ห่วงหนี้ครัวเรือนแตะ86.6%


เพิ่มเพื่อน    

  "ขุนคลัง" ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งพรวดแตะ 86.6%  ต่อจีดีพี หลังเจอพิษโควิด-19 สะท้อนความเปราะบางด้านการเงินของประชาชน พร้อมวาง 5 แนวทางสำคัญหวังตลาดเงินตลาดทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับมือยกระดับทักษะสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินให้คนไทย ม.หอการค้าไทยประเมินโควิดระลอก 3 เศรษฐกิจเสียหาย 1 แสนล้านบาทต่อเดือน กระทบจีดีพี 1.24% แต่ยังไม่ปรับเป้าจีดีพีปีนี้

    เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน (Financial Literacy) ในพิธีเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย” ว่าสถานการณ์ด้านการเงินของคนไทยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด 4 ประการ ได้แก่ 1. หนี้ครัวเรือนไทย โดยในไตรมาส 3/2563 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.6% ต่อจีดีพี หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางถึงสถานะทางการเงินของคนไทยเมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ
    2.ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 สัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการดูแลสังคมผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นผู้สูงวัย เช่น มีการเก็บออมเงินตั้งแต่วันทำงานเพื่อใช้จ่ายในวันเกษียณ จากข้อมูลของการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยในปี 2560 พบว่าในช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุประมาณ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้หลักจากบุตรหลาน และอีก 31% ต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง 2.3% พึ่งตนเองจากรายได้ของเงินออม สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจมีความเสี่ยงให้ต้องเผชิญภาวะเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต
    3.ผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทย เมื่อไตรมาส 3/2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม และครัวเรือนที่มีการออมเงิน มีประมาณ 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% เมื่อพิจารณาถึงวิธีการออมพบว่า คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม และอีก 38.5% มีพฤติกรรมการออมที่ไม่แน่นอน และอีก 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้ และ 4.ทักษะความรู้ด้านการเงินของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาเหล่านี้เป็นผลสะท้อนทางเศรษฐกิจและสังคมในเชิงโครงสร้างและปัจเฉกบุคคล ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ
    นายอาคมกล่าวอีกว่า ในส่วนแนวทางในการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนในระยะต่อไป ต้องให้ความสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกว่า “อีโคซิสเต็มของตลาดเงินและตลาดทุน” โดยให้ความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ฟินเทค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัยและการกำกับดูแลให้ระบบการเงินและตลาดทุนมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็นต่างๆ ให้เป็นพื้นฐานต่อยอดเรียนรู้ และการสร้างโอกาส เพื่อให้สามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้
    3.การเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง โดยการวางแผนที่ดี และข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ หลังประชาชนต้องมีการปรับตัวในเกือบทุกด้านจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดทักษะที่จะบริหารจัดการเงินให้เกิดความพร้อมที่จะรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่เกิดขึ้นได้ 4. การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออมด้วย เพื่อให้เกิดผลจริง ให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ ลดปัญหาการเงินในครัวเรือนลงได้  และ 5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านความรู้ทางด้านการเงินเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายในทิศทางเดียวกัน สามารถใช้หรือแบ่งปันเนื้อหาองค์ความรู้ หรือเครื่องมือในการให้ความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ประชาชนในการยกระดับความรู้การจัดการการเงินของคนไทย
    “โครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสม เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็ว การมาร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแสดงเจตนาในการสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงินให้กับประชาชน จึงเป็นจุดเริ่มที่จะผลักดันให้ภารกิจในการส่งต่อความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในระดับนโยบาย และการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายอาคมกล่าว
     นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของประธานและสมาชิกหอการค้าไทยจำนวน 237 ตัวอย่าง เพื่อประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย พบว่าทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 3,338 ล้านต่อวัน หรือ 100,140 ล้านบาทต่อเดือน ความต้องการแรงงานลดลง 148,933 คนต่อเดือน ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี 0.62% ต่อเดือน โดยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของทั้งประเทศ หายไปราว 1 แสนล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นโซนสีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด หายไปราว 8.4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และโซนสีส้ม พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด หายไปราว 1.57 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยหากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2 เดือน จะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท หรือกระทบจีดีพี 1.24%
    “การระบาดรอบที่มาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ทำให้มีจำกัดเวลาเปิด-ปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปิดสถานบันเทิง ห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งแม้ไม่ล็อกดาวน์ แต่ก็มีการคุมเข้มสูง ทำให้กระทบความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว รายได้หายไป 10-20% สภาพคล่องทางการเงินแย่ กำไรหดหาย ก่อหนี้มากขึ้น ที่สำคัญคือการไม่ฉีดวัคซีนตามแผนที่วางไว้”
     ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอีก 15 เดือน หรือประมาณกลางปี 2565 และจะกลับมาเป็นปกติในปลายปี ซึ่งภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และเสริมสภาพคล่องให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้
     นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ยังไม่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดไว้ 2.8% เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ที่หายไปราว 2-3 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ประกอบกับการส่งออกปีนี้ขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัว 4-5% แต่รัฐบาลต้องดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นแรงหนุนการส่งออกชดเชยเศรษฐกิจของประเทศที่รายได้หดหายไปจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"