จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จัดเลือก สว.ชุดใหม่ในปี 2567 รวม 200  คน (เดิมมี 250 คน)

คาดว่าภายใน ก.ค.นี้จะรู้ผล

โดยสิ่งที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้คือ ระเบียบแนะนำตัว สว. ที่กำหนดข้อห้ามในการแนะนำตัวที่สำคัญไว้  

1.ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว 2.ห้ามผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี  พิธีกร ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว 3.ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ

4.ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง  เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 5.ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น  กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใด ในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ที่จะเข้าสมัคร หรือพรรคก้าวไกล อย่าง "ไอติม" พริษฐ์  วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

"ระเบียบ กกต.ที่ออกมากลับทำให้กระบวนการทั้งหมดปิดกั้น และแคบลงกว่าเดิม เช่น ผู้สมัครแนะนำตัวได้ตามแค่เอกสารของ กกต. ซึ่งมีพื้นที่แค่ 5 บรรทัดในการพูดถึงประวัติ ประสบการณ์, ผู้สมัครห้ามโพสต์เอกสารแนะนำตัวของตนเองทางออนไลน์ ยกเว้นส่งให้ผู้สมัครคนอื่นเป็นการเฉพาะ, ประชาชนมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สมัครแต่ละคน"

แค่นั้นยังไม่พอ ภายหลังจาก กกต.ได้ออกระเบียบดังกล่าวไม่นาน เหล่าผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครคัดเลือก สว.ก็ได้ร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว 

โดย อ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาบอก

"ระเบียบที่ กกต.ทำ จำกัดสิทธิในการแนะนำตัวผู้สมัครมากเกินไป โดยเฉพาะการแนะนำตัวผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดีย รวมถึงโทษของผู้สมัครที่กระทำการผิดระเบียบก็มีสิทธิ์ติดคุกได้ด้วย มองว่าแม้กระทำผิดเล็กๆ แต่โทษถึงใหญ่หลวง"

แต่มีกลุ่มหนึ่งที่สังคม หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจต่างเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวอยู่ คือ "คณะก้าวหน้า" นำโดย  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดดร่วมวงเคลื่อนไหวในการคัดเลือก สว.ครั้งนี้ด้วย โดยมีการเดินสายรณรงค์ให้ออกมาใช้สิทธิในหลายจังหวัดกันอย่างโจ่งแจ้ง และในอนาคตไม่สามารถทราบได้ว่า "ธนาธร" จะใช้เล่ห์กลใดๆ ระหว่างที่จะมีการรับสมัครคัดเลือก สว.อีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายมองว่าการเชิญชวนประชาชนลงสมัคร สว. จะทำให้เกิดการฮั้วกันในระหว่างการคัดเลือก สว.ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ สว.ที่ฝักใฝ่การเมือง และมีความไม่เป็นกลาง

ก่อนหน้านี้ "แสวง บุญมี" เลขาธิการ กกต. ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการ "แนะนำตัว" ของว่าที่ผู้สมัคร สว.ว่า รัฐธรรมนูญออกแบบให้ สว.มีลักษณะดังกล่าว กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัคร สว.ทำได้แค่แนะนำตัว นั่นหมายความว่าห้ามหาเสียงโดยปริยาย เพราะเชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองที่สมัคร ทุกคนล้วนมีความดี เด่น ดัง ในสาขาอาชีพของตัวเองเป็นที่ประจักษ์ และทราบกันดีในวงการนั้นดีอยู่แล้ว และด้วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจะมี "วิจารณญานในการเลือก" ที่ถูกต้องได้เป็นอย่างดี

โดยไม่มีการจัดตั้ง หรือฮั้วกันในการเลือก 1.การแนะนำตัว คือการบอกว่าตัวเองเป็นใคร มีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพนั้นอย่างไร แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองมีข้อมูลในการเลือกกันเองแล้ว ไม่ว่าจะเลือกในกลุ่มหรือเลือกไขว้ก็ตาม

และมี "บทลงโทษ" ที่หนักพอสมควรในการแนะนำตัว  เช่น การขอคะแนนกัน การแลกคะแนนกัน (ยังไม่ซื้อเสียง)  ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป จะถูกตัดสิทธิ์ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต (ใบดำ) หรือโทษของการทุจริต เช่น  การซื้อเสียง รวมทั้งโทษอื่น เช่น จ้างให้คนลงสมัคร รับจ้างสมัคร สมัครโดยเอกสารเท็จ จะถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  รวมถึงจำคุก (ใบแดง)

ส่วนคนนอกจะใช้แคมเปญในการชักชวน รณรงค์ให้คนเลือก สว.คนใดคนหนึ่งได้หรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ได้" เพราะการกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามมาตรา 77  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ส.ว.) ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือก เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทําการใดๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท-200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ  และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี

ซึ่งในเคสของธนาธรที่กระทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ถือว่าผิด เพราะเป็นการเชิญชวน และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตั้งกลุ่มเพื่อเข้าไปสมัครคัดเลือกสว. ถ้า กกต.พบหลักฐานอย่างแน่ชัด ก็สามารถเอาผิดได้ทันที

จึงต้องจับตาดูว่าในการคัดเลือก สว. ฝั่งคณะก้าวหน้าจะใช้แผนอะไรอีก เพราะในตัวกฎหมายเองก็ถือว่าเข้มข้นพอสมควร ผู้ที่มีแนวคิดไม่ซื่อตรงก็ขยับยาก หากออกนอกลู่นอกทางก็อาจจะโดนโทษรุนแรง และ กกต.จะรับมืออย่างไร เพราะผู้สมัครทั่วไปที่คาดไว้มีประมาณหลักแสน จึงต้องเอาใจช่วยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางกับท้องถิ่นให้ทำหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบื้องหลัง 'พิชิต' สละชีพเพื่อนาย หวังตัดตอน ล้มคดีช่วยนายกฯ

"พิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" เจ้าของฉายาการเมือง "ทนายถุงขนม 2 ล้านบาท" ตัดสินใจ “ฮาราคีรีตัวเองทางการเมือง” ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ค. หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.ในช่วงเช้า

'ก้าวไกล' เตรียมแถลงข้อเสนอ 10 ปี รัฐประหาร รื้อมรดกทางการเมือง 'บิ๊กตู่'

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะครบรอบ 10 ปีของการทำรัฐประหารในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.)ว่า ทางพรรคก้าวไกลจะมีการแถลงข้อเสนอซึ่งจะสอดล้องกับนโยบายที่ได้หาเสียงไว้

โฆษกก้าวไกล มอง 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' สมัครสว. หนีไม่พ้นครหาเอี่ยวพรรคการเมือง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เป้าหมายเฉพาะหน้าที่อยากเห็นคือกระบวนการคัดเลือกเป็นไปด้วยความราบรื่น

ประเดิมรับสมัครสว. กลุ่มการเมืองส่อฮั้วยึดเก้าอี้

ประเดิมอย่างเป็นทางการวันแรกสำหรับการรับสมัครรับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ภายหลังจาก สว.ชุดบทเฉพาะกาล 250 คนได้หมดวาระเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดย สว.ชุดใหม่จะต้องสรรหาให้ได้จำนวน 200 คน โดยเลือกกัน 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ เลือกวันที่ 9 มิ.ย.2567, ระดับจังหวัด เลือกวันที่ 16 มิ.ย.2567, ระดับประเทศ เลือกวันที่ 26 มิ.ย.2567

เศรษฐา-พิชิต หากแพ้คดี ครม.ไปหมด-เปลี่ยนตัวนายกฯ!

ศาลรัฐธรรมนูญ ในยุคปัจจุบันที่มี ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ มี 2 คำร้อง คดีการเมืองสำคัญ ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล รธน.ที่ผลคำวินิจฉัยจะมีผลทางการเมืองตามมาไม่น้อย โดยเฉพาะหากผลคำตัดสิน ไม่เป็นคุณกับฝ่ายผู้ถูกร้อง

'บุ้ง ทะลุวัง' สังเวยการเมือง บีบรัฐบาลเพื่อไทยเร่งคลี่คลายสถานการณ์

การเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์ หรือ บุ้ง ทะลุวัง จากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์