'การเมือง' หลังม่าน สู้เก็บแต้ม แต่ 'จบที่ดีล'?

“จะแพ้ภัยตัวเองด้วยการถือธงแก้ไขมาตรา 112 แบบเดิมตามยุทธวิธีในการต่อสู้ ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง หรือจะเลือกทางยืดหยุ่น ลดระดับนโยบายเรือธงไม่ไปแตะสถาบัน และเอาชนะใจประชาชนด้วยนโยบายเรือธงอื่น”

“การเมืองวันพุธ” จบไปแล้วหนึ่งคดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม จากนั้นก็เริ่มนับหนึ่งใหม่อย่างรวดเร็วในการเปิดตัวพรรคประชาชน หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคคนใหม่ ซึ่งเป็นตัวละครในวงที่ 1 ใกล้ชิดกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

แน่นอนว่า หลังการยุบพรรคก้าวไกลไปแล้ว กราฟความนิยมของ “สีส้ม” พุ่งพรวด ทั้งจากแฟนเก่าของพรรค และคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ยอดบริจาคเงินเข้าพรรค และการสมัครเป็นสมาชิกพรรคเกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้ในช่วง 1-2 วันเท่านั้น

ในทางการเมืองอาจสร้างความหวั่นไหวให้กับขั้วอนุรักษนิยมอยู่บ้าง เพราะกระแส “เอาชนะ” ของคนที่ไม่สยบยอมเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นเทรนด์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่กลับมาปลุกเร้าอารมณ์ผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้น

เกมการต่อสู้ของ “สีส้ม” ผ่านการแถลงของแกนนำพรรคประชาชน ทั้ง “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค และ “ศรายุทธ ใจหลัก” เลขาธิการพรรค รวมถึง “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค เห็นถึงทิศทางที่ตรงกันว่า การทำพรรคการเมืองต่อจากนี้คงไม่ได้ใช้การแก้ไขมาตรา 112 เป็นจุดขายเหมือนเมื่อก่อน

แต่จะมีการจัดลำดับความสำคัญในการนำเสนอนโยบายให้ตรงใจประชาชนมากขึ้น และยึดฐานคะแนนของคนต้องการ “ลองของใหม่” แต่ก็ไม่แตะสถาบันเข้ามาด้วย

โดยมีการย้ำว่า นโยบาย “เรือธง" ของพรรคประชาชน จึงต้องมีการพูดคุยรายละเอียดในเรื่องวิธีการที่ต้องละเอียดรอบคอบ โดยดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกอบ ก่อนตกผลึกออกมาเป็นการเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาในภาพรวม ซึ่ง “ไหม ศิริกัญญา” ระบุว่าต้องมีวิธีการที่ยืดหยุ่นกว่าเมื่อก่อน

นั่นแสดงเป็นนัยว่า พรรคประชาชนจะต่อสู้ในระบบสภา ไม่ใช้การเมืองบนท้องถนนเพื่อกดดัน ชนเพดานเหมือนเมื่อก่อน หลีกเลี่ยงเงื่อนไขการยุบพรรคที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เชื่อว่าการวางแนวทางทั้งระดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของพรรคประชาชนต่อจากนี้จะมีความแตกต่างไปจากเดิม แม้จุดขายจะเป็นเรื่องของ “นิติสงคราม” แต่นั่นก็ทำให้การกำหนดทิศทางของพรรคจะไม่ใช่วิธีดันเพดานไปถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เหมือนช่วงเริ่มต้น

ด้วยบุคลิกของ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ ที่สุภาพ เรียบร้อย เป็นทายาทในตระกูลนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จบวิศวะคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคีย์แมนให้กับพรรคในการรณรงค์สร้างการรับรู้กิจกรรมของพรรคผ่านโลกออนไลน์ตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ ไม่ใช่เป็นนักกิจกรรม และไม่ได้เป็นสายพระเอกหน้าจอเหมือนบิ๊กเนมสีส้ม แต่ถูกเลือกมาจับวางให้เข้ากับสถานการณ์ที่เหมาะสม

ในขั้นต้นคือ การสู้ศึกครั้งหน้า มีเป้าหมายเพื่อตรึงพื้นที่ยึดครองกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ที่มีฐานคนรุ่นใหม่เป็น “โหวตเตอร์” ชิมลางจากกระแสสูงในการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก และเลือกตั้งท้องถิ่นราชบุรี เลยไปถึงความท้าทายในสนามเลือกตั้ง อบจ.ต้นปีหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ “โมเดลบ้านใหญ่” ฟื้นคืนชีพด้วยแรงหนุนของอำนาจรัฐ

นั่นเป็นเพราะพรรคส้มทราบดีว่า “การเมือง” เปลี่ยนรูป แม้กระแสของตัวเองจะดีดขึ้นสูงมากแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้ามาเป็นรัฐบาล ตราบใดที่โดนหมากล้อมจากทุกทิศ และยังไม่รู้ว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการไต่สวนเอาผิดข้อหาฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเมื่อใด แค่ไหน และยังไม่รู้ว่าจะมีใครไปยื่นให้องค์กรอิสระจัดการในประเด็นไหนอีกหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่ากระแสความนิยมของพรรคส้มยังพุ่งสูงต่อไป

และต่อให้กระแสความนิยมของรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตกต่ำแค่ไหน การจับมือกันแน่นของขั้วอนุรักษนิยมก็ไม่สามารถทำให้พรรคส้มแทรกเข้ามามีอำนาจได้

หรือแม้กระทั่งมีความขัดแย้ง หรือเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล ก็เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนตัวบุคคล หรือองค์ประกอบอื่นเพื่อให้รัฐนาวานี้เดินไปได้จนถึงการเลือกตั้งรอบหน้า เชื่อว่าระหว่างนี้สองสภาก็จับมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอื้อให้กับฝ่ายตัวเองได้เปรียบ

แน่นอนว่า ยุทธศาสตร์ในการเดินเกมต่อจากนี้ของพรรคสีส้ม “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยังมีอิทธิพลในการกำหนดเกมอยู่ และเชื่อว่าจะมีการปรับทัพในการสู้ไปเจรจาไป 

เพื่อรอจังหวะในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ “ธนาธร” พร้อมกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง และมีแนวโน้มที่จะชิงเก้าอี้นายกฯ ในสภาพแวดล้อมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป

และยังต้องจับตาดูว่า “การเมืองพุธหน้า” ในคดีที่ 2 จากกรณีที่ 40 สว.ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ ซึ่งจะมีการวินิจฉัยในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ผลจะออกมาอย่างไร

แม้ทีมงานจะร่อนกำหนดการของนายกฯ ยาวไปถึงปลายเดือน ส.ค. ต้นเดือน ก.ย. เหมือนบอกเป็นนัยว่า “เศรษฐา” มีแนวโน้มจะรอดคดี และนั่งเป็นนายกฯ ต่ออีกยาว แต่กระแสทั้งภายในพรรคและนอกพรรคก็ไม่ได้ปลื้มกับ “เศรษฐา” มากนัก จึงต้องดูทิศทางของสองบ้านตระกูลชินวัตร พรรคร่วมรัฐบาล อำมาตย์ขุนทหาร และนายทุน ว่าเป็นอย่างไร

แต่สำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่อยู่หลังม่านกำกับบททางการเมืองอยู่หลายเดือน คงเริ่มไม่มั่นใจว่าทางโล่งโปร่งสบายเหมือนในช่วงนอนอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่ การที่มี “เศรษฐา” เป็นนายกฯ ต่อไปก็น่าจะมีผลดีต่อตัวเอง เพราะมีสัญญาณบอกเหตุอยู่หลายอย่าง ด้วยองคาพยพจาก “ดีลลับ” ไม่น่าจะราบรื่นอย่างที่คิด

ในขณะเดียวกันจะปล่อยให้ถูกคู่แข่งหายใจรดต้นคอ คว้าคะแนนนิยมไปครอง ก็เหมือนเป็นการลบภาพจำอันหอมหวานในอดีตที่ตัวเองเคยครองอยู่ไม่ได้ จึงต้องทุ่มเททุกทางในการกอบกู้ความนิยมของพรรคเพื่อไทยกลับมา

จึงเชื่อว่าในที่สุด เมื่อพ้นจากสถานะนักโทษ เขาย่อมกลับมาสร้างฐานที่มั่นทางการเมือง เป็นกองหนุนให้กับพรรคเพื่อไทย จึงไม่แปลกที่จะมีความเคลื่อนไหวพื้นที่สถานีวอยซ์ทีวี ริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเตรียมรองรับการกลับมาของตัวเองในฐานะของสมาชิกพรรค และประธานที่ปรึกษาพรรคในเร็วๆ นี้

ยังไม่นับ “ดินเนอร์ ทอล์ก” ของสื่อค่ายบางนาที่เชิญ “ทักษิณ” โชว์วิสัยทัศน์ เปิดตัวอย่างฟินาเล

และจะยังเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่า “ทักษิณ” ในทศวรรษนี้จะตามทันเทรนด์การเมืองที่พลิกโฉมหน้า และดุลพรรคการเมืองที่สีน้ำเงินสร้างขุมกำลังขึ้นมาถ่วงดุลได้หรือไม่   

โดยทิศทางของการประนีประนอมสร้างเอกภาพ น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงไม่แปลกที่จะเห็นการระดมพล “บ้านใหญ่” กลับบ้านเดิม เพื่อวางฐานในการต่อสู้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น และเลือกวิธีการเจรจาแบ่งพื้นที่กันในพรรคร่วม เพื่อสร้างเอกภาพในการสู้กับพรรคสีส้ม

ซึ่งเป็นวิธีการที่เชื่อว่าจะเป็นการ “มัดรวม” ให้พรรคร่วมกระจายกำลังไปคุมพื้นที่ต่างๆ ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปี ดำรงภารกิจทัพหน้าในการต่อสู้เพื่อรักษาสถาบัน

ยังไม่นับเหตุการณ์ทางการเมืองต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร พรรคส้มจะแพ้ภัยตัวเองด้วยการถือธงแก้ไขมาตรา 112 แบบเดิมตามยุทธวิธีเดิมในการต่อสู้ ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง หรือจะเลือกทางยืดหยุ่น ลดระดับนโยบายเรือธงไม่ไปแตะสถาบัน และเอาชนะใจประชาชนด้วยนโยบายเรือธงอื่น

จนอยู่ในระดับที่สู้กันไปแล้วก็เปล่าประโยชน์ กลับไปใช้ “ดีล” ระหว่างเจ้าของพรรคตัวจริงของสองพรรค เพื่อบรรลุสมการการเมืองในวันข้างหน้าจะดีกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พรรคประชาชน' ถอด 'พิษณุโลกโมเดล' วางเกมยาวสู้ 'กลุ่มชนชั้นนำ' เลือกตั้งปี 70

ภายหลังการเลือกตั้งซ่อม จ.พิษณุโลก เขต 1 สิ้นสุดลง ผลปรากฏว่า นายจเด็ศ จันทรา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน ไปด้วยคะแนนที่ห่างกันมากถึง 6,569 คะแนน

'นายกฯอิ๊งค์' อารมณ์ดี เดินทัวร์ทำเนียบฯ เยี่ยมรังนกกระจอก

'นายกฯอิ๊งค์' อารมณ์ดี ควง 'จุลพันธ์-เผ่าภูมิ' เดินทัวร์ทำเนียบฯ เยี่ยมรังนกกระจอก เผยเมนูโปรดก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ชอบเหมือนพ่อแม้ว

ร้อง กกต. ยุบเพื่อไทย - ฟัน 'อิ๊งค์' ทำเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมฯ ไม่สุจริต

'พิราบขาว' ร้อง กกต. ยุบพท.- เอาผิดอาญา 'อิ๊งค์' อ้างยึดมาตรฐานเดียวกับฟันนายกเบี้ยว เหตุทำเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมฯ ไม่สุจริตเที่ยงธรรม

‘เทพไท’ ชี้โพลสะท้อนชัด ยิ่ง ‘ทักษิณ’ เคลื่อนไหวมาก ยิ่งกดทับบทบาท นายกฯอิ๊งค์

คำถามเรื่องบทบาทของ คุณทักษิณ ชินวัตร ที่จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมือง ของพรรคเพื่อไทยในช่วงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร

ทักษิณไฟเขียวโผทีมรมต. จัดทัพสิงห์มท.'อนุทิน'รอชง

รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแล้วหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาไปสัปดาห์ที่ผ่านมา