ศาลอุทธรณ์ยืนคุก 'สหพันธรัฐไท' ฐานเป็นอั้งยี่!


เพิ่มเพื่อน    

28 เม.ย.64 - ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก (วานนี้) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีสหพันธรัฐไทย 2 คดี โดยคดีแรก พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง นายกฤษณะ อาษาสู้, นายเทอดศักดิ์ เถียรพุดซา, นางประพันธ์ พิพัธนัมพร, น.ส.วรรณภา คำพิพจน์ และ น.ส.จินดา อัจฉริยะศิลป์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ และอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209 กรณีจำเลยแจกใบปลิว สติกเกอร์ และเสื้อซึ่งมีสัญลักษณ์กลุ่มสหพันธรัฐไท  

พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2561 ระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. - 12 ก.ย. 2561 จำเลยทั้งห้ากับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ในคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข  

จำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าว ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  

โดยจำเลยที่ 1-4 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 5 หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ว่า จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ มาตรา 209 จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2-3 รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 2-3 คนละ 2 ปี ทั้งหมดไม่รอลงอาญายกฟ้องฐานยุยงปลุกปั่นฯ มาตรา 116 ภายหลังโจทก์และจำเลยที่ 1-4 ยื่นอุทธรณ์ 

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กรณีจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตาม ป.อาญา ม.116 หรือไม่ พยานโจทก์มีหลักฐานบ่งชี้สนับสนุนให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1-4 เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไทจริง แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมประกอบข้อความในแผ่นใบปลิวและสติกเกอร์ ไม่มีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นฯ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องความผิดฐานนี้มานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น 

ปัญหาต้องวินิจฉัยจำเลยที่ 1-4 กระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่ การที่จำเลยที่ 1-4 ตัดสินใจเข้าร่วมอุดมการณ์ด้วยการช่วยเหลือให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มสหพันธรัฐไท โดยนำใบปลิว สติกเกอร์ และเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มไปเผยแพร่แจกจ่าย ตลอดจนใช้สื่อสังคมออนไลน์ชี้นำชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเป็นสมาชิก ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1-4 มีเจตนาเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท เมื่อกลุ่มสหพันธรัฐไทมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง นับเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงมีความผิดเป็นอั้งยี่ 

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 อุทธรณ์ว่า การเป็นสมาชิกหมายถึงการร่วมจัดตั้งองค์กร มีตำแหน่งหน้าที่ มีการประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างสมาชิก จำเลยจึงไม่มีความผิดนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำว่าสมาชิกหมายความว่า ผู้มีสิทธิและมีส่วนร่วมในสมาคม องค์การ หรือกิจกรรมใดๆ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1-4 ร่วมกระทำกิจกรรมกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ถือได้ว่าจำเลยที่ 1-4 แสดงเจตนาเข้ามีส่วนร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 กระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1, 4 คนละ 3 ปี จำเลยที่ 2-3 คนละ 2 ปี 

สำหรับคดีที่สอง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายเทอดศักดิ์ เถียรพุดซา และนางประพันธ์ พิพัธนัมพร เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ และอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209 สำนวนนี้โจทก์ฟ้องกรณีเมื่อวันที่ 4-5 ธ.ค. 2561 จำเลยทั้งสองกับพวกนัดหมายสวมใส่เสื้อสีดำ มีสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไทเดินในบริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ภายหลังโจทก์ยื่นอุทธรณ์ 

 

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว องค์การสหพันธรัฐไทมีนายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์การสหพันธรัฐไท ดำเนินรายการทางสื่อสังคมออนไลน์ยูทูป ชักชวนให้ประชาชนสวมใส่เสื้อสีดำออกมาชุมนุมในห้างสรรพสินค้าหรือในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 กระทั่งวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองสวมใส่เสื้อสีดำ มีสัญลักษณ์สีขาวแดงปรากฏตัวที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ พบปะพูดคุยกับประชาชนที่สวมใส่เสื้อสีดำในบริเวณนั้น เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยทั้งสองแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นฯ และอั้งยี่ 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้เพียงว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองสวมใส่เสื้อยืดสีดำมีสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท พูดคุยกับผู้สวมใส่เสื้อสีดำด้วยกันในที่เกิดเหตุเท่านั้น โดยโจทก์ไม่มีหลักฐานแจ้งชัดว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนประชาชนทั่วไปให้มาชุมนุมกันที่หน้าห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุ หรือจำเลยทั้งสองกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเช่นไร เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตาม ป.อาญา มาตรา 116 (2)(3) กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"