'นพ.ธีระ' ยกผลวิจัยมะกันชี้ติดโควิดเสี่ยงเบาหวานสูง!

'หมอธีระ' อัพเดตความรู้สถานการณ์โควิด อึ้ง! ผลวิจัยมะกันตอกย้ำผู้ติดโควิดเสี่ยงสูงในการเป็นเบาหวาน ส่วนผลวิจัยเมืองผู้ดีชี้ชัดโอมิครอนแพร่เชื้อต่อได้มากที่สุด

15 ก.พ.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 102,211 คน ตายเพิ่ม 440 คน รวมแล้วติดไป 677,840,535 คน เสียชีวิตรวม 6,783,945 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.97 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.22

...อัพเดตความรู้โควิด-19
1. "ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน"
Kwan AC และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open ในวันแห่งความรัก ศึกษาในกลุ่มประชากรจำนวน 23,709 คน ตั้งแต่มีนาคม 2563 ถึงมิถุนายน 2565 พบว่า หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะทำให้เสี่ยงที่จะตรวจพบโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญราว 2.35 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.94-2.89 เท่า)

และแม้จะเปรียบเทียบอัตราการตรวจพบโรคเบาหวานกับโรคอื่นๆ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กรดไหลย้อน ก็ยังพบว่า ความเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคเบาหวานหลังติดเชื้อโควิด-19 นั้นก็ยังคงสูงกว่าการตรวจพบโรคอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญถึง 1.58 เท่า

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน
แต่ที่น่าสนใจคือ การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานนั้นสูงขึ้นชัดเจน แม้ว่าจะเป็นยุคที่สายพันธุ์ Omicron ระบาดก็ตาม

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ค้นพบคือ คนที่ติดเชื้อแต่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน จะมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น ข้อสรุปที่เราควรนำใช้ในการดำเนินชีวิตคือ หนึ่ง ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด สอง ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบถ้วนตามกำหนด หากเกิดจับพลัดจับผลูติดเชื้อขึ้นมา อย่างน้อยวัคซีนก็จะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง ลดเสี่ยงเสียชีวิต และลดความเสี่ยงต่อ Long COVID รวมถึงการเกิดโรคเบาหวานให้น้อยลงไปบ้าง ดีกว่าการไม่ฉีดวัคซีน

2. ลักษณะของสายพันธุ์ไวรัสกับการระบาดในประเทศอังกฤษ
Perez-Guzman PN และคณะ จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาทบทวนลักษณะการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดช่วงที่ผ่านมาหลายปีจนถึงยุค Omicron

สาระสำคัญคือ แต่ละสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 นั้นมีสมรรถนะในการแพร่ระบาดแตกต่างกันไป ทั้งนี้สายพันธุ์ Omicron (BA.1) นั้น มีสมรรถนะในการแพร่เชื้อจากคนที่ติดเชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้สูงสุด โดยเฉลี่ยแล้ว คนติดเชื้อคนหนึ่งจะแพร่ไปให้คนอื่นๆ ได้ 8.1 คน (ค่า R0: Basic reproduction number)

ในขณะที่ สายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นมีค่า R0 ประมาณ 2.5, สายพันธุ์อัลฟา 4.0, และสายพันธุ์เดลตา 6.7 เราจึงไม่แปลกใจว่า การระบาดของ Omicron นั้นจึงทำให้คนทั่วโลกมีการติดเชื้อกันมากมายมหาศาลจนถึงปัจจุบัน

ป.ล.ใครอยากเห็นลักษณะสายพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 เต็มๆ (29,903 nucleotides) ลองเข้าไปดูได้ที่เว็บในรูปที่ 4 ...ควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ช่วยกันปรับปรุงการระบายอากาศให้ดีขึ้นกว่าในอดีต การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงทั้งต่อโควิด-19 และ PM2.5 ด้วย

อ้างอิง
1. Kwan AC et al. Association of COVID-19 Vaccination With Risk for Incident Diabetes After COVID-19 Infection. JAMA Network Open. 14 February 2023.
2. Perez-Guzman PN et al. Epidemiological drivers of transmissibility and severity of SARS-CoV-2 in England. medRxiv. 12 February 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

ทีมบาสอเมริกา แบโผ 11 ผู้เล่นจัดเต็ม ลุยศึกยัดห่วงโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศส

บาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกา ประกาศรายชื่อ 11 ผู้เล่น ชุดลุยการแข่งขันยัดห่วงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่เรียบร้อย นำทัพมาโดย เลบรอน เจมส์, สตีเฟน เคอร์รี และเควิน ดูแรนต์

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก