กทม.ลุยแก้คนไร้บ้าน วางแนวทาง 6 มิติ ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

กทม. กำหนดแนวทางขับเคลื่อนนโยบายคนไร้บ้าน รองผู้ว่าฯกทม. เผยดำเนินงานครอบคลุม 6 มิติ มุ่งทำให้สังคมมองคนไร้บ้านมีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกัน จ่อเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน หน่วยงาน-สถาบันศึกษา-องค์กรเอ็นจีโอร่วมเพียบ

26 ก.ค.2565 - ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านคนไร้บ้านตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เครือข่ายหน่วยงานภายนอก และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายศานนท์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เข้าหารือและลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าเรื่องคนไร้บ้านไม่ใช่แค่เรื่อง บ้าน แต่เป็นทั้งเรื่องงานและเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ที่เราต้องดูแลทั้งวงจร วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ขอความรู้และความร่วมมือ ซึ่งกทม.ทำเพียงฝ่ายเดียวไม่มีทางได้ เพราะเรื่องคนไร้บ้านไม่ใช่เพียงเรื่องของภาครัฐ แต่ต้องบูรณาการความร่วมมือกับทางมูลนิธิต่าง ๆ และอีกหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจของสังคม

“ผมคิดว่าภาครัฐจะต้องเริ่มก่อน แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งสังคมเห็นคนไร้บ้านมีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกันบางทีเราอาจจะรู้สึกว่าคนไร้บ้านทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องออกแบบพื้นที่เมืองให้คนทุกคนเห็นความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ต้องออกแบบเมืองอย่างไรให้ดี โดยมาหารือร่วมกันว่าจะแบ่งเขต (zoning) อย่างไร หรือจะอยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างไร เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ ซึ่งเป็นกระบวนของทั้งทางภาครัฐและกระบวนการความเข้าใจทางสังคมที่เราจะต้องยกระดับไปด้วยกัน” นายศานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการรายงานถึงการดำเนินการด้านคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านฐานข้อมูล 2. มิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย 3. มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 4. มิติด้านอาชีพช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง 5. มิติด้านสุขภาพ และ 6. มิติการบูรณาการช่วยเหลือของหน่วยงานสนับสนุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งทุกมิติล้วนเชื่อมโยงสอดคล้องกัน มีรายละเอียด ดังนี้

สำหรับมิติด้านฐานข้อมูล ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในระยะยาว เพราะปัจจุบันแต่ละหน่วยงาน มูลนิธิต่าง ๆ ได้มีการเก็บข้อมูลคนไร้บ้านไว้ และตัวเลขของแต่ละหน่วยงานนั้นค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน ประธานในที่ประชุมจึงได้เสนอให้มีการทำฐานข้อมูลร่วมกัน โดยจะต้องมีการหารือกันเพื่อจัดรูปแบบ (format) หัวข้อการเก็บข้อมูลต่าง ๆ วิธีการติดตาม (tracking) วิธีการอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้และเกิดประโยชน์กับการเข้าให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านต่อไป ซึ่งประธานฯ ได้มอบหมายสำนักพัฒนาสังคมเป็นตัวกลางประสานในเรื่องนี้

ส่วนมิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ประชุมได้เสนอให้มีEmergency Shelter (ที่พักพิงฉุกเฉิน) จัดหาที่พักเพิ่มเติม เช่น บ้านเช่า ห้องเช่าราคาถูก ห้องเช่าคนละครึ่ง ที่พักอาศัยระยะยาว ที่พักอาศัยถาวร รวมถึงการนำโครงการ “บ้านอิ่มใจ” กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบพื้นที่สวัสดิการและพื้นที่แห่งโอกาส ให้คนไร้บ้านสามารถเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ซักผ้า พักผ่อนหย่อนใจ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนพักค้างคืนแต่หากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้ อาจจะมีโต๊ะลงทะเบียนรับสิทธิต่าง ๆ หรือหากประชาชนที่ต้องการบริจาคอะไร ก็สามารถมาบริจาคได้ที่จุดนี้ ซึ่งสำนักพัฒนาสังคม ได้สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำพื้นที่สวัสดิการไว้ 4 แห่ง ได้แก่ ลานกีฬาใต้ทางด่วนวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ สวนสราญรมย์ และสวนรมณีนาถ โดยประธานในที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่า ให้ลองสำรวจพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เส้นรองเมือง แถวปทุมวัน หรือพื้นที่ที่ทางมูลนิธิได้เสนอ (แถวปิ่นเกล้า) เป็นต้น

ที่ประชุมรายงานต่อว่า มิติที่ด้านอาชีพ ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ผู้แทนคนไร้บ้านได้ให้คำแนะนำว่าหากจะสนับสนุนงานให้คนไร้บ้าน ควรจะเป็นงานรับจ้างทั่วไป ได้เงินเป็นรายวัน ได้เงินทันทีหลังจบงาน และมิติด้านสุขภาพ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยได้หารือกรณี long term care / nursing home ดูแลคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางกายและจิต โดยสำนักพัฒนาสังคมได้รายงานเพิ่มเติมว่าสำนักฯ ได้มีการหาพื้นที่ที่จะทำเป็น long term care ไว้ที่บึงสะแกงาม ซึ่งปัจจุบันได้เปิดเป็นบ้านพักผู้สูงอายุ และยังเหลือพื้นที่อีกหลาย 10 ไร่ ที่จะสามารถพัฒนาเป็น long term care ได้

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านคนไร้บ้านตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่คนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีองค์ประกอบได้แก่ มีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบสำนักพัฒนาสังคม) ผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ศูนย์แม่โขงศึกษาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) มูลนิธิอิสรชน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งประธานในที่ประชุมได้เสนอให้มีผู้แทนคนไร้บ้าน อย่างน้อย 2-3 คน และที่ปรึกษาของรองผู้ว่าฯ ร่วมเป็นคณะทำงานฯ ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ได้มีการหารือในเรื่องอื่น ๆ เช่น กองทุนคืนสิทธิ (กองทุนซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนกลุ่มที่รอพิสูจน์สิทธิ์ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข) กรณีที่ถูกจำหน่ายด้วย ทร.97 (บุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง แล้วไม่ไปแสดงตนภายใน 180 วัน ตามที่กำหนด จึงถูกจำหน่าย) ความเป็นไปได้ในการตั้งทะเบียนบ้านเพื่อบุคคลไร้ที่พึ่ง เพื่อแก้ไขการไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ แฮปปี้หลังรับฟังงานกทม. ชมทำได้ดี บอกรัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือ

นายกฯ แฮปปี้หลังรับฟังงาน กทม. ชมทำได้ดี แนะใช้ช่องทางสื่อสารผลงาน บอกรัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือ ห่วงแท็กซี่-ไกด์ผี มะเร็งกัดกร่อนท่องเที่ยว มอบ ตร. เข้ม ขอบคุณผู้บริหาร กทม. ทำงานเข้มแข็ง -พัฒนากรุงเทพฯ

ห้ามพลาด! กทม. จัดยิ่งใหญ่งาน Bangkok Brand ระดมผลิตภัณฑ์ชุมชนอาหารอร่อยทั่วกรุง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้ดำเนินการคัดสรรผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปีงบประมาณ 2557 และดำเนินการคัดสรรทุก 2 ปี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและมีเอกลักษณ์อย่างต่อเนื่อง กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการ

'2 กมธ.สภา' เลื่อนพบ 'ลุงเปี๊ยก' แนะปิดช่องโหว่เอาผิดเยาวชน

'2 กมธ.' เลื่อนพบ 'ลุงเปี๊ยก' เหตุรู้ตัวคนคลุมถุงดำแล้ว รออาการดีขึ้นก่อน 'ชัยชนะ' แนะปิดช่องโหว่กฎหมาย หลังเด็กครบ 18 ปี นำตัวเข้าคุกต่อ ขณะที่ 'ณัฐชา' จ่อถก พม. หาทางออกคนเร่ร่อน

จับตา 17 ม.ค. 'สภากทม.' เคาะเคลียร์หนี้สายสีเขียว

17 ม.ค.นี้ สภา กทม.สางปัญหารถไฟฟ้า จ่อพิจารณาหนี้ติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย “สายสีเขียว” กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ด้าน “ชัชชาติ” เสนอขออนุมัติงบศึกษา ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน 1.4 หมื่นล้าน

ดีเดย์เปิดผับตี 4 'อนุทิน' ย้ำทำตามกฎหมาย ขู่ยกเลิกประกาศได้ทุกเมื่อ

'อนุทิน' ย้ำเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ขอให้ทุกคนทำตามกฏหมาย ขู่ทำผิดยกเลิกประกาศได้ 'ขัขขาติ' เผย กทม. มีกว่า 140 แห่ง ใน 3 โซน รัชดา-สีลม-อาร์ซีเอ

นายกฯ บอกค่าฝุ่นพิษในกทม. มีขึ้น-มีลง ไม่ต้องประกาศให้ประชาชนทำงานที่บ้าน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า ช่วงที่นั่งรถเดินทางมาก่อนเดินทางขึ้นเครื่อง และส่งข้อมูลได้ฝากฝังและส่งข้อความถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง