Trump.2 อาจจบลงด้วย Make China Great Again!

ถ้าบอกว่าแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ หากกลับมานั่งทำเนียบขาวด้านความมั่นคงน่ากลัวแล้ว แนวรบด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ต่อโลกน่าหวั่นเกรงกว่าเยอะเลย

นโยบายของทรัมป์เรื่องการค้าการขายอย่างที่เขาเคยทำมาในสมัยแรก และวาทะในช่วงหาเสียงที่เน้นเรื่องชาตินิยมและปกป้องผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ยิ่งสร้างความน่ากังวลให้กับเอเชียมากขึ้นหลายเท่า

เป็นที่รู้กันว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในเอเชียเกือบทั้งหมดมีส่วนได้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุนจากจีนเพิ่มมากขึ้น

จนถึงระดับที่ห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าในภูมิภาคตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางของประเทศจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากทรัมป์กลับมาอาจจะเพิ่มภาษีของสินค้าจีนที่เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีก

ในขณะที่ ฝ่ายบริหารของไบเดนเพิ่งกำหนดอัตราภาษีใหม่ชุดหนึ่งสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าที่ผลิตในจีนและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง

หน่วยงานคลังสมอง ที่หรือ Think Tank ที่นำเสนอแนวคิดเหล่านี้ให้ทรัมป์ก็ย้ำเรื่อง Make America Great Again อย่างต่อเนื่อง ทรัมป์เองก็ตอกย้ำว่าเขาจะเดินหน้าเพิ่มภาษีสินค้าจีนต่อไปแน่นอน

เพราะทรัมป์อ้างว่าจีนมี "กลยุทธ์ในการครอบงำโลก" ดังนั้นสหรัฐฯ จึงมีอาวุธที่ได้ผลชัดเจนคือต้องตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนที่กำลัง “ท่วมตลาดโลก”

จึงเชื่อว่าได้รัฐบาล Trump.2 จะขึ้นภาษีและดำเนินนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวและแยกห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain ของอเมริกาออกจากจีนเพิ่มเติมอีก

นั่นจะสร้างความปั่นป่วนให้กับการค้าโลกทันที...และนั่นก็จะกระทบประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

หากมองว่าการเผชิญหน้าของสหรัฐฯ กับจีนเป็น Zero-sum Game (ใครได้อีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียหมด) ก็จะเพิ่มความน่ากลัวตรงที่ว่าทรัมป์จะต้อง “บดขยี้จีน” อย่างรุนแรงจนปักกิ่งต้องยอมตามเงื่อนไขของวอชิงตัน ซึ่งจีนไม่มีวันยอมศิโรราบโดยง่ายแน่นอน

แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส

ขณะที่วอชิงตันเปิดศึกการค้ากับปักกิ่ง การนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในย่านนี้ก็เพิ่มขึ้นทั้งไปสู้สหรัฐฯ และจีน การส่งออกของจีนไปยังและการนำเข้าจากส่วนที่เหลือของเอเชียก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการส่งออกจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งมักพึ่งพาการนำเข้าของจีนในการส่งออกจำนวนมากไปยังสหรัฐอเมริกา ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จากประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามหรืออินโดนีเซีย รวมถึงไทยก็เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจาก "สงครามการค้า" ครั้งแรกของทรัมป์กับจีน ซึ่งนำไปสู่ความไม่สมดุลทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกเช่นกัน

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของทรัมป์คือการลดการเสียดุลการค้ากับจีนและสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ทรัมป์น่าจะทำให้ประเทศในเอเชียที่มีการเกินดุลการค้า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเพิ่มขึ้นด้วย

หากตัวเลขการค้าของไทยมีปัญหากับสหรัฐฯ ก็คาดได้ว่าจะเจอกับแรงกดดันด้วยเช่นกัน สถาบันวิจัยที่ทำงานให้ทรัมป์ยังได้เสนอให้มีการเปิดตัวโครงการ “สหรัฐอเมริกา พ.ร.บ.การค้าต่างตอบแทน”

ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ในอนาคตสามารถกำหนดอัตราภาษีกับประเทศที่ปฏิเสธที่จะลดภาษีได้ แนวทางนี้จะส่งผลเสียต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์อัตราภาษีที่สูงของอินเดีย โดยเรียกอินเดียว่าเป็น “ราชาแห่งภาษี” และมีข้อเสนอแนะด้วยว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ควรทบทวนสถานะความสัมพันธ์ทางการค้าปกติถาวรของจีน (PNTR) ซึ่งให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่จีน เช่น ลดภาษีศุลกากรหรือยกเลิกโควตานำเข้า

กรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเปิดตัวโดยฝ่ายบริหารของ Biden ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นความคิดริเริ่มเชิงบวกจากกลุ่ม Think Tank

แต่ก็มีการเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยน IPEF เพื่อเน้นประเด็นทางการค้ามากขึ้น และลดการเน้นหัวข้อที่ไม่ใช่การค้า เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลง แต่ทรัมป์เองก็ขู่ว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจาก IPEF

ซึ่งก็จะซ้ำรอยที่ทรัมป์เคยสินใจถอนอเมริกาออกจากความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในช่วงวาระแรกที่เขาดำรงตำแหน่งครั้งก่อน

IPEF ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐในเอเชียมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการครอบงำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีน การล่มสลายของ IPEF ที่เสนออาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระเบียบเศรษฐกิจของภูมิภาค

IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน

พันธมิตรในสหรัฐฯ มีความคาดหวังสูงสำหรับกรอบการทำงานที่จะมอบผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เช่น ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ความพยายามในการลดคาร์บอนในการทำงานร่วมกัน และแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

แต่หากทรัมป์ถอนตัวออกจาก IPEF ด้วย จะไม่เพียงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเพิ่มการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีนโดยประเทศในเอเชียอีกด้วย

กลุ่มนักคิดที่ใกล้ชิดทรัมป์ยังเสนอให้มีการแยกตัวทางเศรษฐกิจออกจากจีนเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่ม "การสนับสนุนเพื่อน" ในการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ เท่ากับการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค

เพราะสินค้าจะถูกส่งไปยังหรือประกอบในประเทศอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังสหรัฐอเมริกา

เวียดนามซึ่งมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอิเล็กทรอนิกส์ แต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เพราะนั่นคือที่มาของเงินทุน ห่วงโซ่อุปทาน และเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่จำนวนมาก

นอกจากนี้ ทีมงานนี้ยังเสนอแนะให้ใช้ความช่วยเหลือของ USAID อย่างมีกลยุทธ์เพื่อตอบโต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) โดยให้ความช่วยเหลือเฉพาะกับประเทศที่ “ภักดีต่อทรัมป์หรือรัฐบาลสหรัฐฯ” เท่านั้น

แนวทางการทำธุรกรรมเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศนี้อาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตึงเครียด และบ่อนทำลายตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ในวงกว้างของสหรัฐฯ หากทรัมป์กดดันประเทศในเอเชียให้ปรับแนวทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับจีนอาจผลักดันให้พวกเขาใกล้ชิดกับปักกิ่งมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนอิทธิพลของจีนต่อไป

ความน่ากลัวของ Trump.2 คือการที่เขาไม่สนใจว่าประเทศอื่นๆ จะคิดกับอเมริกาอย่างไรหากเขาปรับเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่โหมดของการที่จะเอาประโยชน์ใส่อเมริกาเท่านั้น ผลที่ตามมาอาจจะยิ่งกดกันให้ประเทศต่างๆ ขยับเข้าใกล้จีนมากขึ้นไปอีก

ที่ทรัมป์คิดว่าจะ Make America Great Again อาจจะกลายเป็นว่าทรัมป์ Make China Great Again จริง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว