นิวไฮ!ตาย21ราย ผู้ป่วยโควิดดีดกลับเฉียด2พันระบาดหนักในครอบครัว/เพื่อน


เพิ่มเพื่อน    

 

“ศบค.” เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตขึ้นนิวไฮ 21 ราย  ติดเชื้อดีดไปเฉียด 2 พันอีกรอบ "หมอทวีศิลป์" เผยสัปดาห์หน้าปูพรมตรวจเชิงรุก กทม. ตั้งเป้ากดตัวเลขผู้ติดเชื้อกรุงเทพฯ ต่ำ 400 ถึงจะเรียกว่าดีขึ้น รุกหนักวิเคราะห์จุดเสี่ยงของแต่ละจังหวัด ตามติดกลุ่มเสี่ยง ปูพรมชุมชน ผอ.กองระบาดวิทยาเตือนการระบาดในครอบครัว เพื่อนร่วมงานสูงขึ้นเรื่อยๆ

    เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,891 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,884 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,799 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 85 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 67,044 ราย หายป่วยสะสม 38,075 ราย อยู่ระหว่างรักษา 28,745 ราย อาการหนัก 829 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 270 ราย
    ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 21 ราย ซึ่งถือเป็นนิวไฮมากๆ ของประเทศไทย โดยผู้เสียชีวิต 21 ราย เป็นเพศหญิง 12 ราย ชาย 9 ราย จากกรุงเทพฯ 10 ราย, ชลบุรีและสมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย,  อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 224 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาจากการใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อถึง 11 ราย สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก วันที่ 1 พ.ค. คือ กรุงเทพฯ 739 ราย, สมุทรปราการ 142 ราย, ชลบุรี 126 ราย, ปทุมธานี 64 ราย และเชียงใหม่ 61 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 152,002,365 ราย เสียชีวิตสะสม 3,193,653 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดเชื้อในกรุงเทพฯ ที่มีตัวเลขขึ้นๆ ลงๆ โดยวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งกรมควบคุมโรค เสนอเป้าหมายตัวเลขเป็นตุ๊กตาที่ยังไม่ได้ข้อสรุปขึ้นมาว่า ถ้าจะบอกว่ากรุงเทพฯ ดีขึ้นได้ น่าจะกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 400 รายต่อวันจะได้หรือไม่
    อย่างไรก็ตาม ทาง กทม.วางแผนการสุ่มตรวจเชิงรุกในชุมชน ในสัปดาห์หน้า ตั้งแต่วันที่ 3-7 พ.ค. โดยวันที่ 3 พ.ค. จะลงพื้นที่เขตพระนคร พระโขนง คลองสามวา บางคอแหลม เป้าหมายประมาณ 1,800 คน, วันที่ 4 พ.ค. เขตบางขุนเทียน บางพลัด เป้าหมายประมาณ 400 คน, วันที่ 5 พ.ค. เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เป้าหมายประมาณ 2,000 คน, วันที่ 6 พ.ค. เขตหนองแขม มีนบุรี มักกะสัน ปทุมวัน เป้าหมายประมาณ 1,600 คน, วันที่ 7 พ.ค. เขตบางแค สัมพันธวงศ์ บางซื่อ คลองสาน เป้าหมายประมาณ 1,400 คน
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดมีแนวโน้มคงตัว แต่ใน กทม.และปริมณฑลพบผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ การสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยเฉพาะในครอบครัว
    ดังนั้นแนวทางการดำเนินการต่อไปคือ การวิเคราะห์จุดเสี่ยงของแต่ละจังหวัด โดยติดตามกลุ่มเสี่ยง เพื่อทำการกักตัวและหาเชื้อ รวมทั้งเฝ้าระวังและคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เพื่อตรวจหาการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง พร้อมพิจารณาระบบส่งต่อ การเตรียมโรงพยาบาลและบุคลากรรองรับผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบและมีอาการหนัก ทั้งต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการควบคุมและป้องกันโรค โดยเฉพาะการลดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน ทั้งในครอบครัวและสถานที่เสี่ยงต่างๆ และเร่งกำกับติดตามมาตรการ DMHTTA ส่วนบุคคลและสถานที่ทำงาน
    นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า จากข้อมูลประเภทผู้ป่วยระลอกเดือนเม.ย. รายสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 14-17 ของปี ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. รายงานจากระบบบริการและการเฝ้าระวัง รวม 31,850 ราย คิดเป็น 83.90% ซึ่งเปอร์เซ็นต์การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานมีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แม้แต่การอยู่ในครอบครัวก็ต้องระวัง เพราะอาจไม่มีอาการ แต่ติดเชื้อแล้ว ซึ่งใน กทม.กระจายทุกเขตแล้ว ส่วนการรายงานการค้นหาเชิงรุกรวมสะสม 6,133 ราย คิดเป็น 16.10% ซึ่งน้อยลง เพราะผู้ป่วยเข้าระบบบริการค่อนข้างมาก
    ผอ.กองระบาดวิทยากล่าวว่า ทั้งนี้จึงเป็นตัวปัจจัยในการช่วยวิเคราะห์ว่าการระบาดของเดือน เม.ย.จะไปถึงจุดไหนบ้าง จึงสรุปได้ว่า 54% เป็นผู้ติดเชื้อมาจากสัมผัสในครอบครัวและเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่ง 2 สัปดาห์นี้ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นผลให้การตรวจหาเชื้อมีภาระค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม แต่แนวทางปัจจัยเมื่อเราเจอผู้ป่วย เราจะต้องให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจหาเชื้อครั้ง
    นพ.จักร?รัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุที่ครั้งนี้มีการตรวจจำนวนมาก จึงต้องแนะนำว่า ครั้งแรกเมื่อตรวจแล้วต้องอย่าไปไหน ให้กักตัวอยู่บ้าน และสังเกตอาการ ทั้งมีไข้ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หากมีอาการต้องรีบประสานจุดส่งต่อ รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล หรือ รพ. แต่หากตรวจครั้งแรกเป็นลบ แต่ตัวเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 14 วัน และไม่ต้องกังวลยังไม่ได้ตรวจครั้งที่ 2 สิ่งสำคัญคือต้องกักตัวก่อน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"