นายกฯ ยินดีองค์การเภสัชฯ ผลิตยาโมนูลพิราเวียร์ได้เอง มุ่งสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์

นายกฯยินดีองค์การเภสัชสามารถผลิตยาโมนูลพิราเวียร์ได้เอง อีกก้าวสำคัญตอกย้ำศักยภาพและการพัฒนาด้านสาธารณสุขและเวชภัณฑ์ของไทย เผยชาติอาเซียนขยายกรอบความร่วมมือด้านยาต่อเนื่อง เสริมความมั่งคงด้านสาธารณสุขให้ประชาชนในภูมิภาคเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ

29 ธ.ค.2565 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยินดีกับความก้าวหน้าในการพัฒนายาที่สำคัญของประเทศไทย โดยล่าสุดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กระทรวงสาธารณสุข สามารถพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์ ภายใต้ชื่อ ยาโมโนเวียร์ ในรูปแบบแคปซูลขนาด 200 มิลลิกรัม และผลิตได้เองซึ่งจะมาทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศต่อไป
 
โดยปัจจุบันยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคโควิด19 ตามแนวทางการรักษาของประเทศไทย โดยมีการใช้ยาอยู่ประมาณ 1-2 แสนแคปซูลต่อวัน  ซึ่งขณะนี้ อภ. ได้เริ่มผลิตยาและอยู่ระหว่างการกระจายยาไปยังสถานพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อเป็นยาสำหรับผู้ป่วยโควิด19 ที่ได้รับวินิจฉัยว่าควรได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ทั้งผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้มีใบสั่งยาจากแพทย์ก็สามารถไปซื้อยาได้ที่ร้านยาของ อภ.ทั้ง 8 สาขาได้
 
“นับแต่เกิดการระบาดของโควิด19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านเวชภัณฑ์ทั้งยารักษาโรค วัคซีน เครื่องมือการตรวจคัดกรองต่างๆ ในส่วนของยาก่อนหน้านี้ อภ. ก็สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้สำเร็จ และครั้งนี้สามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ย้ำถึงความสามารถในการพัฒนายาของไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการจะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากการวิจัยและพัฒนาในประเทศแล้ว ปัจจุบันไทยมีความร่วมมือกับองค์กรและต่างประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องยาในหลายมิติ ซึ่งล่าสุดมีการขับเคลื่อนกรอบการกำกับดูแลด้านยาของอาเซียน (ASEAN Pharmaceutical Regulatory Framework: APRF) ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างทยอยให้การรับรอง โดยการดำเนินการส่วนของไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 65 ได้เห็นกรอบดังกล่าวและมอบหมายให้ รมว.พาณิชย์หรือผู้แทน และรมว.สาธารณสุข หรือผู้แทน ร่วมกันรับรองในนามประเทศไทยต่อไป
 
โดย APRF จะเป็นแนวทางการกำกับดูแลยาที่สอดคล้องกันในอาเซียน สร้างความมั่นใจว่าคนในภูมิภาคอาเซียนจะเข้าถึงยาที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงหน่วยงานกำกับดูแลยา สาธารณสุขและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด วางพื้นฐานในการพัฒนาความตกลงของอาเซียนว่าด้วยการกำกับดูแลด้านยา (APRF Agreement) ให้เป็นเอกสารทางกฎหมายที่กำหนดความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในกฎระเบียบด้านยา และการค้า นำไปสู่การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคทางเทคนิคที่มีต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา เพื่ออนาคตของตลาดยาอาเซียน ส่งเสริมความมั่นคง การพึ่งตนเองด้านยาในภูมิภาค เป็นการรับรองการเข้าถึงยาคุณภาพสูง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์โรคต่างๆ
 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

'สกิลลาชี' ตำนานดาวยิงอิตาลี เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในวัย 59 ปี

"โตโต้" ซัลวาตอเร่ สกิลลาชี อดีตดาวยิงทีมชาติอิตาลี ชุดอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 1990 เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัยเพียง 59 ปี จากโรคมะเร็งที่รักษามาอย่างยาวนาน 2 ปี

หมอธีระวัฒน์ เตือนแจกยาผู้ประสบภัย ระวังตัวยาเดียวกันคนละชื่อ อาจทานซ้ำซ้อน

หมอธีระวัฒน์ เตื่อนสถานการณ์วิกฤตอาจต้องระวัง ยาและเวชภัณฑ์ที่ส่งให้ผู้ประสบภัยว่าอาจเป็นยาตัวเดียวกันแต่คนละชื่อและอาจทานซ้ำซ้อนเกินขนาด

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 302 ราย ดับเพิ่ม 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 8 - 14 กันยายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 302 ราย