ระวังหายนะทางเศรษฐกิจ

เล็งมาสักระยะแล้วครับ

วางแผนมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา จะเข้าไปครอบงำแบงก์ชาติ

เดิมทีคิดจะปลด "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ออกจากตำแหน่ง

แต่เสียงต้านแข็งแรงเกินไป

จำต้องรอให้ ผู้ว่าเศรษฐพุฒิ หมดวาระลง เดือนกันยายนปีหน้า

ระหว่างนี้จึงเดินเกมปูทาง ครอบงำผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นคนที่รัฐบาลสั่งได้

ทันทีที่ปรากฏชื่อ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เต็งหนึ่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ความกังวลเรื่องรัฐบาลแทรกแซงแบงก์ชาติ ก็เข้าใกล้ความจริงเข้าไปทุกที

เดิมทีจะเคาะชื่อบุคคลมาเป็น ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ตั้งแต่วานนี้ (๘ ตุลาคม) แต่ที่ประชุมบอร์ดสรรหาฯ สั่งให้ฝ่ายเลขานุการไปหาข้อมูลเพิ่มจาก ๓ ชื่อที่ส่งมา

รวมทั้ง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ด้วย

นัดถกอีกที ๑๖ ตุลาคม

คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด และกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหม่ มีใครบ้าง

๑.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

๒.นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

๓.นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

๔.นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

๕.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

๖.นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

๗.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

จุดแรกที่ต้องจับตามองคือ คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดนี้ ไม่มีอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งผิดปกติไปจาก คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดก่อนๆ นี้

รัฐมนตรีคลัง คือคนที่ตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ กำลังคิดอะไรอยู่

การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อทั้งหมด ๙ คน

แบ่งเป็นสัดส่วนของ ธปท. ๖ คน

กระทรวงการคลังอีก ๓ คน

หนึ่งในรายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอคือ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนของระบอบทักษิณ

กำลังดำเนินไปตามแผนการที่วางไว้ใช่หรือไม่

๑๖ ตุลาคม หาก "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ สิ่งที่จะตามมาคือ สมดุลที่จะสูญเสียไป

การเงินการคลังของประเทศจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ

คนแบงก์ชาติถึงได้กังวลเรื่องนี้ว่าสุดท้ายจะนำไปสู่หายนะ

"ธาริษา วัฒนเกส" อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความเตือนอย่างตรงไปตรงมา

"...ในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้ง

หายนะทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น

ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน

เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

ในกรณีของประเทศไทยนโยบายแจกเงิน  ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ก็ได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว

หาก ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก

ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ย่อมตามมาอย่างแน่นอน

วงการเศรษฐกิจของไทยได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้

ในขณะนี้ จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้

อันที่จริง กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงได้ กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง

ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่เข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม

ดิฉันจึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ..."

ก็ต้องถามใจทั้ง ๗ คนข้างต้นว่า จะยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ หรือตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมือง

หากประตูบานแรกถูกเปิด ประธานบอร์ดแบงก์ชาติเป็นคนของรัฐบาล ประตูบานถัดไป การสรรหาผู้ว่าแบงก์ชาติ มาแทน "ผู้ว่าเศรษฐพุฒิ" ยิ่งน่ากังวลกว่าหลายเท่าตัว

แล้วจะรู้ว่าหายนะทางเศรษฐกิจอยู่ใกล้แค่เอื้่อม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ