ส.ยานยนต์ เผยหน่วยงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์จีน ปักหมุดตั้งสำนักงานที่ไทย หวังเป็นตัวกลางประสานงานผู้ผลิตรถ EV เปิดทางให้เข้ามาลงทุนในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2 ต.ค. 2566 – นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในไทย ว่าล่าสุดประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Office) ของ China Automotive Technology and Research Center (CATARC) ซึ่งเป็นหน่วยความเข้มข้นทางเทคนิคของอุตสาหกรรมยานยนต์ภายใต้คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารสินทรัพย์ของรัฐของสภาแห่งรัฐของจีน อีกทั้งยังเป็นองค์กรสนับสนุนด้านเทคนิคสำหรับการวางแผนอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติ โดยการเลือกประเทศไทยนั้นจะเป็นตัวกลางในการประสานงานกับผู้ผลิต EV ในจีนในการเข้ามาลงทุนในไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“จากการที่ CATARC เลือกไทยเป็นสำนักงานภูมิภาค จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนทางด้าน EV ของจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะผลักดันให้ไทยศูนย์กลาง หรือฮับ (HUB) ทางด้าน EV หรือยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาค และต้องบอกว่าเมื่อมีหน่วยงานสนับสนุนมาที่ไทยแล้ว การที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ลงทุนจะตามมาก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องดังกล่าวนี้ต้องยกเครดิตให้กับหน่วยงานของไทยหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนจะมุ่งเน้นเรื่องรถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle : NEV) โดยมีเป้าหมายในการขยายฐานการผลิตมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในระยะต่อไปน่าจะเห็นการลงทุนอีกมากสำหรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ของจีนในไทย และสำหรับไทยนั้น คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ด EV) ได้ออกแนวทางการส่งเสริม EV ตามนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้ประกอบการจีนเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 7 รายมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 3.5 แสนคันต่อปี ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยในอนาคตจะต้องมีการเพิ่มไลน์การผลิต รวมถึงการมีพันธมิตรทางธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ไทยจะต้องมีการพัฒนาระบบให้สอดรับกับเทคโนโยีที่จะเกิดขึ้น เเพราะจีนกับไทยมีระบบ (System) ที่แตกต่างกัน เช่น การใช้ถนน หรือสัญลักษณ์การจราจร โดยทางสถาบันยานยนต์ก็กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อรองรับ
ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของ CATARC ในไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยได้พื้นที่ในการจัดตั้งสำนักงานเรียบร้อย ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้น่าจะแล้วเสร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุตฯปลื้ม ตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีนสำเร็จ เสริมเป้าหมายฮับรถอีวี
อุตฯปลื้ม ตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีนสำเร็จ เสริมเป้าหมายฮับรถอีวี