ความน่ากลัวกำลังจะเกิด

อันเดียวไม่เคยพอ...

เมื่อราวๆ ๓๐ ปีก่อน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเวทีโต้วาที สมัยนั้นที่ดังเป็นพลุแตก ก็มี ฝ่ายชาย "อภิชาติ ดำดี" ถือว่าเด็ด

ส่วนฝ่ายหญิง "นันทนา นันทวโรภาส" จัดว่าเยี่ยมยุทธ์เช่นกัน

เรื่องมันมีอยู่ว่า ถึงคิว "นันทนา" ขึ้นโต้วาที ก็เดินเตาะแตะไปยังโพเดียม ตาเหลือบไปเห็นไมค์ ๒ ตัว ไม่ทราบอะไรดลใจให้เธอพูดก่อนแนะนำตัวเองว่า

อันเดียวไม่เคยพอ!

ครับ...เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย ของ "นันทนา" สว.พันธุ์ใหม่ ที่พลาดเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ไปอย่างหลุดลุ่ย

สมราคาพันธุ์ใหม่จริงๆ ครับ เพราะหลังจากแพ้โหวต  เรื่องไปถึงหูโซเชียลทันที

เพจเฟซบุ๊ก "ดร.นันทนา นันทวโรภาส" โพสต์เอาไว้แบบนี้ครับ...

"ผลการลงมติเลือกประธานวุฒิสภา เกิด Deja vu เช่นเดียวกับการเลือก สว.รอบสุดท้าย คะแนนมาเป็นกลุ่มเป็นก้อน

เกินต้านทาน อันดับหนึ่งได้ถึง ๑๕๙ คะแนน !!

ปฏิบัติการ 'สว.เล็กเปลี่ยนสภา' ไม่สำเร็จ นันทนา ได้เพียง ๑๙ คะแนน แต่ลองศึกษาวิสัยทัศน์ ฉบับเต็ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดู (ในคอมเม้นท์) แล้วลองถามใจดูว่า ถ้าท่านเป็น สว. ท่านจะเลือกใครเป็นประธาน ?"

เอานิสัยใครมาใช้

เรื่องเจตนาให้มีคะแนนเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็เห็นล็อบบี้กันทั้งนั้น

หรือ "นันทนา" ปฏิเสธว่าไม่ได้ล็อบบี้ใครเลย

ยืนยันได้หรือเปล่าว่า ไม่ได้บล็อกใครเลย โดยเฉพาะกลุ่มสื่อ ที่สื่อแท้แพ้สื่อเทียมเพราะโดนบล็อก

แพ้คือแพ้ครับ

ประชาธิปไตยยึดตามเสียงเสียงข้างมากไม่ใช่หรือ

แต่แพ้แล้วกวนน้ำให้ขุ่น ท้าตีท้าต่อย มันไม่ใช่วิสัยผู้ทรงเกียรติ

เวทีนี้่ไม่ใช่เวทีโต้วาทีครับ แต่เป็นที่ประชุมวุฒิสภา

ฉะนั้นความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าบอกว่าการเลือกประธานวุฒิสภาคือ เดจาวู

มันก็ เดจาวู หมดแหละครับ เพราะ สว.สีส้ม แต่แสลงคำว่าส้ม หันไปใช้ชื่อ สว.พันธุ์ใหม่แทน ก็พยายามบล็อกโหวตก่อนเลือก สว.ด้วยซ้ำ

"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เดินสาย อ้างว่าประชาสัมพันธ์การเลือก สว. แต่เจตนาคือปลุกให้ ฝ่ายนิยมส้ม สมัคร สว.กันเยอะๆ เพื่อบล็อกโหวตอย่างมีประสิทธิภาพทุกระดับ ตั้งแต่ อำเภอ จังหวัด ยันประเทศ

แต่เหลว เพราะประเมินเกมผิด!

"ธนาธร" ก็รู้ว่าที่ทำไปทั้งหมดเหลว ถึงได้พยายาม ส่งสัญญาณไปถึงผู้สมัคร สว.สีส้มทุกคน ก่อนการเลือก สว.ทั่วประเทศ

"...กฎกติกาออกแบบมาให้เราแตกแยกกันเอง ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ไม่ไว้วางใจกัน ใครทรยศเพื่อนได้เข้ารอบ ได้เป็น สว. ในเวลาเช่นนี้เอง เป็นเวลาพิสูจน์ความเข้มแข็งของขบวนการประชาธิปไตย ว่าเราสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัว เสียสละเพื่อผลักดันวาระประชาธิปไตยได้หรือไม่

มันเป็นการพิสูจน์ตัวตนของผู้สมัครทุกคน ว่าแต่ละท่านเป็นคนอย่างไร? ว่าเราพร้อมจะหักหาญเพื่อนร่วมทางเพื่อความก้าวหน้าของตัวเองหรือไม่?

ผมอยากเตือนสติผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยทุกคน ให้ระลึกถึงวันแรกที่ท่านตัดสินใจลงสมัคร สว. ...."

ก็ไม่ทราบว่าวันแรกที่สมัคร สว.ไปคุยอะไรกัน

แต่มีการคุย

มันคือ เดจาวู หรือเปล่า เพราะส่องคะแนนเลือกประธาน สว.แล้ว ดูเหมือนว่า สว.พันธุ์ใหม่ ไม่มาตามนัดอยู่หลายคน

เดิมทีเห็นว่ากลุ่มนี้มี ๓๐ คน

แต่ทำไมลงคะแนนให้ "นันทนา" แค่ ๑๙ เสียง

หายไปไหนตั้ง ๑๑ คน

บล็อกโหวตใช่หรือไม่มาดูกัน

เป็นคณิตศาสตร์การเมืองครับ

ในการโหวตตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑ "รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์" ได้ ๑๕ คะแนน

และการโหวตรองประธานวุฒิสภาคนที่ ๒ "อังคณา นีละไพจิตร" ได้ ๑๘ คะแนน

นี่คือกลุ่มก้อนการบล็อกโหวตของ สว.พันธุ์ใหม่

คะแนนเกาะกลุ่ม ๑๙-๑๘-๑๕

ฉะนั้นนี่คือคะแนนที่แท้จริงของกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่

ไปดูอีก ๒ กลุ่มที่เหลือคือกลุ่มสีน้ำเงิน กับ กลุ่มอิสระ ที่ไม่ใช่เสื้อสีส้ม

ก็ชัดเจนครับว่า กลายพันธุ์กันไปเรียบร้อย กลุ่มสีน้ำเงินจับมือกับกลุ่มอิสระ คว่ำ สว.พันธุ์ใหม่ไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

"มงคล สุระสัจจะ" นั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ได้ ๑๕๙  คะแนน

"บิ๊กเกรียง" พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑ ได้ ๑๕๐ คะแนน

และ "บุญส่ง น้อยโสภณ"  รองประธานวุฒิสภา คนที่ ๒ ได้ ๑๖๗ คะแนน

"มงคล" กับ "บิ๊กเกรียง" สว.สีน้ำเงินส่งเข้าประกวด นอนมาตั้งแต่เข้ารายงานตัว ทั้งคู่มี ๑๔๐ เสียงตุนอยู่ในมือ  ฉะนั้นถือว่ากำไร

แต่ "บุญส่ง" ที่ได้คะแนนมากสุด ไม่มีอะไรต้องประหลาดใจ เพราะมันคือดีลระหว่าง สว.สีน้ำเงินกับ สว.อิสระ ตั้งแต่แรก

ดีลที่ว่าคือ สว.สีน้ำเงินไม่ส่ง รองประธานวุฒิสภา คนที่ ๒ แต่ให้กลุ่มอิสระส่งแทน โดยมีข้อตกลง ต้องโหวตไปในทิศทางเดียวกันทั้ง ๓ ตำแหน่ง

คะแนนโหวตของ ๒ กลุ่มนี้จึงเป็นการแลกกัน และขวาง สว.พันธุ์ใหม่ไปในตัว

ขั้นตอนหลังจากนี้เลขาธิการวุฒิสภาจะมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา

จากนั้นได้เวลาทำงาน

ไม่ว่า สว.สีไหนคราวนี้เจอของจริง

ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี หากตั้งหน้าตั้งตาโหวตตามโพย มันคือหายนะของประเทศไทย

เฉพาะอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่องค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญถือเป็นงานใหญ่ ต้องใช้สติและความรู้เป็นอย่างมาก

ใครบ้างที่ สว.ต้องให้ความเห็นชอบ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เจ็ดคน

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)

ตำแหน่งเหล่านี้หากใช้ในทางที่ผิด จะให้คุณให้โทษทางการเมืองอย่างมหาศาล

ลองคิดดูครับว่าหากมาตามใบสั่ง อะไรจะเกิดขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ