทนสันติหรือไม่

มติยูเอ็นสนับสนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์

สงครามฮามาส-อิสราเอลในฉนวนกาซางวดเข้ามาทุกที อิสราเอลเข้ากวาดล้างเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ผลโพลไม่นานนี้ชี้ว่าคนอิสราเอล 71% ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู

ปลดปล่อยปาเลสไตน์เชิดชูอิหร่าน

การปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับศาสนา เชิดชูอิหร่าน เป็นเหตุผลว่าทำไมอิหร่านจึงแสดงบทบาทเข้มแข็งโดดเด่นไม่หยุด