พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อไทยไทยต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

3 ก.ย. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้มีการติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศดังกล่าวเนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในภูมิภาค ตลอดจนรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดอาเซียน โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – มิ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ซึ่งคำนวณโดยใช้ข้อมูลตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของ 9 ประเทศในอาเซียนที่ประกาศตัวเลขฯ จากฐานข้อมูล CEIC พบว่า ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับ 6 เดือนแรกของปีก่อน ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ บรูไน ร้อยละ -0.26 อันดับ 2 คือ ไทย ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง และอันดับ 3 – 9 คือประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเป็นบวก ได้แก่ กัมพูชา ร้อยละ 0.26 มาเลเซีย ร้อยละ 1.81 อินโดนีเซีย ร้อยละ 2.79 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.87 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 3.55 เวียดนาม ร้อยละ 4.08 และลาว ร้อยละ 25.29 ตามลำดับ

ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรก (AoA) ต่ำที่สุดในอาเซียน คือ บรูไน (ร้อยละ -0.26) สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าและบริการด้านที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำ ก๊าซ และการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในตะกร้าสินค้าที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ บรูไนเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและรายได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายทางการเงินและมาตรการควบคุมราคาสินค้า จึงอาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ โดยธนาคารกลางบรูไน (BDCB) ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 จะอยู่ในช่วงร้อยละ -0.5 ถึง 0.5

ขณะที่ ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรก (AoA) สูงที่สุดในอาเซียน คือ ลาว (ร้อยละ 25.29) ซึ่งลาวมีฐานการผลิตภายในประเทศที่ยังไม่แข็งแกร่งมากนัก จึงต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยจากข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของลาวแตะจุดสูงสุดในรอบปี 2567 ที่ร้อยละ 26.15 (YoY)

นอกจากนี้ เวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อยู่ที่ร้อยละ 4.08 (AoA) แต่ยังคงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่า GDP เวียดนามขยายตัวที่ร้อยละ 6.42 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 จากการเติบโตของภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งหากมองเศรษฐกิจของเวียดนามในภาพรวม ถือว่าค่อนข้างโดดเด่นในกลุ่มอาเซียนจาก GDP ที่เติบโตสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 4.0-4.5

ส่วนอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ คือ มาเลเซีย ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.81 (AoA) โดยมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในอาเซียน ถึงแม้เงินเฟ้อของมาเลเซียจะยังไม่เข้ากรอบประมาณการของธนาคารกลางที่อยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.5 แต่มีความใกล้เคียงและเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก GDP ในไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.9

สำหรับประเทศไทย ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน โดยมีสาเหตุสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับราคาค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ณ กรกฎาคม 2567) ซึ่งใกล้เคียงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2567 ที่ร้อยละ 0.7 (ณ เมษายน 2567)

นายพูนพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศในอาเซียนมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงนโยบายทางการเงินและความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในอนาคต ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ภัยธรรมชาติ และมาตรการของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยอื่นที่หนุนภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเดินหน้าผลักดันปัจจัยดังกล่าวต่อไป และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็จะดำเนินงานในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยยึดหลักสร้างสมดุลให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจและประชาชน การขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจ SME รวมทั้งการรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ เพื่อผลักดันภาคการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจการค้าของไทย และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกันลงทุนไทยเพิ่ม

“พิชัย” ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกัน AMCHAM ลงทุนไทยเพิ่ม เร่งใช้แต้มต่อ FTA ไทย ผลักดัน ศก. ไทยเติบโตรวดเร็ว หลังเตรียมเยือนดาวอส ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกกับยุโรป

พาณิชย์ หารือ สตช. ร่วมมือเร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล

“พาณิชย์” เข้าพบ “บิ๊กต่าย” หารือแนวทาง มาตรการ ข้อกฎหมาย และความร่วมมือ 2 หน่วยงาน เร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล เตรียมร่วมมือทุกรูปแบบ ทั้งประสานข้อมูล ตรวจค้น บังคับใช้กฎหมาย นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อกำจัดอาชญากรทางเศรษฐกิจ ลดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลตีปี๊บเยียวยาเอกชนใน 8 จังหวัดน้ำท่วมภาคใต้

รัฐบาลเดินหน้าเยียวยานิติบุคคลใน 8 จังหวัดอุทกภัยภาคใต้ สั่งออกมาตรการขยายระยะเวลาจดทะเบียนนิติบุคคล แจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การนำส่งงบการเงินได้ หลังสถานการณ์สิ้นสุดลง

พาณิชย์บุกเชียงใหม่จัดธงฟ้า

"พาณิชย์" จัดธงฟ้าฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง ยกทัพสินค้ากว่า 1,000 รายการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้

“นภินทร” ยกทัพ พาณิชย์-สสว.ททท. ขึ้นดอยช้าง ช่วย MSME เร่งสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน ดึงจุดขายจดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่า ผลักดันส่งออก

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ หมู่บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมภาครัฐพบกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย

“นภินทร” ดึงจุดเด่น “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” เนื้อแน่นนุ่ม ไม่คาว วัตถุดิบชั้นดี GI รังสรรค์ใน ”Thai Select“ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมลงพื้นที่เยี่ยมชมถิ่นกำเนิดของสินค้า GI ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา” โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าของปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา