Imane Khelif นักกีฬาหญิงใจสู้

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมบอกว่า ผมจะเขียนเรื่องราวของ Google ทั้งที่มาที่ไปของคดี และผลการตัดสินเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะผมยังอยู่ในกระแสโอลิมปิก อาทิตย์นี้ผมขอเลือกอีกครั้งหนึ่ง เพราะผมยังอยู่ในกระแสโอลิมปิกครับ และสัปดาห์นี้คงไม่สายเกินไปที่ยังจะพูดถึงเรื่องโอลิมปิก เพราะรู้ว่าถ้าเลยสัปดาห์หน้า เรื่องราวโอลิมปิกคงเป็นเพียงความทรงจำไป

ก่อนอื่นผมขอชื่นชมนักกีฬาโอลิมปิกไทยทุกๆ ท่าน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ได้เหรียญเท่านั้น แต่นักกีฬาทุกๆ ท่านครับ ท่านทำดีที่สุดแล้ว ท่านสู้เต็มที่แล้ว ท่านทำทุกอย่างแล้ว ผมคนหนึ่งขอคารวะใจนักกีฬาของทุกท่าน เพราะกว่าจะถึงจุดนี้ได้ กว่าจะเรียกว่านักกีฬาทีมชาติโอลิมปิก มันต้องผ่านกระบวนการเยอะแค่ไหน? ต้องต่อสู้ขนาดไหน และต้องผ่านกี่รอบ? บอกเลยครับ ทุกท่านไม่ใช่ธรรมดา

ไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาเท่านั้น ทีมฝึกซ้อม ตั้งแต่โค้ช ผู้ช่วย ทีมแพทย์ จนถึงทีมสนับสนุน ทุกท่านมีบทบาทสำคัญในการผลักดันครับ สุดท้ายขอถือโอกาสตรงนี้ แสดงความชื่นชมและดีใจต่อผู้ปกครองและครอบครัวนักกีฬาทุกๆ ท่านครับ ผมปลาบปลื้มและดีใจแทนความภาคภูมิใจของท่านครับ ไม่แน่สักวันหนึ่ง ผมอาจสัมผัสความรู้สึกของท่าน ถ้าลูกผมคิดจะไปทางนี้ครับ (คงได้แต่คิด)

ผมบอกเลยว่า ผมดูโอลิมปิกทีไร มีอย่างหนึ่งทำให้ผมต้องน้ำตาไหลทุกที คือเมื่อนักกีฬาน้ำตาไหลตอนได้ยินเพลงชาติ ตอนรับเหรียญ มันเป็นช่วงที่สุดยอด เป็นช่วงที่ขนลุก ยิ่งถ้าเป็นนักกีฬาที่รับเหรียญทองครั้งแรก ผมเนี่ยน้ำตาไหลทุกที อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมน้ำตาไหลทุกครั้งคือ เมื่อมีผู้ไม่ชนะ ผู้ไปรอบต่อไปไม่ได้ แต่เขาสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย ประเภทแขนขาพลิกหรือหัก แทนที่จะเลิกแข่ง เขาเลือกไปต่อเพื่อข้ามเส้นชัยให้ได้ ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน ไม่ว่าจะขาลาก เขาเลือกไปต่อเพื่อข้ามเส้นชัย ยิ่งถ้ามีภาพพ่อหรือแม่นักกีฬาคนนั้นๆ เชียร์ ลุ้นลูกด้วยน้ำตานั้น ตัวผมไม่เหลือครับ

ตรงนี้แหละคือความงดงามของโอลิมปิก

นักกีฬาที่ทุ่มเททั้งกายทั้งใจให้กับกีฬาที่พวกเราแทบไม่สน เพราะอะไรครับ? เพราะเงินทอง? เพราะเงินสนับสนุน? เพราะหน่วยงานรัฐสั่ง? เพราะรัฐจัดให้? ถ้าเป็นประเทศอื่นอาจใช่ แต่ผมดูแล้วว่า เพราะใจรักถึงทุ่มขนาดนี้ และสำหรับนักกีฬาที่ได้เหรียญ ผมถือว่าเป็นผลประสบความสำเร็จที่สุดยอด คุ้มค่ากับเหงื่อและความบาดเจ็บที่สะสมมา แต่ก็อีกครับ จากทุกหนึ่งท่านที่ได้เหรียญ จะต้องมีเกือบร้อยที่ไม่ได้

เลยอยากให้พวกเรายกย่องคนที่ได้เหรียญ เพราะสมควรต้องยกย่องเขา แต่อย่าลืมคนที่ไม่ถึงดวงดาว อย่าเขี่ยเขาและทำเป็นไม่ให้ความสำคัญเขา

พอพูดถึงโอลิมปิกที่เพิ่งผ่าน สำหรับผม ผมจะนึกถึงภาพอยู่สองอย่าง สิ่งแรกคือ นักกีฬายิงปืนจากตุรกีที่ดูเท่มาก ไม่มีอุปกรณ์อะไรใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ตัวกับปืน และสามารถได้เหรียญเงิน ผมถือว่าคนคนนั้นโคตรป๋าจริงๆ ส่วนอีกคนเป็นนักมวยหญิงจากแอลจีเรียชื่อ Imane Khelif

ยอมรับว่าครั้งแรกที่ Khelif ปรากฏเป็นข่าว ตอนชกรอบแรกๆ ที่ทำให้คู่ต่อสู้จากอิตาลีชื่อ Angela Carini ถอนตัวจากการชกหลังถูก Khelif ชกไปหลายหมัดนั้น ผมเข้าใจว่า Khelif เป็น Transgender คือเกิดมาเป็นผู้ชาย แต่อยากให้ทั้งโลกยอมรับเขาเป็นผู้หญิง เพราะเขาเห็นว่าตัวเขาเป็นผู้หญิง ผมยอมรับว่าผมไม่พอใจ รู้สึกว่าไม่แฟร์ เพราะคุณจะเข้าใจตัวเองอย่างไรเป็นสิทธิ์ของคุณ เป็นยุคสมัยใหม่ที่เราอยู่กัน ที่พวกเราต้องยอมรับโลกใหม่ของเรา แต่นี่เป็นการแข่งขันโอลิมปิก และคุณ…ไม่ว่าคุณอยากให้โลกเห็นเป็นอย่างไรก็ตาม…คือผู้ชายแข่งกับผู้หญิง ยังไงๆ คุณก็ได้เปรียบ คุณน่าจะแข่งกับผู้ชายไปเลยจะดูงามกว่า

อย่าว่าแต่ผมเลย ช่วงแรกๆ ข่าวมันออกไปอย่างนั้น และผมเชื่อว่าคนทั่วโลกที่ตามข่าวเรื่องนี้คิดเหมือนผม แต่พออ่านรายละเอียด พอพักอารมณ์ และใช้เหตุผลในการพิจารณา ความเข้าใจแรกมันผิดกว่าที่คิดครับ จากเบื้องต้นที่ประณามและรำคาญกับ Khelif ผมกลับเห็นใจ สนับสนุนและเชียร์เขาครับ

ผมไม่อยากจะเข้าไปในรายละเอียดเรื่องดีเอ็นเอ ว่าใครมี XY Chromosome มากน้อยเพียงใด ผมยอมรับว่าผมเข้าใจในหลักการ แต่ไม่เข้าใจพอที่จะอธิบายต่อ แต่สิ่งที่พวกเราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งคือ Khelif เกิดมาเป็นผู้หญิง มีอวัยวะเพศหญิง เติบโตเป็นผู้หญิง และในเอกสารทางการระบุว่าเป็นผู้หญิง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โอลิมปิกในรอบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Khelif ลงแข่ง เขาแข่งรอบที่แล้ว และแข่งอีกหลายๆ เวที แต่เพิ่งจะเป็นข่าวในรอบนี้ เขาเคยลงแข่ง World Championships เมื่อปี 2018 และอีกรอบในปี 2022 ในฐานะผู้หญิง เลยไม่ใช่ว่ามาจากไหนไม่รู้ในรอบนี้

แต่ที่เป็นข่าวเพราะองค์กรที่ควบคุมและดูแลเรื่องมวยสากล (International Boxing Association-IBA) มีความเห็นว่า Khelif ได้เปรียบกว่านักมวยหญิงคนอื่นๆ ด้วยรูปร่าง ด้วยกล้ามและด้วยลักษณะ เลยไม่อนุญาตให้ Khelif ชกในฐานะผู้หญิง ภายใต้การแข่งขัน IBA อีกต่อไป แต่สำหรับโอลิมปิกในครั้งนี้ สมาคมโอลิมปิก (International Olympic Committee-IOC) ได้ยึดการแข่งขันมวยออกจากหน้าที่ของ IBA เพราะเรื่องการบริหารภายใน IBA ที่ไม่โปร่งใส เรื่องเงิน เรื่องการตัดสินใจและเรื่องอื่นๆ และทาง IOC อนุญาตให้ Khelif และนักมวยหญิงไต้หวันชื่อ Lin Yu-ting ลงแข่งโอลิมปิกเป็นตัวแทนประเทศของเขาอย่างเป็นทางการ

แต่แน่นอนครับ พอ Khelif เป็นข่าว คนทั่วโลกออกมาประณามและโวยวาย ไม่ว่าจะเป็น Elon Musk หรือ Donald Trump ทุกคนโหนกระแส รวมตัวประณาม Khelif กันเป็นแถว (รวมถึงคนไทยเราด้วยครับ) วันที่ Khelif ชนะนักมวยไทยเรา ถึงแม้ผมเชียร์คนไทยเราก็ตาม พอ Khelif ชนะปุ๊บ ผมเห็นการโพสต์ของคนไทยในโลกโซเชียลเกือบ 100% ออกมาในทางกระแนะกระแหน Khelif ว่าเอาเปรียบ และเป็นผู้ชายต่อยผู้หญิง (อะไรทำนองนั้น) ผมยอมรับว่าถ้าผมไม่ได้อ่านรายละเอียดของข่าว และไม่ได้อ่านรายละเอียดเรื่องราว Khelif ถ้าผมเห็นแต่ภาพ และคล้อยตามกระแสโซเชียล ผมก็คงกระแนะกระแหนเขาอีกคนหนึ่ง

ถึงขั้นที่ Khelif ต้องออกมาวิงวอนขอหยุดการ Bully และสิ่งที่เจ็บลึกกว่านั้นคือ พ่อแม่เขาแทนที่จะฉลองกับความสำเร็จของลูกสาวทุกขั้นตอน (ในฐานะผู้ปกครองที่รักลูก) เหมือนต้องหลบซ่อน เหมือนต้องแอบเชียร์ และเหมือนต้องขอโทษโลกที่ลูกสาวดูเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพียงเพราะมีนักเลงคีย์บอร์ดเป็นร้อยเป็นพันเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นรายวัน จนครอบครัว Khelif ทนไม่ได้ แต่หลังๆ ในที่สุด เขาประกาศว่าเขาสนับสนุนลูกสาวเขา และภาคภูมิใจกับลูกสาวที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและครอบครัวยากจนของเขา

            เพียงเพราะคนเราไม่คิด และไม่ชอบอ่านรายละเอียด ก่อนจะออกมาประณามและแสดงความคิดเห็นกันแท้ๆ ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

President Biden….You’re a Good Dad

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว

คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง

เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ

'BRO!!!!!'

เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า

“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย

ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้