ผู้เฒ่าอาข่าปลื้มได้บัตรประชาชน แนะแปลงสัญชาติแยกให้ชัด ฝรั่ง-ชาวเขาดั้งเดิม

นักกฎหมายแนะกรมการปกครองเสนอกฎหมายแปลงสัญชาติ แยกให้ชัด ฝรั่ง-ชาวเขาดั้งเดิม พ่อเฒ่าแม่เฒ่าอาข่าปลื้มได้บัตรประชาชน มอบไข่แดงมงคลให้ผู้ที่ช่วยเหลือ

30 พฤศจิกายน 2565 - ที่ศูนย์การเรียนรู้บนดอย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่องถอดบทเรียนการปรับกระบวนการแปลงสัญชาติทั้งระบบเพื่อสังคมไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายพิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง นายวราดิศร อ่อนนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนนายอำเภอแม่ฟ้าหลวง นางศศินันท์ สุชนวงศ์ ผู้ช่วยจ่าจังหวัดเชียงราย นายชุติ งามอุรุเลิศ นักวิชการ นางเตือน ใจดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นส.รุ่งทิวา ปัญญาอุด เจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ. และดำเนินรายการโดย น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิ พชภ.

ก่อนการเสวนาบรรดาพ่อเฒ่าและแม่เฒ่าชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ และผู้เฒ่าจากอำเภอเชียงของซึ่งเป็นผู้เฒ่ากลุ่มแรกที่ได้รับการแปลงสัญชาติจากชนกลุ่มน้อยเป็นไทย ได้นำไข่ต้มสีแดงและข้าวซึ่งเป็นอาหารสิริมงคลชาวอาข่า มอบเพื่อขอบคุณบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ช่วยดำเนินการแปลงสัญชาติจนได้รับบัตรประชาชนไทย

ทั้งนี้คนเฒ่าไร้สัญชาติได้พูดแสดงความรู้สึกถึงการได้รับบัตรประชาชนว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ได้บัตรประชาชน รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้บัตรประชาชนและรู้สึกรักผืนแผ่นดินไทย ตอนนี้สามารถเดินทางไปไปเยียมญาติพี่น้องนอกพื้นที่ได้โดยไม่ต้องกลัวตำรวจ

นายวราดิศร อ่อนนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสถานบุคคลเป็นนโยบายของกรมการปกครองโดยจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ชายแดนมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 20 กลุ่มทำให้ยุ่งยาก ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีทำให้มีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นระยะๆ และประชากรกลุ่มเป้าหมายอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งทำให้ยากในการสำรวจและทำทะเบียนประวัติ รวมถึงการสอบสวนข้อมูล อย่างไรก็ตามจังหวัดเชียงรายได้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนเร่งด่วนให้ได้รับสิทธิเพื่อประกอบอาชีพสุจริตและทำนิติกรรมต่างๆ โดยคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่แปลงสัญชาติตามมาตรา 10 ซึ่งดำเนินการไปได้ 78% และทยอยส่งให้ส่วนกลางในการยืนยันการตรวจสอบ

“การแปลงสัญชาติให้ผู้สูงอายุ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก พชภ. ต้องยอมรับว่าในระบบราชการงานด้านสัญชาติเป็นเรื่องยาก เพราะหากผิดพลาดมีบทลงโทษสูง เมื่อพชภ.มีเจ้าหน้าที่มาช่วยรวบรวมเอกสารก็เป็นการช่วยให้เร็วขึ้น” นายวราดิศร กล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ผู้เฒ่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ในอดีตคนเหล่านี้ไม่เคยคิดว่าการเป็นพลเมืองสัญชาติไทยเป็นเรื่องสำคัญเพราะอยู่แต่ในหมู่บ้าน แต่เมื่อมีกฎหมายให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ย ทำให้คิดว่าคนกลุ่มนี้ควรได้รับสิทธิ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารและทำคุณประโยชน์เพื่อบ้านเมือง จึงได้จัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติขึ้นมา และมีการขับเคลื่อนนำไปสู่การแก้ปัญหาระดับนโยบาย ทั้งเรื่องการบันทึกการเกิดผิด และเรื่องการแปลงสัญชาติซึ่งเดิมยากมากเพราะเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยเป็นไปอย่างเข้มงวด พชภ.จึงต้องทำงานร่วมกับนักกฎหมายและสื่อมวลชน ทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยเห็นชอบแก้ไขเกณฑ์การพิจารณา จนกระทั่งผู้เฒ่าได้สัญชาติ จึงอยากถอดบทเรียนเพราะกระบวนการ 16 ขั้นตอน ทำอย่างไรถึงลดขั้นตอนลงได้อีกหรือไม่ ระยะเวลาสั้นอีกได้หรือไม่ และทางกระทรวงมหาดไทยควรมีการปรับกลไกในระดับจังหวัดเพื่อเอื้อต่องาน

ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า กล่าวว่า ควรออกกฎระเบียบให้ชัด ควรช่วยเหลือคนที่อยู่ในทะเบียนราษฎร จึงเสนอให้กรมการปกครองตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และยกร่างกฎหมายสำหรับคนแปลงสัญชาติ ให้ครอบครัวที่ลูกหลานมีสัญชาติไทยแล้ว สาเหตุที่ต้องการให้เสนอเป็น พรบ.ฉบับใหม่เพราะจะได้ก้าวข้ามอุปสรรคเดิมโดยเฉพาะทัศนคติของระบบเดิม

นายพิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ทุกวันนี้มีหน่วยงานจับจ้องคนทำงานเรื่องสัญชาติ ดังนั้นจึงควรดูบริบทกันใหม่ เพราะถนนทุกสายต่างมุ่งเรื่องสัญชาติและอยู่ที่ พรบ.สัญชาติอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ฝรั่งและชาวเขาเป็นคนละกลุ่มกัน ซึ่งทุกวันนี้มีคนอยากเป็นคนไทยเยอะมากโดยเฉพาะฝรั่ง ซึ่งแตกต่างจากคนที่อยู่ในไทยมานานจึงควรแยกแยะให้ชัดเจน และกลุ่มที่อยู่ในไทยในการพิจารณาก็ไม่ควรมีขั้นตอนมากมาย เสื้อตัวเดียวไม่สามารถตัดให้ใส่ได้ทุกคน ดังนั้นควรมีเฉพาะแต่ละกลุ่ม

นางศศินันท์ สุชนวงศ์ ผู้ช่วยจ่าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าอำเภอแม่ฟ้าหลวงมียอดส่งเรื่องขอแปลงสัญชาติคนเฒ่าไร้สัญชาติแล้ว 389 ราย โดยไม่ได้ดำเนินการชักช้าเลย โดยเฉพาะเมื่อมีหนังสือสั่งการผ่อนปรนเงื่อนไข ทำให้ดำเนินการได้ทันที แม้สื่อสารกันด้วยภาษาพูดไม่เข้าใจแต่ใช้ภาษาใจ จึงขอแสดงยินดีด้วยกับผู้เฒ่าที่ได้รับการแปลงสัญชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ชาดา” โค่นแก๊งค์เขมรค้ายานรก เครือข่ายเฟิร์ส คลองหลวง ย้ำเร่งปราบยาเสพติด คืนลูกให้ครอบครัว คืนความปลอดภัย ให้สังคม

วันที่ 24 เมษายน 2567 เวลาประมาณ 21.15 น. ภายได้ข้อสั่งการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล อันเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเข้มข้น ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ปฏิบัติการ 'สิงห์ทมิฬ' ทลายสินค้าเถื่อนเมืองภูเก็ต มูลค่าเสียหาย 500 ล้านบาท

กรมการปกครอง เปิดปฏิบัติการ "สิงห์ทมิฬ" นำหมายศาลบุกค้น ร้านขายบุหรี่เถื่อน เหล้าเถื่อน กลางเมืองภูเก็ต มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ลักลอบขนเข้าทางเรือ

'บ้านแม่ปอคี' จ.ตาก เตรียมจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองชุมชนกะเหรี่ยง

นายประหยัด เสือชูชีพ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่าในวันที่ 26 เมษายน 2567 ชุมชนบ้านแม่ปอคีจะจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัย

'มหาดไทย' แจงปมหลายอำเภองดทำบัตรประชาชน เหตุอยู่ในช่วงรอทดสอบมาตรฐานบัตร

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่ในวันที่ 22 เม.ย. 2567 สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ข้อความถึงกรณีมีประชาชนเดินทางไปที่ว่าการอําเภอเพื่อติดต่อทำบัตรประชาชนบแต่ไม่สามารถทำได้

รัฐบาลชวนนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สมัครเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย 44 ทุน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) สมัครเข้าโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย