มองเศรษฐกิจอาเซียน-จีน เดือนมีนาคม 2567 จีนออกมาตรการกระตุ้น จับตานโยบายของผู้นำใหม่อินโดนีเซีย

อัพเดทเศรษฐกิจอาเซียน-จีน เดือนมีนาคม 2567 จีนออกมาตรการหนุนตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ ตลาดอสังหาฯ เวียดนามผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จับตานโยบายของผู้นำใหม่อินโดนีเซีย

5 มี.ค. 2567 – ตั้งแต่ต้นปี 2567 ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก ทางการจีนออกมาตรการต่างๆ เพื่อเข้ามาหนุนตลาด เช่น การพิจารณาจัดตั้งกองทุน 2 ล้านล้านหยวนเพื่อใช้พยุงตลาดหุ้น การออกกฎระเบียบห้ามการขาย short-sell การเปลี่ยนประธานและหัวหน้าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์คนใหม่ และล่าสุดจีนได้มีคำสั่งห้ามนักลงทุนสถาบันขายหุ้นในช่วงก่อนตลาดเปิด-ปิดในแต่ละวัน ซึ่งในแต่ละครั้งที่จีนมีการประกาศมาตรการ

หลังมีการออกมาตรการ ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าว แต่หลังจากนั้นตลาดก็จะปรับตัวลดลง เป็น การสะท้อนว่ามาตรการของทางการที่เข้ามาพยุงตลาดหุ้นของจีนช่วยประคับประคองตลาดและลดความผันผวนได้ในระยะสั้น ทั้งนี้ ณ วันที่ 29 ก.พ.67 ดัชนี CSI 300 ปรับเพิ่มขึ้นได้กว่า 2% เมื่อเทียบกับปลายปี 66 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีกองทุนรัฐบาลจีน (National Team) หรือ ได้เข้าซื้อหุ้นในประเทศเป็นจำนวนเงิน 4.10 แสนล้านหยวน  โดยคาดว่าจะยังมีการซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัวทำให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น โดยทางการจีนได้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่าน PSL (Pledged Supplementary Lending) จำนวน 150 พันล้านหยวนในเดือนม.ค.67 โดยคาดว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธนาคารรัฐรายใหญ่ของจีน เช่น ธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีนได้เริ่มมีการพิจารณาวงเงินกู้จัดสรรให้กับโครงการต่าง ๆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ (Whitelist) แล้ว ซึ่งยังต้องติดตามว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะนำเงินที่ได้จากการจัดสรรไปจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างไร

นอกจากนี้ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR 5 ปี (ดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับที่อยู่อาศัย) ลงมากกว่าคาดและมากกว่าอัตราการปรับลดในอดีตที่ 0.25% มาอยู่ที่ 3.95% ทางการจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดย Bloomberg คาดการณ์ว่าในปี 67จีนมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 30 bps และปรับลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงได้อีก 100 bps

ด้านการบริโภคในประเทศจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ในช่วงเทศกาลวัดหยุดตรุษจีน (10-17 ก.พ. 2567) ชาวจีนได้มีการเดินทางในประเทศถึง 474   ล้านทริป เพิ่มขึ้น 34.3% YoY และมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 632.7 พันล้านหยวน (+47.3%YoY) ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 นอกจากนี้ ชาวจีนมีการท่องเที่ยวผ่านรถไฟสูงถึง 99.5 ล้านทริป เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศในระยะต่อไป

จีนยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปของจีนหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน (รูปที่ 3) แต่สาเหตุการปรับลดลงเกิดจากราคาอาหารสดอย่างเนื้อหมูเป็นหลัก ในขณะที่ดัชนีผู้บริโภคพื้นฐานยังคงเป็นบวก ยอดค้าปลีกของจีนในเดือนธ.ค.2566 พบว่ายังขยายตัวได้อยู่ที่ 7.4%YoY อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  (GDP deflator) ที่ครอบคลุมทุกสินค้าและบริการในประเทศปรับตัวลดลงโดยทั้งปี 2566 อยู่ที่ -0.6% นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนปรับตลดลงติดลบ 16 เดือนติดต่อกันโดยในเดือนม.ค.67 อยู่ที่ -2.5% บ่งชี้ว่าสถานการณ์เรื่องการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดของจีนยังมีความเสี่ยงอยู่

ติดตามการประชุมสองสภาของจีนในเดือนมี.ค. ซึ่งจะมีการรายงานผลงานรัฐบาลในปีที่ผ่านมา แนวนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจของปี 2567 โดยจะมีการประกาศเป้าหมายตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ตัวเลขเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณ และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่าจีนจะตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2567 ไว้ที่ 5.0% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ 4.5%

ท่ามกลางวิกฤตทะเลแดง มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% การส่งออกเวียดนามคาดว่าจะขยายตัวจากการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกและฐานที่ต่ำในปีก่อน ส่วนวิกฤตทะเลแดงคาดว่าจะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งไปยังตลาดยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามอยู่ในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนซึ่งปกติจะขนส่งสินค้าทางอากาศ จึงได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่าสินค้าที่ขนส่งทางทะเล เช่น สินค้าสิ่งทอและรองเท้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 6.0% ในปี 2567 โดยกระทบเชิงลบของวิกฤตทะเลแดงจะมีค่อนข้างจำกัด

ส่วนมูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 42.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 33.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว 86.1% ผลไม้และผัก 112.1% รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าสมาร์ทโฟนและส่วนประกอบ 15.8%

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เวียดนามมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำที่สุดและเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากนโยบายภาครัฐ โดยรัฐบาลเวียดนามได้พยายามจะคลี่คลาย 3 ปัญหาใหญ่ ประกอบด้วย

1.ปัญหาสินเชื่อตึงตัว (Credit crunch) อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเฉลี่ย  ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9% จากระดับเกือบ 10% ในปีก่อน นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ FDI ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเพิ่มขึ้นถึง 1992% ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เวียดนามได้ระดับหนึ่ง

2. ประเด็นด้านกฎหมาย รัฐบาลได้กำหนดราคาที่ดินให้ยืดหยุ่นตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยยกเลิกกรอบการกำหนดราคาที่ดิน 5 ปี และแทนที่ด้วยการประกาศราคาประจำปี ซึ่งน่าจะสะท้อนการประเมินราคาที่ดินในตลาดได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน การปล่อยสินเชื่อในการซื้อที่ดิน และการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

3. ปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่ในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ ในขณะที่กลุ่มระดับล่างยังเผชิญภาวะอุปทานไม่เพียงพอ ซึ่งประเด็นนี้จะยังคงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวของตลาด

ในปี 2567 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 9.2% อยู่ที่ 6 ล้านคน โดยในปีที่ 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 139.5% อยู่ที่ 5.45 ล้านคน ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวไทย (1.82 ล้านคน) และนักท่องเที่ยวเวียดนาม (1.02 ล้านคน) ทั้งนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเพียง 548,000 คน คิดเป็น 23.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ กลับมาเพิ่มขึ้นในระดับ 82.5% ก่อนเกิดโควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่า การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกัมพูชาต้องเผชิญการแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่สูงขึ้นจากไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีมาตรการ Free-visa ให้กับนักท่องเที่ยวจีน อนึ่ง ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในช่วงก่อนโควิด (ในปี 2019) รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระดับ 4,919 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 18.2% ของ GDP ส่วนในปี 2023 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระดับ 3,038 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 62% ของช่วงก่อนโควิด หรือ 9.6% ของ GDP

เศรษฐกิจกัมพูชายังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงในประเทศเกิดจากระดับหนี้ภาคเอกชน (private debt) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 160% ของ GDP อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากโครงการที่สร้างไม่เสร็จจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนประสบปัญหาจนไม่สามารถลงทุนก่อสร้างต่อในหลายโครงการ และอุปทานส่วนเกินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศก็เป็นผลพวงมาจากการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าการลงทุนจากจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่ำกว่าคาด ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้

เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตช้าลงที่ 5.05% ในปี 2566 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นบวกกับการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก ทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวในระดับต่ำที่ 1.32% การอ่อนแรงของการส่งออกตลอดปีแม้จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2566 หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP (จากที่เคยเกินดุล 13.2 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือ 1% ของ GDP ในปี 2565) แต่การลงทุนทางตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไหลเข้ามาช่วยบรรเทาชดเชยผลจากด้านการค้า ทำให้ในปี 2566 อินโดนีเซียมียอดดุลการชำระเงินเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2566 (จากที่เกินดุล 4.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2565)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2567 น่าจะรักษาระดับการเติบโตได้ที่ใกล้เคียง 5%  จากแรงหนุนผ่านการบริโภค การลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศที่ยังคงเติบโตตามนโยบายภาครัฐในการดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ แผนการสร้างเมืองหลวงใหม่จะใช้งบประมาณในปี 2567 เป็นมูลค่า 40.6 ล้านล้านรูเปียะห์ (2.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือประมาณ 0.19% ของ GDP จะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจอีกทางท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนจะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในระยะข้างหน้า

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบื้องต้นชี้ชัดว่านายปราโบโว สุเบียนโต จากพรรค Gerindra ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงสูงสุดที่ 58.48% ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำใหม่จะยังสานต่อนโยบายของของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด โดยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะประกาศในช่วงปลายเดือนมี.ค.และประธานาธิบดีคนใหม่จะเริ่มเข้ารับตำแหน่งในช่วยปลายเดือน ต.ค.2567

แนวทางนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อาจทำให้อินโดนีเซียมีแนวโน้มขาดดุลการคลังมากขึ้นในปีงบประมาณ 2568 โดยเฉพาะโครงการจัดหาอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กนักเรียนที่จะถูกผลักดันเป็นโครงการแรกในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งต้องใช้วงเงินสูงถึง 400-450 ล้านล้านรูเปียะห์ (25.6-28.9 พันล้านดอลลาร์ฯ) ส่งผลให้การคลังขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ต่อ GDP จากที่ขาดดุลอยู่ที่ 2.29% ต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมนโยบายอื่นๆ ที่อยู่ในแผนงาน ซึ่งหากมีการดำเนินการเพิ่มเติมคงทำให้การขาดดุลการคลังของอินโดนีเซียสูงขึ้นไปอีก

ค่าเงินกีบยังคงผันผวนในทิศทางอ่อนค่า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาว ยังคงอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา อาทิ เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตและการสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน การออกพันธบัตรออมทรัพย์สกุลเงินกีบเพื่อดึงเงินทุนไหลเข้าประเทศ ซึ่งแนวทางดังกล่าวล้วนต้องใช้เวลา ซึ่งค่าเงินกีบในเวลานี้จึงยังอ่อนค่าอยู่ที่ 19,483 กีบ/ดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 4 มี.ค. 2567 อ่อนค่าต่อเนื่องจากปลายปี 2566 อยู่ที่ 19,162 กีบ/ดอลลาร์ฯ

การรักษาเสถียรภาพค่าเงินกีบเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ที่ภาครัฐตั้งเป้าดึงให้เงินเฟ้อมาอยู่ระดับต่ำที่ 9% ในปี 2567 จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 25.35% ในเดือนก.พ. ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 24.44% ในเดือน ม.ค. โดยเป็นผลจากการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลต้นปี ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า ยาและเวชภัณฑ์การแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ในบ้าน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ได้23แข้ง'ชบาแก้วU17' ลุยชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย ที่อินโดนีเซีย

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศ รายชื่อ 23 นักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี เข้าร่วมการแข่งขัน ฟุตบอลหญิง ชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย (AFC U17 Women’s Asian Cup Indonesia 2024 Finals) ระหว่างวันที่ 6-19 พฤษภาคม 2567 ที่ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้

จำได้ไหม? 'จางเจ๋ออวี่' เด็กน้อยกตัญญูจาก Master Class สู่ศิลปินคุณภาพ

เด็กน้อยกตัญญู จางเจ๋ออวี่ (张泽禹) จากรายการ Master Class ที่วัย 10 ขวบในตอนนั้น จนถึงวันนี้เขาได้เติบโตเป็นศิลปินฝึกหัดที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ความสามารถล้นเหลือ และกำลังเดินทางตามความฝันของตัวเองอย่างแข็งขันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย