ล็อก6จว.เข้ม14วัน ออกนอกพื้นที่ต้องขออนุญาตุใส่แมสก์ทุกโซนติดเชื้อลด1,871


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังไม่เคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์ แต่ปรับโซนสีใหม่ ไร้โซน “เหลือง-เขียว” ต่ำสุดสีส้ม 26  จังหวัด แดง 45 จังหวัด ส่วนแดงเข้ม 6 จังหวัด กฎเฮี้ยบแดงเข้มห้ามนั่งกินให้แค่ซื้อกลับ ย้ำทุกพื้นที่ต้องใส่แมสก์เมื่อออกนอกบ้าน ให้ สธ.เคาะความชัดเจนบทลงโทษไม่ให้คดีรกศาลใน 1 สัปดาห์ วอนเอกชนเวิร์กฟรอมโฮม 100% อีก 14 วัน เตรียมประกาศราชกิจจาฯ บังคับใช้ 1 พ.ค.นี้ กางแผนฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสใน 7 เดือน กทม.เข็มแรกต้องจบสิงหาคม ศบค.เปิดตัวเลขติดเชื้อใหม่ 1,871 ราย เสียชีวิต 10 ราย เชื่อจัดการพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รอบนี้จบ  

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เม.ย. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 6/2564 โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนประชุมว่า การประชุม ศบค.วันนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะนี้ จึงมีความจำเป็น และขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ข้าราชการทุกคน ติดตามทำงานและบูรณาการทำงานกันในทุกขั้นตอน
    ต่อมาในเวลา 16.00 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับระยะเวลาการกักตัวผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลา 14 วัน จากเดิมที่เคยลดเหลือ 10 วันสำหรับคนทั่วไป และ 7 วันสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยไม่ให้ผู้ที่กักตัวออกจากห้องพัก เว้นแต่เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และเดินทางถึงราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. ต้องตรวจหาเชื้อถึง 3 ครั้ง  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ประกอบด้วย พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กทม., ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง จากเดิม 18 จังหวัด เป็น 45 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชัยภูมิ, เชียงราย, ตาก, ตรัง, นครปฐม, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, นราธิวาส, น่าน, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ภูเก็ต, มหาสารคาม, ยะลา, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, สงขลา, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, อ่างทอง, อุดรธานี และอุบลราชธานี พื้นที่ควบคุมหรือสีส้ม จากเดิม 59 จังหวัด เป็น 26 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, กาฬสินธุ์, ชัยนาท, ชุมพร, ตราด, นครนายก, นครพนม, หนองคาย, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, พังงา, พะเยา, แพร่ มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, เลย, สกลนคร, สตูล, สมุทรสงคราม, สิงห์บุรี, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี และอำนาจเจริญ  
คุมเข้มยังไม่ล็อกดาวน์
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า การยกระดับมาตรการตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรนั้น ได้แก่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน งดรับประทานอาหารในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการ 04.00-23.00 น. ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการที่มีการรวมคนจำนวนมาก ปิดสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยง ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้งเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. แข่งขันโดยไม่มีผู้ชม นอกจากนี้ ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดงดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค ถ้ามีสาเหตุจำเป็นสามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ตั้งด่านอยู่ได้ ยืนยันว่าไม่ใช่เคอร์ฟิว แต่เป็นการขอความร่วมมือ  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุด 45 จังหวัด ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านอาหารได้ไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านไม่เกิน 23.00 น. แต่งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน ส่วนร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน 23.00 น. โดยสถานที่ที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมงให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ตอน 04.00 น. ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการที่มีการรวมคนจำนวนมาก ในส่วนของสถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. สามารถจัดแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดผู้ชม สำหรับการตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็น และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินกว่าเหตุ  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะที่พื้นที่ควบคุม 26 จังหวัดให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านอาหารได้ไม่เกิน 23.00 น. แต่งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน ส่วนร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการตามปกติตามมาตรการที่กำหนด ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคนและงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการที่มีการรวมคนจำนวนมาก สถานที่เล่นกีฬาเปิดปกติแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม/ผู้เล่น               
    “มาตรการควบคุมและบูรณาการทุกพื้นที่คือ การสวมกากอนามัยและหน้ากากผ้าที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ยอมให้ปรับ และอ้างว่าต้องให้ศาลเป็นผู้ปรับนั้น กรมควบคุมโรคได้เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อออกระเบียบเปรียบเทียบปรับ โดยมาตรการต่างๆ จะให้กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงยุติธรรม, คณะกรรมการกฤษฎีกา, กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ดำเนินการออกระเบียบ คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์น่าจะได้ข้อกำหนดแนวทางใหม่ขึ้นมา ระหว่างนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมไปก่อน โดยก่อนเปรียบเทียบปรับอาจมีมาตรการอื่น เช่น ตักเตือน หรือให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคม”
ศบค.กางแผนฉีดวัคซีน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ รื่นเริงในช่วงนี้ก่อน ยกเว้นกิจกรรมตามประเพณีนิยม เช่น งานศพ หรือกิจกรรมในครอบครัว โดยต้องมีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ สำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาดำเนินการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการเดินทาง ขอความร่วมมือทำให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ล็อกดาวน์ ถ้าทำไม่ได้ให้ลดหลั่นลงมา ทั้งนี้ ข้อกำหนดเหล่านี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนมาตรการเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่มีแผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย 100 ล้านโดส จากประชากร 70 ล้านคนต้องได้รับวัคซีน 70% คิดเป็นจำนวน 50 ล้านคน ขณะนี้ไทยจัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส ดังนั้นจึงต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 37 ล้านโดสสำหรับประชากรในประเทศจำนวน 18.5 ล้านคน สิ่งที่เราจะต้องทำคือต้องหาวัคซีนให้ได้เพียงพอและทันเวลา โดยต้องฉีดเข็มที่สองเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.2564 หากสามารถจัดหาวัคซีนได้ 20 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามแผนที่ตั้งไว้ ซึ่ง สธ.ได้เสนอเป็นแผนเพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่นที่สัมผัสโรค เช่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ที่ทำงานสถานกักกัน อาชีพเสี่ยง พนักงานขับรถสาธารณะ ครู ประชาชนผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ซึ่งแผนต่างๆ ได้วางไว้ทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการลงไปในรายละเอียดว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการฉีดจะเป็นไปตามแผนที่จะครอบคลุมประชากรภายในปี 2564  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สธ.แจ้งว่าจะมีจุดบริการฉีดวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล 1,000 แห่ง แห่งละ 500-1,000 โดสต่อวัน รวม 5 แสนถึง 1 ล้านโดสต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน คิดเป็น 15-30 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ จะฉีดครบ 100 ล้านโดสภายในเวลา 4-7 เดือนคือ ตั้งแต่ ก.ย.-ธ.ค.2564 ส่วน กทม.ที่เป็นพื้นที่เปราะบางทาง พล.อ.ประยุทธ์ได้มีความเป็นห่วงมาก จึงต้องให้จัดจุดบริการต่างๆ และให้เพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา, มหาวิทยาลัย และศูนย์ประชุม ฯลฯ จุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 1 แสนโดสต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน เท่ากับ 3 ล้านโดสต่อเดือน โดยจะได้รับเข็มที่หนึ่งครบภายในวลา 3 เดือน คือ เดือน มิ.ย.-ส.ค.2564
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สธ.ยังเสนอให้พิจารณาใน 3 ข้อคือ 1.แผนการจัดหา การจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดส 2.โครงการการจัดหา จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม สำหรับประชากรในไทย 18.5 ล้านคน หรือ 37 ล้านโดส โดยการจัดซื้อรวมเป็นวัคซีนที่ไทยจัดหาจัดซื้อสำหรับประชากรทั้งสิ้น 50 ล้านคน หรือวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส และ 3.ขออนุมัติหลักการให้ภาครัฐและเอกชนจัดหาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้วัคซีนที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและราคา เพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครอบคลุม 70% โดยเร็วที่สุด โดยภาครัฐจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส, สปุตนิก วี 5-10 ล้านโดส, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5-10 ล้านโดส และซิโนแวค 5-10 ล้านโดส หรือวัคซีนอื่นเช่น โมเดิร์นนา, ซิโนฟาร์ม หรือบารัต หรือวัคซีนอื่นที่ขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยภาคเอกชนไม่ได้ถูกตัดออกจากความร่วมมือ ยังสามารถร่วมจัดซื้อได้
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อสรุปสุดท้าย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ให้มอบหมายให้นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขาภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน 4 ด้านคือ 1.จัดทำแผนกระจายวัคซีนให้แรงงานในระบบประกันสังคมและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในระยะถัดไป 2.ประสานงานกับ มท., สธ. และภาคเอกชนในการกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้แรงงานในระบบประกันสังคมในจังหวัดต่างๆ 3.ประสานงานกับ สปสช. แรงงาน และภาคเอกชน ในการรวบรวมตรวจสอบข้อมูลความต้องการวัคซีนของแรงงานในระบบประกันสังคม และจัดส่งให้กรมควบคุมโรคทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และ 4.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในกรณีที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนด้วยตนเองในระยะต่อไป โดยจะนำเสนอผลการดำเนินงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และผู้อำนวยการศูนย์สถานการณ์โควิด-19 ต่อไป
ติดเชื้อใหม่ 1,871 เสียชีวิตอีก 10
    “มาตรการต่างๆ ที่พยายามทำกันขึ้นมาโดยหลักการไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดความลำบากในชีวิตของท่าน แต่อย่างน้อยต้องขอให้ลดการเดินทาง ลดการพบปะ และให้ทำงานที่บ้านกันให้มาก เพราะการติดต่อเกิดจากคนต่อคน เพราะฉะนั้นหากลดการติดต่อก็จะลดการระบาด จึงขอแรงพี่น้องประชาชนทุกท่านทำความเข้าใจให้ปฏิบัติและทำตามเรื่องที่เราได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำขึ้นมา 14 วันนี้หากตัวเลขลดลง การผ่อนคลายก็จะเกิดขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
    ก่อนหน้านี้ นพ.ทวีศิลป์แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,871 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,864 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,830 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 34 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 63,570 ราย หายป่วยสะสม 35,394 ราย โดยวันที่ 29 เม.ย. หายป่วยเพิ่มขึ้น 992 ราย อยู่ระหว่างรักษา 27,988 ราย อาการหนัก 786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 10 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาย 8 ราย หญิง 2 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ส่วนสาเหตุเกิดจากญาติมาเยี่ยม รับประทานอาหารกับผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถระบุได้ สำหรับระยะเวลาหลังการติดเชื้อแล้วเสียชีวิตนานสุด 16 วัน เร็วสุดเพียงแค่ 3 วัน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 188 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดแรกที่มีผู้ติดสูงสุดในวันที่ 29 เม.ย. ได้แก่ กทม. ลดลงเหลือ 689 ราย, สมุทรปราการ 151 ราย, ชลบุรี 112 ราย, เชียงใหม่ 89 ราย และปทุมธานี 81 ราย โดยที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุขได้เปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อในประเทศระหว่างวันที่ 1-28 เม.ย. ทำให้เห็นว่า กทม.และปริมณฑลที่ประกอบด้วย สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 15,405 ราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อีก 73 จังหวัดรวมกัน 19,095 ราย ซึ่ง กทม.และปริมณฑลถือว่ามีผู้ติดเชื้อเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ และถ้าไปดูเส้นกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะเห็นว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑลเหมือนกับภาพรวมของทั้งประเทศ ดังนั้นถ้าเราจัดการในพื้นที่ กทม. ก็เหมือนจัดการได้ทั้งประเทศ เช่นเดียวกับการจัดการที่ จ.สมุทรสาครก่อนหน้านี้
ปรับ รพ.สนามใช้ฉีดวัคซีน
ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า แม้วันนี้ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 1,800 ราย แต่การฉีดวัคซีนยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยไทยฉีดวัคซีนรวมสะสม 1.3 ล้านโดส หรือ 1.7% ของประชากร ส่วนประเด็นประสิทธิภาพวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้านั้นไม่ต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ มีประสิทธิภาพที่ดี วัคซีนที่เรามีอยู่ในมือ ยังรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่อาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับสายพันธุ์ดั้งเดิม
    "วัคซีนฉีดได้ทุกตัว ตัวไหนก็ดี แต่ก่อนฉีดก็ต้องรับข้อมูลต่างๆ ให้พร้อม เพื่อสร้างความพร้อมก่อนฉีด สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนที่ฉีดวัคซีนจะป้องกันตัวเอง ป้องกันครอบครัวได้ เพราะการระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อภายในครอบครัวเยอะทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และสุดท้ายคือป้องกันการระบาดได้ เพื่อให้เราค่อยๆ แง้มประตูเปิดประเทศ ทำให้เราค่อยๆ กลับมาใช้วิถีชีวิตได้ปกติ” นพ.ทวีกล่าว
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ว่า สธ.มีแผนว่าภายหลังรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้หมดแล้ว จะปรับทั้งศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ รพ.สนามที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่วอล์กอินเข้ามารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สะดวกในการลงทะเบียนผ่านระบบจองวัคซีน คือเพียงมีบัตรประชาชนก็เข้ารับวัคซีนได้
    “เราจะให้มีพื้นที่สำหรับผู้ที่วอล์กอินเข้ามารับวัคซีนได้ เพราะเรามั่นใจว่าจะมีวัคซีนส่งเข้ามาจำนวนมาก ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป เพียงพอให้ประชาชนที่จองผ่านทางแอปพลิเคชันกับ อสม. รวมถึงช่องทางอื่นๆ รับเป็นบุคคล เป็นกลุ่ม ตลอดจนผู้จะวอล์กอิน โดยทุกกลุ่มจะได้รับวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายอนุทินกล่าว.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"