'วีระ'กินยาลืมเขย่าขวด ปูดรัฐบาลจ่อรีดแวต9%


เพิ่มเพื่อน    

    "วีระ" เขย่ารัฐบาล คสช. ขุดพระราชกฤษฎีกาขึ้นแวต 9% มาให้ประชาชนตกใจเล่น อ้างรัฐบาลทหารเสียของ ตั้งหน้าตั้งตารีดเงินจากกระเป๋าประชาชน แต่แท้จริงแล้วเป็นเทคนิคการเขียนกฎหมายมาทุกรัฐบาลตลอด 25 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายเก็บแวตจริงแค่ 7% เหมือนเดิม
    นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบุว่า ประชาชนควรสนใจข่าวที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองให้มากขึ้น ข่าวร้อนข่าวดังที่มาแย่งพื้นที่รับรู้แล้วก็ให้ผ่านไป ควรสนใจในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 
    เช่นเรื่องนี้ รัฐบาลจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 6.3% เป็น 9% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป หมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ราคาสินค้าอาจมีราคาพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่คงที่หรือลดลง ราคาพลังงาน ก๊าซ น้ำมัน พุ่งสูงขึ้น
    เขายังระบุว่า รัฐบาลทหารเสียของ แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการรีดเงินจากกระเป๋าประชาชนอย่างเงียบๆ ด้วยการวางแผนยอกย้อนซ่อนเงื่อนหลอกให้ตายใจ ด้วยการอ้างออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) ลงวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยกำหนดให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ ดังนี้     เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 6.3% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงแค่วันที่ 30 กันยายน 2561 เท่านั้น คนส่วนใหญ่คิดว่ารัฐบาลลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้ แต่ในข้อ 2 ของพระราชกฤษฎีกานี้ กำหนดให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราใหม่ 9% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุด หรือหมายความว่าให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% ตลอดไป”
    เตรียมตัวรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มกันได้บริหารประเทศแบบล้างผลาญกันจนเงินหมด แล้วมารีดภาษีจากประชาชนเอาล้างผลาญกันอีกใครนะ เก่งจัง ออกพระราชกฤษฎีกาหมกเม็ด ถ้ากล้าจริงทำไมไม่เขียนให้ชัดๆ ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม คนไทยตื่นได้แล้ว มารับรู้ความจริงของชีวิตกันเสียที
    อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เคยมีการชี้แจงจากอธิบดีกรมสรรพากรมาแล้วว่าเป็นเทคนิคในการเขียนกฎหมายซึ่งทุกรัฐบาลตลอด 25 ปีที่ผ่านมาจะมีการเขียนไว้แบบนี้ เมื่อถึงปีหน้าเชื่อว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้คงอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ซึ่งเมื่อไปบวกกับภาษีท้องถิ่นก็จะเป็นร้อยละ 7 เหมือนเดิม 
    ประมวลรัษฎากรออกมาเมื่อปี 2534 กำหนดให้เพดานการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 10 แต่หลังจากนั้นในทุกๆ ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2535 ก็จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้คงการเก็บภาษีมูลราคาเพิ่มไว้ที่ 6.3% เหมือนเดิม ซึ่งพระราชกฤษฎีกาก็จะออกมาช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม เป็นเช่นนี้มาตลอด 25 ปี ยกเว้นปี 2540 ที่มีการขยับขึ้นภาษีมูลราคาเพิ่มไปเป็น 10% ในช่วงสั้นๆ เพราะเป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ แต่ต่อมาก็มีการต่อรองและลดลงมาเหลือ 6.3% เหมือนเดิม 
    ทั้งนี้ มีกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้ประชาชนต้องจ่ายภาษีอีก 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กับท้องถิ่น เมื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.3 จึงไปบวกภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 0.7 รวมเป็นต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 นั่นเอง
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD ประจำปี 2561 ซึ่งประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เมื่อปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 30 ในปีนี้ว่า สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้กระทบต่อปัจจัยการประเมินด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ โดยเชื่อว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวการลงทุนนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม 
    ขณะที่ประสิทธิภาพของรัฐเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เช่น การแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีการบริโภค การสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ฯลฯ
    ส่วนปัจจัยการประเมินอีก 3 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากการลงทุนของรัฐบาล มีอันดับดีขึ้น และด้านสภาวะเศรษฐกิจกับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจนั้น มีอันดับคงเดิม
    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า แม้ว่าอันดับโดยรวมของไทยจะลดลง เป็นทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่คะแนนดิบที่ได้รับคือ 79.450 ซึ่งยังคงสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของโลกที่ 76.61 และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย เช่นเดียวกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ด้านสังคม การศึกษา และสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมให้อันดับของไทยดีขึ้นต่อไป
    "นายกฯ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองบางคนวิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีไม่มีพื้นฐานการศึกษาด้านเศรษฐกิจ และ 4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศยังโตไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตอย่างต่อเนื่องว่า รัฐบาลนี้ทำงานเป็นทีม และมีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีผลงานที่ชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ จากที่ดิ่งต่ำสุดและติดลบในช่วงก่อนปี 2557 ขึ้นมาเกือบ 5% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จึงอยากเตือนว่าไม่ควรออกมาพูดเช่นนี้ เพราะสุดท้ายจะกลับเข้าตัวเอง" พล.ท.สรรเสริญกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"