บอร์ด รฟท. ไฟเขียวใช้เงินกู้จัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า 946 คัน 2,459 ล้าน หนุนใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% เตรียมชง “คมนาคม-ครม.” เคาะ คาดอีก 2 ปีได้ใช้บริการ ช่วยเพิ่มรายได้ให้ รฟท. หนุนนโยบายรัฐเปลี่ยนโหมดขนส่งสินค้าจากถนนสู่ราง
19 พ.ค.2566 – นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า(บทต.) 946 คัน วงเงิน 2,459 ล้านบาท โดยให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศ และต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศ ในสัดส่วนร้อยละ 40:60 ซึ่งหลังจากนี้ รฟท. จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป เบื้องต้นคาดว่าหาก ครม. เห็นชอบจะใช้กระบวนการในการประกวดราคา(ประมูล) ประมาณ 6-7 เดือน และคาดว่าจะได้ บทต. ภายในประมาณ 2 ปีหลังจากนี้
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า บอร์ด รฟท. เคยมีมติอนุมัติให้จัดซื้อ บทต. ตั้งแต่ปี 2563 แต่เมื่อส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม ได้ให้ รฟท. กลับไปพิจารณาทำการศึกษาอีกครั้งว่าการใช้วิธีการเช่า และวิธีการซื้อ วิธีการใดมีความคุ้มค่าทางการเงินมากกว่ากัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การซื้อมีความคุ้มค่ามากกว่า โดยการจัดซื้อ บทต. ในครั้งนี้ จะใช้วิธีกู้เงิน ไม่ได้ใช้งบประมาณของแผ่นดิน และนำรายได้ที่ได้รับไปชำระเงินกู้
อย่างไรก็ตาม บทต. ทั้ง 946 คันนี้ นอกจากจะมาช่วยเพิ่มรายได้ด้านการขนส่งสินค้าให้กับ รฟท. ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีกว่าธุรกิจด้านอื่นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้การขนส่งสินค้าเปลี่ยนโหมดจากถนนมาเป็นทางรางมากขึ้นด้วย ปัจจุบัน รฟท. มี บทต. อยู่ประมาณ 1,308 คัน ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มสนใจในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้มาก โดยที่ผ่านมามีเอกชนใช้บริการขนส่งสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เหล็ก, ทุเรียน, ยางพารา และเกลือ เป็นต้น
นายนิรุฒ กล่าวว่าขณะนี้มีเอกชนบางรายสนใจที่จะจัดหาพื้นที่เพื่อทำย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์(CY) ด้วยตนเอง และทำรางรถไฟมาเชื่อมกับทางรถไฟของ รฟท. โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชน เอกชนสามารถทำได้ ซึ่งมีระเบียบที่ทางเอกชนจะต้องค่าเชื่อมรางให้กับ รฟท.ด้วย ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งรายได้ให้ รฟท.
นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า สำหรับในแง่ของการบำรุงรักษา บทต. นั้น มั่นใจว่า รฟท. มีความพร้อมในด้านนี้ มีทั้งโรงซ่อม และบุคลากร ที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการจัดซื้อ บทต. นั้น ไม่ใช่เป็นการซื้อครั้งแรก จึงทำให้ รฟท. มีประสบการณ์ในการดูแลบำรุงรักษาอยู่แล้ว และสเปคของ บทต. ที่ รฟท. ได้เคยจัดซื้อมาในช่วงที่ผ่านมานั้น มีการต้องเข้าซ่อมบำรุงน้อยมาก ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การซ่อมบำรุงดูแลรักษา แต่อยู่ที่การตอบสนองนโยบายรัฐเรื่องการขนส่งสินค้า ซึ่งไม่เพียงขนส่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) แต่ต้องเชื่อมไปยังมาเลเซีย และจีนด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ส่ง 'มท.2-อธิบดีกรมที่ดิน' แจงปมเขากระโดง
'อนุทิน'ส่ง 'มท.2- อธิบดีกรมที่ดิน' แจงปมเขากระโดง 'ทรงศักดิ์' ขอบคุณ กมธ.ที่ดินให้โอกาสแจง โอดสงสารชาวบ้านกว่า 900 รายได้รับผลกระทบ 'พูนศักดิ์' ยันพิจารณายึดข้อกฎหมายไม่โยงการเมือง
อธิบดีกรมขนส่งฯ ขึงขังขีดเส้น 2 สัปดาห์คุ้ยวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถ!
'อธิบดีกรมขนส่งฯ' เผยตั้ง คคก.ชุดพิเศษ สอบหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติของ จนท. ตรวจสภาพรถ-ถังแก๊ส ถูกต้องหรือไม่ขีดเส้น 2 สัปดาห์
เดือด!รุมซักอธิบดีกรมขนส่งฯ ปมตรวจทิพย์-การนับอายุรถบัส
'อธิบดีกรมขนส่งฯ' พร้อมคณะ เข้าแจงกรณีรถบัสไฟไหม้ 'กมธ.คมนาคม' รุมซัก 'ชัชวาล' ถามตรวจทิพย์หรือไม่ ด้าน 'พีระเดช' งงนับอายุรถตั้งแต่ปีไหน
รฟท.ขยายเวลาลดค่าบริการจอดรถสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึง 15 ก.พ.68
‘การรถไฟฯ’เดินหน้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ปรับลดค่าบริการจอดรถชั้นใต้ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึง 15 ก.พ.68 ให้จอดฟรี 30 นาที ชั่วโมงที่ 1-2 เริ่ม 15 บาท