อัปเดตรอบ 3 กรมอุตุฯ ปรับข้อมูลใหม่คาดหมายลักษณะอากาศ 'ฤดูหนาว 2566'

29 พ.ย.2566 - กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2566 โดยปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุคาดหมายลักษณะอากาศในเดือนธันวาคม 2566 ถึงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดังนี้

ฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ ได้เริ่มต้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ซึ่งช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 4 สัปดาห์* และคาดว่าฤดูหนาวจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 21 - 22 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1 - 2 องศา (ค่าปกติ 19.9 องศา) และจะมีอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 20.8 องศา)

สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 11-12 องศา ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดบริเวณกรุงเทพมหานคร 19 - 20 องศา และปริมณฑล 17 - 18 องศา

ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุด ส่วนมากจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567

สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้

บริเวณภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกในเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นลิ่งได้ในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ในบางช่วงมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

เดือนธันวาคม อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่งความสูงของคลื่น 3 - 4 เมตร

*หมายเหตุ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวล่าช้ากว่าปกติ เนื่องจากสภาวะอากาศบริเวณภูมิภาคเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิกมีความผันแปรจากปกติ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนตั้งแต่ช่วงดือนตุลาคมมีกำลังอ่อนและแผ่ลงมาปกคลุมไม่ต่อเนื่องทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยและมีอากาศเย็นบางพื้นที่ ประกอบกับมีฝนตกเป็นระยะๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์การประกาศการเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทย

ดังนั้นจึงไม่สามารถประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคมได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2566 มาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 วันที่ 30 กันยายน ระบุว่า ฤดูหนาวจะเริ่มประมาณปลายเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 2 สัปดาห์

ครั้งที่ 2 วันที่ 31 ตุลาคม กรมอุตุนิยมวิทยา ปรับปรุงข้อมูลคาดหมายลักษณะอากาศฤดูหนาว ระบุว่า จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 1 เดือน ต้องเลื่อนประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวออกไป

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเริ่มต้นฤดูหนาว ปี พ.ศ. 2566 อย่างเป็นทางการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุตุฯ พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ต้น พ.ค. ฝนเพิ่มเริ่มคลายร้อนบ้าง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 29 เม.ย. - 8 พ.ค. 67

อุตุฯ เตือนร้อนจัด ทะลุ 44 องศา บางพื้นที่ฝนฟ้าคะนอง ลมแรง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด

กรมอุตุฯ เตือนอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง สัญญาณฝนเริ่มมา 3-6 พ.ค. จะมีพายุฤดูร้อน

เพจเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า อากาศยังร้อนและร้อนจัด ต่อเนื่องโอกาสเกิดฝนยังมีน้อย

กรมอุตุฯ ประกาศการเข้าฤดูฝนปี 2567 จะมาช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์ ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดฤดูฝนปี 2567 จะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์