'โฮมโปร' ปี 66 โตกระฉูด กวาดรายได้ทะลุ 7.2 หมื่นล้านบาท

โฮมโปร โชว์ผลประกอบการปี 2566 มีรายได้ 72,821.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,432.34 ล้านบาท หรือ 4.95% โดยมีกำไรสุทธิ 6,441.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224.47 ล้านบาท หรือ 3.61% มีผลมาจากการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของโฮมโปร และเมกาโฮม รวมถึงการขยายสาขาในปี 2566 การจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น

1 มี.ค. 2567 – นายวีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ โฮมโปร (HomePro) เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2566 ว่า “บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 72,821.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,432.34 ล้านบาท หรือ 4.95% โดยมีกำไรสุทธิ 6,441.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224.47 ล้านบาท หรือ 3.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการขายสินค้า
และรายได้จากการให้บริการลูกค้า (Home Service) จำนวน 68,283.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,192.43 ล้านบาท หรือ 4.90% ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของโฮมโปรและเมกาโฮม จากการขยายสาขาตั้งแต่ปี 2565 การจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ (Trade In) รวมถึงการผลักดันยอดขายจากการจัดกิจกรรมและงานต่างๆ ได้แก่ งาน HomePro Super Expo ที่โฮมโปรทุกสาขาทั่วประเทศ และทางออนไลน์ งาน HomePro Expo ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และกิจกรรม Double Day ในช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้าจากช่องทางการซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายได้ค่าเช่า จำนวน 1,882.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161.65 ล้านบาท หรือ 9.39% จากปีก่อน
เป็นผลมาจากการจัดเก็บรายได้ค่าเช่าพื้นที่เช่าในสาขาของโฮมโปรและศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจได้มากขึ้น
การรับรู้รายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่เช่าในโฮมโปรสาขาใหม่ และรายได้ค่าเช่าจากการจัดงานใหญ่ HomePro Expo ในช่วงไตรมาส 4 และบริษัทฯ ยังมีรายได้อื่นๆ อีกจำนวน 2,656.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.27 ล้านบาท หรือ 3.04% โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้าทั้งในช่องทางสาขา ช่องทางออนไลน์ และมีกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้าและการให้บริการลูกค้า (Home Service) รวมจำนวน 18,165.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,152.49 ล้านบาท หรือ 6.77% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายก็เพิ่มขึ้นจาก 26.14% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 26.60%  ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงรายได้จากการบริการ Home Service ที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนค่าขนส่งในการกระจายสินค้าสู่สาขาจะปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันก็ตาม”

นายวีรพันธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตขึ้นแบบชะลอตัวลงเล็กน้อย จากข้อจำกัดในด้านต่างๆ อาทิ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวลง สืบเนื่องมาจากอุปสงค์ของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง ด้วยแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้หลังการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมานี้ โดยมีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าเป้าหมายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 แต่ยังส่งผลให้เกิดการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดการจ้างงาน และการขยับขยายธุรกิจเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงครึ่งแรกของ ปี 2566 รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ได้แก่ มาตรการช้อปดีมีคืน โดยมีระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งส่งผลให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลบวกของธุรกิจค้าปลีกทั้งในส่วนของยอดขายในช่องทางสาขาและออนไลน์ที่เติบโตขึ้น รวมถึงช่วงฤดูร้อน มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้ยอดขายสินค้ากลุ่มเครื่องทำความเย็น อาทิ พัดลม และ เครื่องปรับอากาศ เพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ (Trade In) โดยลูกค้าสามารถนำสินค้าเก่ามาแลกส่วนลดในการซื้อสินค้าใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขายและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน และเป็นการผลักดันยอดขายส่วนหนึ่ง ส่งผลให้ยอดขายของครึ่งปีแรกโดยรวม มีการเติบโตอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่จากกระบวนการที่มีความล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมีการขยายเวลาออกไปนานขึ้น ส่งผลให้การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน มีผลบังคับใช้ในปี 2567 เป็นต้นไป จึงเกิดการชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงครึ่งปีหลัง

“ในครึ่งปีหลังนี้ ยังได้รับผลกระทบจากหลายด้าน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังโดยรวมต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น งาน HomePro Super Expo ที่โฮมโปรทุกสาขาทั่วประเทศและทางออนไลน์ งาน HomePro Expo ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และกิจกรรม Double Day ในช่องทางออนไลน์” นายวีรพันธ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บัตรเครดิต โฮมโปร วีซ่า แพลทินัม กับสิทธิพิเศษเหนือกว่าเดิม ให้ทุกการช็อปเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านคุ้มค่า

การเลือกของเข้าบ้านทุกชิ้นต้องใส่ใจในดีเทล แอร์ยี่ห้อไหนดี ตู้ โต๊ะ โซฟาแบบไหนดีไซน์สวยและเหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะทำให้บ้านทั้งหลังเป็นบ้านสมบูรณ์แบบ

บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 2/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 43,085 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตกว่า 15%

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 2/67 เท่ากับ 43,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาทจากปีก่อน

บจ. มีผลประกอบการในไตรมาส 2 ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจน้ำมัน

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานงวดหกเดือนแรกปี 2567 มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโต ขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่ธุรกิจภาคบริการ อุปโภคบริโภค อีกทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น