ภาคประชาชน คือ หัวใจการแก้ปัญหาประเทศ

26 ก.พ. 2567 – ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราขณะนี้มีปัญหามาก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขณะที่การแก้ปัญหาโดยผู้ที่เกี่ยวข้องทําได้ช้า ทำให้ปัญหาไม่มีการแก้ไขอย่างที่ควร ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงมีคําถามว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ในการแก้ปัญหา วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้ นั้นคือ บทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาประเทศ

ในสังคมประชาธิปไตย โครงสร้างสังคมแบ่งได้เป็นสามส่วน

หนึ่ง ภาครัฐ หรือ Public Sector ที่เกี่ยวกับการปกครองและบริหารประเทศ หมายถึงฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และองค์กรที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสาธารณะที่ใช้เงินและงบประมาณแผ่นดิน นี่คือส่วนที่หนึ่งของสังคมหรือ the first sector

สอง ภาคเอกชน หรือ Private sector ที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐและจัดตั้งขึ้นเพื่อหากําไร เช่นบริษัทธุรกิจต่างๅ เป็นส่วนที่สองของสังคม หรือ the second sector

สาม คือส่วนที่เหลือ หมายถึงภาคประชาชนหรือประชาสังคม คือ Civil society ที่ไม่อยู่ในโครงสร้างภาครัฐหรือใช้เงินภาครัฐเหมือนส่วนที่หนึ่ง ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อหากําไรเหมือนส่วนที่สอง แต่อยู่ระหว่างกลาง เป็นอิสระ ไม่แสวงหากําไรทั้งเพื่อสมาชิกหรือผู้จัดตั้ง เช่น สมาคม วัด มูลนิธิ องค์กรการกุศล นี่คือส่วนที่สามของสังคม หรือ the third sector

สามส่วนนี้คือเสาหลักของสังคมที่ต้องช่วยกันเกื้อกูลให้ประเทศเติบโต มีเสถียรภาพ และสังคมมีความสุข ซึ่งบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาประเทศก็จะมาจากภาคประชาชนหรือ the third sector ที่เข้มแข็ง ผ่านการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆในภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น

ในประเทศเรา องค์กรภาคประชาชน หรือที่เรียกกันว่า องค์กรไม่แสวงหากําไร มีบทบาทสำคัญในสังคมเพราะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จากที่องค์กรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่างๆ เช่น การศึกษา การออม ศาสนา วัฒนธรรม บริการสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กีฬา การรักษากฎหมาย สิทธิและความเป็นธรรมในสังคม องค์กรเหล่านี้มีหลายประเภทและรูปแบบการจัดตั้งแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ พันธกิจขององค์กรจะมุ่งไปที่ประโยชน์ที่จะมีต่อส่วนรวม ไม่ไช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทําหน้าที่โดยไม่มุ่งหากำไร ไม่ว่าเพื่อสมาชิกในกลุ่มหรือผู้ก่อตั้ง และผู้ที่มาร่วมในองค์กรทำงานด้วยความสมัครใจ มีพันธกิจขององค์กรเป็นแรงจูงใจ พร้อมสละเวลา ทุนทรัพย์ ใช้ความรู้และประสบการณ์ เข้ามาช่วยให้เป้าหมายและพันธกิจขององค์กรประสพความสำเร็จ

ปัจจุบันประเทศเรา มีองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐและเป็นองค์กรแบบไม่แสวงหากําไรมากและหลากหลาย จึงสำคัญที่ต้องแยกแยะให้ถูกว่าองค์กรแบบไหนถือเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เป็นส่วนที่สามของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถพิจารณาได้ในสองมิติ คือเเหล่งเงินสนับสนุน และประโยชน์ที่ได้จากการทำหน้าที่ขององค์กรว่าตกอยู่กับใคร ส่วนตนหรือส่วนรวม

ในมิติแรก อย่างที่กล่าว องค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือใช้ประโยชน์ทรัพยากรภาครัฐ แม้พันธกิจจะเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสาธารณะหรือส่วนรวม ก็ต้องถือว่าไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน เช่น สถานีโทรทัศน์สาธารณะที่มีงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน

มิติที่สองคือผู้ที่ได้ประโยชน์ คือแม้องค์กรจะไม่แสวงหากําไร อยู่ในภาคเอกชนไม่ใช่ภาครัฐ แต่ถ้าผู้ได้ประโยชน์จํากัดอยู่เฉพาะกลุ่ม เช่น เฉพาะสมาชิกองค์กร ไม่แผ่กระจายหรือให้ประโยชน์ต่อส่วนรวมในวงกว้าง ก็ต้องถือว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน เช่น สมาคมการค้าที่ประโยชน์ตกอยู่กับบริษัทที่เป็นสมาชิก หรือสหภาพแรงงานที่มีเงินสนับสนุนจากสมาชิกและทําเพื่อประโยชน์ของสมาชิก การพิจารณาโดยให้ความสําคัญกับสองมิตินี้ทําให้เราจะสามารถแยกแยะองค์กรภาคประชาชน หรือ ส่วนที่สามของสังคมได้อย่างชัดเจนและแม่นยำขึ้น

คําถามของบทความวันนี้คือ องค์กรภาคประชาชนสามารถมีบทบาทได้อย่างไรในการช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ

ในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจว่าเหตุผลหลักที่ทำให้บทบาทของส่วนที่สามของสังคม คือภาคประชาชนสำคัญโดยเฉพาะต่อการแก้ปัญหาของประเทศ ก็มาจากช่องว่างที่เกิดจากการทำหน้าที่ของส่วนที่สองและส่วนที่หนึ่งคือ ภาคเอกชนและภาครัฐ ที่ทำให้ประเทศหรือสังคมมีปัญหาและเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้

ในระบบทุนนิยม เป้าหมายของภาคเอกชนหรือส่วนที่สองของสังคมคือการทำกําไร และวิธีการทํากําไรอาจทําให้เกิดช่องว่างหรือปัญหาในสังคมตามมาเพราะการทํางานของกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การแข่งขันมีน้อย ผู้ซื้อผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากัน ทำให้สินค้าที่ประชาชนต้องการไม่มีการผลิต หรือมีการผลิตแต่ราคาแพงจนประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึง หรือการผลิตสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เกิดเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบและนำไปสู่ความเหลื่อมลํ้าในสังคม

ขณะที่ส่วนที่หนึ่งของสังคม คือภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องแก้ปัญหาเพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็อาจทําหน้าที่ไม่ดีพอทําให้ปัญหายังมีอยู่เพราะขาดความรู้หรือข้อมูลที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรือแก้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทําให้ความเดือนร้อนของประชาชนยังมีอยู่ จนประชาชนที่เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตรงกับรูปแบบใหม่ของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดังนั้น ถ้าส่วนที่สาม หรือ the third sector ของประเทศเข้มแข็ง ประเทศก็ได้ประโยชน์จากการระดมความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์ที่ภาคประชาชนมีเข้ามาช่วยประเทศแก้ปัญหา ทําให้การแก้ปัญหาจะตรงจุด ตรงประเด็น และมีโอกาสสำเร็จสูงเพราะประชาชนมีส่วนร่วมและสนับสนุน

ที่สำคัญภาคประชาชนที่เข้มแข็งคือการสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถรวมตัวและมีบทบาทมากขึ้นในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนี้ ภาคประชาชนหรือ the third sector ที่เข้มแข็งจะเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมต่อ ตรวจสอบ และรักษาดุลยภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ไม่ให้ระบบทุนนิยมของประเทศเลยเถิดจนสร้างปัญหาให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็เสริมความสามารถของภาครัฐในแก้ปัญหาและในการทำนโนยายสาธารณะ ทำให้การทําหน้าที่ของภาครัฐจะเป็นประโยชน์มากขึ้นต่อส่วนรวม เป็นวินวินสําหรับทุกฝ่าย

นี่คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้และเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทําให้เกิด คือ ทําให้ภาคประชาชน หรือ เสาหลักที่สามของประเทศเข้มแข้ง ความเข้มแข็งของเสาหลักที่สาม หรือ the third sector คือหัวใจของการสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล มีพลัง และมีเสถียรภาพ ที่ภาคประชาชนสามารถช่วยและเสริมการทําหน้าที่ของภาครัฐและภาคเอกชนในการให้บริการประชาชน แก้ปัญหา และพัฒนาประเทศ

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน