พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงเปิดประชุม Voice of the South Summit

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุม Voice of the South Summit ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

12 ม.ค.2566 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม Voice of the South Summit ภายใต้หัวข้อหลัก “เสียงของประเทศกำลังพัฒนา สู่การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Voice of South: For Human-centric Development)” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของ นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย

พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที ของอินเดีย สำหรับหัวข้อการพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจัดขึ้นอย่างเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันที่ประชาชนประสบกับโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตด้านอาหารและพลังงาน จนก่อให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความท้าทาย ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมแรงร่วมใจ โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 แนวคิด ให้อินเดียในฐานะประธาน G20 เป็นกระบอกเสียงให้ผลักดันระบบเศรษฐกิจโลกไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความยั่งยืน และครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังนี้

1. ต้องแสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวมที่ช่วยให้สามารถรับมือกับวิกฤตโลก 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะ เพื่อผลักดันให้การเติบโตหลังวิกฤตโควิด-19 มุ่งสู่ความสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยแนวคิดพื้นฐาน BCG ของไทยและแนวคิดวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอินเดียล้วนมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ตลอดจนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นและยึดหลักธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ ไทยเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาสานต่อผลสำเร็จจากการประชุม COP 27 ซึ่งถือเป็นการประชุม COP ที่ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทนำ และย้ำความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในราคาที่เหมาะสม

2. ไทยเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการร่วมมือกันที่จะผลักดันให้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนามุ่งไปที่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน นายกรัฐมนตรียืนยันสนับสนุนการระดมทุนเพื่อรองรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน และขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไทยชื่นชมบทบาทอินเดียในเรื่องดังกล่าวและพร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ผ่านกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคีเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยทางการแพทย์ และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมการรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่

3. เสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และปุ๋ย ความผันผวนในราคาตลาดได้ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านครัวเรือน ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องยกระดับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน จัดการภาวะวิกฤต และ G20 ควรพัฒนากลไกระดับโลกช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงอาหาร พลังงาน และปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธาน BIMSTEC ปี 2566 ยินดีร่วมมือกับอินเดียเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเดินเรือ พลังงาน และดิจิทัลในภูมิภาคอ่าวเบงกอลให้มากยิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ นายกฯ กล่าวว่า ไทยพร้อมกระชับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับอินเดียในฐานะประธาน G20 รักษาผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนาอย่างครอบคลุม เพื่อจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งสำหรับอนุชนคนรุ่นหลัง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อุ๊งอิ๊ง' ดูไว้! นักการเมืองต้องรักษาสัจจะเหมือน 'อภิสิทธิ์' เคยหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในงานอีเวนต์ ”10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถูกตั้งรัฐบาลผสม

'ชัย' ฟุ้งแค่ไตรมาสแรกต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้าน!

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ชื่นชมผลจากความสำเร็จรัฐบาล ไตรมาสแรกปี 2567 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมโอกาสการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้คนไทย