'หมอยง' แจงเด็กติดโควิด อาการน้อย แต่แพร่กระจายเชื้อได้มาก

10 ม.ค. 2565 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 เด็กจะเป็นผู้กระจายเชื้อได้มาก

เด็กติดเชื้อโควิค 19 อาการจะน้อยมาก หรือไม่มีอาการเป็นส่วนใหญ่ อันตรายถึงชีวิตยิ่งน้อยมากๆ

การศึกษาในอเมริกา ในช่วงที่มีการระบาดสูงมากของโอมิครอน เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นก็จริง เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และเด็กจำนวนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาด้วยสาเหตุอื่น แต่ตรวจพบโควิด 19 ก็มีมากขึ้น

ปัญหาสำคัญของการติดเชื้อในเด็ก ที่มีอาการน้อย แต่เด็กจะเป็นผู้กระจายเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ดีมาก เด็กป่วย ไม่สามารถแยกตัวเองออกไปได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ติดโรค

ผมมีคนไข้เด็กที่ติดจากสถานเลี้ยงเด็ก เมื่อตรวจพบ แม่ยอมติดเชื้อด้วย เพราะต้องดูแลรักษาลูก รวมทั้งบุคคลในบ้าน เมื่อเด็กคนหนึ่งเป็นพี่น้องที่วิ่งเล่นด้วยกัน ก็จะติดกันอย่างแน่นอน

ในอดีตที่ผ่านมา เชื้อส่วนใหญ่อยู่ในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่สามารถแยกตัวออกมาได้ ป้องกันไม่ให้ติดเด็ก แต่เมื่อมีการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะโอมิครอน การติดเชื้อจะลงมาสู่เด็กอย่างแน่นอน

เด็ก ภาระความรุนแรงโรคน้อยมาก แต่จะเป็นผู้กระจายโรค ไปสู่คนในบ้าน

เด็กเล็กจะกระจายไปสู่ผู้ดูแล ด้วยการสัมผัสใกล้ชิด กอดจูบ เล่นด้วยกันระหว่างเด็ก

เด็กจำเป็นต้องไปโรงเรียน ในอนาคตเราคงหนีไม่พ้น การติดในโรงเรียน ที่เหมือนแบบโรคหวัดทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

เด็กโตหรือวัยรุ่น จะมีสภาพสังคม และการเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างได้มากกว่าเด็กเล็ก

ถึงแม้ว่าความรุนแรงของโรคในเด็กจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ความสำคัญในการแพร่กระจายโรคมีมากกว่า

วัคซีนที่ใช้ในเด็ก ที่ต้องการจะต้องมีความปลอดภัย ต้องมาก่อน และจะต้องมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อมากกว่า ลดความรุนแรงของโรค เพราะถ้าให้วัคซีนแล้วเด็กยังสามารถติดเชื้อ โดยไม่มีอาการ จะไม่เกิดประโยชน์ในการลดการแพร่กระจายโรคได้

ช่วงเวลาที่ผ่านมา เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียน ที่ต้องเรียนทางไกล ทำให้ประสิทธิภาพการศึกษาของเด็กลดลงอย่างมาก ผ่านมา 2 ปีแล้ว ในอนาคตเด็กต้องไปโรงเรียนอย่างแน่นอน โรคโควิด 19 โอมิครอน มีแนวโน้มความรุนแรงโรคลดลง ก็น่าจะเป็น coronavirus อีกตัวหนึ่งจากที่เคยมีอยู่แล้ว 4 ตัว ที่เราไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องมีภูมิต้านทาน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับวัคซีนหรือการติดเชื้อ และ ชีวิตของเด็ก ก็จะต้องกลับเข้าสู่สภาพเดิมโดยเฉพาะชีวิตในโรงเรียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย