เดินหน้าเร่งฟื้นฟูการบินไทย  ปรับโครงสร้างองค์กรหวังพลิกโอกาสสร้างรายได้


เพิ่มเพื่อน    

ปัญหาที่รุมเร้าและหมักหมมซ่อนเร้นมานาน รวมถึงการขาดทุนที่เรื้อรังรังมากว่า 10 ปี ประกอบกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง หลังจากที่กลุ่มสายการบินโลว์คอสต์เข้ามาเล่นในตลาดตัดราคาแย่งชิงลูกค้า ยิ่งทำให้ธุรกิจการบินซวนเซจนแทบล้มทั้งยืน ต้องประคองตัวไปวันๆ และเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักยิ่งกระชากให้การบินไทยหงายท้อง แบกภาระขาดทุนด้วยหนี้เกือบ 4 แสนล้านบาท จนนำไปสู่การยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟู ซึ่งได้รับการอนุมัติจากศาลให้มีผู้ทำแผนฟื้นฟูตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2563 จนกระทั่งสามารถยื่นแผนดังกล่าวให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา แต่แผนดังกล่าวจะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ทั้งหมดของการบินไทยที่มีกว่า 13,000 ราย และกรมบังคับคดี ในวันที่ 12  พฤษภาคม 2564 เสียก่อน 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการ บมจ.การบินไทย ในฐานะดำรงตำแหน่ง รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า การเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูนั้นถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการบินไทย รวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพราะหากสามารถเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูได้ อย่างน้อยเจ้าหนี้จะได้รับเงินกลับมาราว  40-60% ของมูลค่าหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการปล่อยให้การบินไทยล้มละลายและได้รับการคืนหนี้เพียง 12-13%
เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย
    

"ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาเรื่องของโควิด-19 ก็ทำให้ผู้โดยสารของเราหายไป โดยเฉพาะผู้โดยสารต่างประเทศหายไปถึง 80-90% ดังนั้นในฐานะที่เป็นคนเขียนแผนฟื้นฟู สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการทำให้บริษัทอยู่ได้ก่อน  โดยการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ ลดจำนวนเครื่องบินที่ไม่จำเป็น เจรจาต่อรองลดค่าเช่าเครื่องบินและหารายได้จากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบิน ปรับลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสม และทุกอย่างที่เราทำเสร็จเรียบร้อย ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องบินและพนักงาน ทุกอย่างก็จะเข้าสู่มาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันได้" นายชาญศิลป์กล่าว 

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ เราต่อรองเครื่องบินที่มีหลายแบบให้เหลือน้อยแบบลง และให้เหลือเครื่องยนต์น้อยแบบ รวมถึงได้ลดราคาลงมา  30-50% ดังนั้นต้นทุนเรื่องเครื่องบินเราจะน้อยลง โดยหากสามารถลดความหลากหลายของเครื่องบินลงได้จะทำให้ต้นทุนลดลงหลักหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนการซ่อมที่สูงและค่าอะไหล่เครื่องบิน

สำหรับการลดจำนวนคนที่ผ่านมาได้ปรับลดลงไปบ้างแล้ว และพยายามจะลดลงมาอีก แต่คำว่าลดนั้นคือการปรับตัวถ้าจะทำงานอยู่ และลดจริงทำจริง จากองค์กรที่แต่ก่อนมี 8 ชั้น แต่ตอนนี้เหลือเพียง 5 ชั้น ผู้บริหารแต่ก่อนมี 700 คน แต่ตอนนี้เหลือไม่เกิน 500 คน และมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ คือทำหน้าที่ร่างแผนและขับเคลื่อนทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการวันที่ 1 พ.ค.นี้

"การลดพนักงานลงมาเหลือประมาณ 19,000 คน  และคาดว่าจะลดลงไปเหลือ 15,000-16,000 คนในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งต้องขอบคุณคนการบินไทยที่เสียสละ และเข้าใจถึงสถานการณ์ของบริษัทที่กว่าจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งอาจต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ขณะเดียวกันยังรวมถึงพนักงานของบริษัทในปัจจุบันที่ยอมรับเงินเดือนแบบผ่อนจ่ายตามกฎหมาย นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับเรื่องของสวัสดิการต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับบอร์ดบริหาร เช่น การไม่รับเบี้ยประชุม หากทำได้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จากเดิมที่จ่ายอยู่เกือบ 3 หมื่นล้านบาท จะลดลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท" นายชาญศิลป์ กล่าว


วัคซีนคือความหวัง
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่มีการขาดทุนราว  กว่า 350,000 ล้านนั้น มีการตั้งเป้าภายในปี 2568 มีแนวโน้มว่าจะเริ่มมีกำไร และจำเป็นต้องมีสภาพคล่องเพิ่มเติมขึ้นประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะนำเงินก้อนนั้นมาจากไหน วันนี้ถ้าไม่มีแผนที่อนุมัติจากศาลและไม่มีใครให้กู้เงินใหม่มา ต้องทำธุรกรรมทุกวันและจ่ายเงินให้พนักงานทุกวัน มีค่าใช้จ่ายทุกวัน ทุกเที่ยวบินต้องเหลือค่าใช้จ่าย 

ดังนั้น งานที่ทำคือตั้งแต่ขนส่งคาร์โกไปจนถึงขายอาหารต่างๆ มันต้องมีกำไร และไม่พอต้องขายทรัพย์สินที่ขอกับศาลไปแล้ว ตั้งแต่เครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งได้ขอขาย  5 เครื่องยนต์ อาคาร หรือตึกบางแห่ง เช่นที่อยู่บริเวณหลักสี่ ที่ไม่ได้ใช้ก็ขอขาย ตอนนี้อยู่ในระหว่างการประมูลเพื่อยื่นให้คนมาประมูลราคามา การบินไทยต้องรักษาสภาพคล่องเพื่อให้สามารถอยู่ได้ไปก่อน จนกว่าแผนฟื้นฟูจะผ่านจากศาล และจากนั้นภายใน 2-3 เดือนก็จะสามารถยื่นหนี้ได้ และไม่ต้องจ่ายหนี้ไปถึง 3-4 ปี และเราก็สามารถมีเจ้าหนี้ที่มั่นใจและผู้ถือหุ้นมั่นใจ เราก็มีแหล่งเงินทุนใหม่เข้ามา และตอนนั้นเราหวังว่าเมื่อวัคซีนมา โควิดคลี่คลายไป  ธุรกิจจะกลับมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เริ่มมีวัคซีนแล้วทุกอย่างก็จะเริ่มดียิ่งขึ้น ดังนั้นการบินไทยจะไม่หยุดนิ่ง และที่สำคัญเรามีพนักงานกราวด์ มีแคเทอริง กระทั่งฝ่ายช่าง และมีสายการบินอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนเรา ดังนั้นก็จะสามารถซ่อมและทำการบำรุงรักษาเครื่องบินทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ แต่สนามบินอู่ตะเภานั้นจำเป็นต้องปิด เนื่องจากแผนการสร้างสนามบินและย้ายฐานการบินกลับมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแผนที่จะสร้างสนามบิน นี่คือขีดความสามารถของการบินไทย แม้ว่าจะขายอาหารขึ้นเครื่องไม่ได้หรือขายได้น้อยลงมาก แต่ก็มาทำข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นขนมพัฟฟ์แอนด์พายและปาท่องโก๋ รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องบินก็ฟินได้ 

"เรามีธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่งสินค้า มีคาร์โกทั้งเอเชียและยุโรป และอีกไม่นานก็จะทำเอ็มโอยูโดยการขยายคาร์โกไป และกำลังดูในแต่ละประเทศว่าจะดำเนินการได้อย่างไร เช่นอาจจะเอาผู้โดยสารจากยุโรปบินตรงเข้าจังหวัดภูเก็ตและอยู่ในโรงแรม  หรือผู้โดยสารจากจีนและญี่ปุ่นมาตีกอล์ฟและเข้าพักในโรงแรม หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวของสิงคโปร์หรือฮ่องกง  (เที่ยวแบบกักตัว) เป็นสิ่งที่กำลังเร่งทำ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเข้าใจและกำลังเร่งมือทำ" นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวย้ำว่า นักลงทุนวันนี้ที่มีเงินลงทุนระดับหนึ่ง ซึ่งเขามองว่าธุรกิจการบินนั้นถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุด ดังนั้นอนาคตเมื่อวัคซีนมา การท่องเที่ยวก็จะกลับมาอย่างแน่นอน และการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนหนึ่งที่การบินไทยจะได้นำกลับมาประมาณ 16 ล้านคนต่อปี นำไปสู่การเติบโตของ GDP คิดเป็น 7-8% ต่อปี ดังนั้นภาพต่างๆ ของนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์และนักลงทุนที่หวังมากวันนี้ ดังนั้นเงินใหม่อาจจะมาจากเงินกู้ หรือการลดหรือเพิ่มทุนก็เป็นไปได้ ตอนนี้เรายื่นแผนฟื้นฟูไปแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ ในโลกนี้มีเงินสะพัดอยู่เป็นจำนวนมาก เงินแค่ 30,000 หรือ 50,000 ล้านบาท ผมว่านักลงทุนที่มีภาพไกลๆ นั้น และคิดว่าดีมานด์หรือการบินจะเริ่มกลับมาต้นๆ ปีหน้า

"การมองไปข้างหน้าปี 2568 มองเป้าแต่ละช่วงเป็นอย่างไรนั้น โชคดีที่เราไม่ต้องใช้เงินจ่ายหนี้ใน 3-4 ปีแรก  โชคดีที่ประเทศมีวัคซีนแล้ว และประเทศไทยอย่างรัฐบาล เรื่องการแพทย์ของเราดี แต่ในประเทศไทยเรากลัวคนข้างนอกเข้ามา หลังจากฉีดวัคซีนแล้วเราจะดีขึ้น และเรื่องของการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งสำคัญคือการร่วมมือร่วมใจกันของพนักงาน รวมถึงความเสียสละของคนที่ได้ออกมาและเสียสละให้น้องๆ ได้ทำงานต่อ และมีคนรักการบินไทยอีกมาก" นายชาญศิลป์ กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"