บทบาทใน Asean Summit, และ APEC Summit 2022

ก่อนสิ้นปีนี้ ผู้นำไทยจะต้องเข้าร่วมประชุมระดับสากลที่มีความสำคัญต่ออนาคตของภูมิภาคและโลก-การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมสุดยอดโลกร้อน Cop26 ที่กลาสโกว, สหราชอาณาจักร

ปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ APEC

ล้วนเป็นเวทีที่ไทยเราจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ และความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของโลก ท่ามกลางภัยพิบัติที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และสภาพแวดล้อมโลกที่เสื่อมทรุด

รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่เจอกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ยังมีปัจจัยไม่แน่นอนสูงอย่างยิ่ง

ไทยเราพร้อมแค่ไหน, วิสัยทัศน์ของผู้นำไทยเรากว้างไกลเพียงใด และเราจะเชื่อมโยงกิจกรรมระดับโลกเหล่านี้กับสภาวะการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเราเองอย่างไร เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องหาคำตอบให้ได้

โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางของความเคลื่อนไหวระดับภูมิภาคและระดับโลกที่กำลังร้อนแรงและหนักหน่วงเช่นนี้

กระทรวงต่างประเทศยืนยันว่านายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2564

การประชุมครั้งนี้กระทรวงต่างประเทศบอกว่าเป็นบทสรุปการทำหน้าที่ขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม ในประธานอาเซียนปี 2564 ภายใต้แนวคิดหลัก “เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” (We Care, We Prepare, We Prosper)

ก่อนส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่กัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 ต่อไป

นายกฯ จะร่วมประชุมในกรอบอาเซียนทั้งหมด จำนวน 11 การประชุม

ซึ่งรวมถึงการประชุมกับผู้นำของคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย และนิวซีแลนด์

หัวข้อหารือจะเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 การฟื้นฟูหลังโควิด-19 การสร้างประชาคมอาเซียน รวมทั้งพัฒนาการในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ

สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เห็นท่านนายกฯ ไปนั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ปี 2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3/2564 ไทยพร้อมรับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปกในเดือนพฤศจิกายนนี้

ถือเป็นการเตรียมความพร้อมช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ไทยจะรับมอบหน้าที่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกต่อจากนิวซีแลนด์ ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 28 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่า จะใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้กลับมามีพลวัต

พร้อมขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ร่วมกับสมาชิกเอเปกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ

เนื้อหาของการประชุม APEC น่าสนใจว่าจะเน้นไปทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

เช่น จะมีการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาและผลักดันผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (Key Deliverables) ของการเป็นเจ้าภาพเอเปกประจำปี 2565

โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นพื้นฐานขับเคลื่อนให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมุ่งสู่โลกยุคหลังโควิด-19

ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สร้างสมดุลระหว่างทุกสรรพสิ่ง” ด้วยการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเพิ่มพูนผลกำไรไปสู่การมุ่งเพิ่มมูลค่า

ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาศักยภาพมนุษย์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ข่าวบอกว่านายกรัฐประยุทธ์จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 28 ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

ซึ่งจะเป็นจังหวะที่นายกฯ ไทยจะรับมอบหน้าที่อย่างเป็นทางการจากนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์   

อีกทั้งจะมีการนำเสนอวีดิทัศน์การเป็นเจ้าภาพ APEC ปี 2565 พร้อมกับเปิดตัวตราสัญลักษณ์ APEC 2022 THAILAND ที่ได้รับการคัดเลือกจากผลงานกว่า 600 ชิ้นจากผู้เข้าร่วมประกวดระดับเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี

ว่ากันว่าผลงานชิ้นนี้จะสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นเจ้าภาพ APEC และความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

งานใหญ่ๆ ระดับโลกอย่างนี้ ปักธงไทยอย่างมีสาระและบทบาทที่คึกคักจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย