วิกฤติ!ตายพุ่ง31ราย ศบค.ห่วงคลัสเตอร์คลองเตยระบาดหนักสั่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง


เพิ่มเพื่อน    

 ทุบสถิติ! เสียชีวิตพุ่ง 31 ราย ป่วยเพิ่ม 2,041 ราย สาเหตุติดเชื้อหลักมาจากคนในบ้านและที่ทำงาน ห่วงคลัสเตอร์ "คลองเตย" ระบาดหนัก พบ 304 รายกระจาย 12 ชุมชน นายกฯสั่ง กทม.ปูพรมตรวจเชิงรุกวันละพันรายถึง 19 พ.ค. ลุยฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 2-3 พันคนต่อวัน ปัดซีลพื้นที่วอนเลี่ยงออกนอกบ้าน  "หมอประสิทธิ์" ขอร้องคนไทยใส่หน้ากากตลอดเวลา เตือนกำลังวิ่งเข้าสู่จุดวิกฤติโควิดของจริง สธ.ยกเครื่องสายด่วน 1668 รับส่งต่อผู้ป่วยแบบวันสต็อปเซอร์วิส

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,041 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,040 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,943 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 97 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย ซึ่งเป็นชาวกัมพูชา กำลังตรวจสอบสายพันธุ์ของเชื้อ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 71,025 ราย หายป่วยสะสม 40,984 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,75 ราย อาการหนัก 981 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 31 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 13 ราย อยู่ใน กทม.และนนทบุรี จังหวัดละ 10 ราย, ปทุมธานี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 ราย,  ฉะเชิงเทรา อ่างทอง เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ ระนอง จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และสาเหตุการติดเชื้อมาจากสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า 15 ราย ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัว 6 ราย และมี 3 รายที่เสียชีวิตก่อนทราบว่าติดเชื้อ ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 182 ราย     
    สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 675 ราย, นนทบุรี 277 ราย, สมุทรปราการ 161 ราย,  ชลบุรี 153 ราย, สุราษฎร์ธานี 96 ราย และถ้าไปดูแผนที่ประเทศไทยแสดงจังหวัดพบเชื้อรายวัน มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 13 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย 36 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 50 ราย 21 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 ราย 3 จังหวัด มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย 4 จังหวัด โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้ขอความร่วมมือหน่วยงานด้านความมั่นคง ให้เฝ้าระวังชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ จากเดิมที่เป็นห่วงคือแนวชายเมียนมา แต่ตอนนี้ขอให้เพิ่มความเข้มข้นในบริเวณชายแดนติดกับมาเลเซีย กัมพูชา ลาวด้วย
      พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การกระจายตัวของผู้ติดเชื้อยังมีมากในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เห็นได้จำนวนผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย.ทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 41,933 ราย แต่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล 19,220 ราย และสาเหตุการติดเชื้อหลักตอนนี้คือการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งมีทั้งคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน จากเดิมที่มีสาเหตุเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตในพื้นที่ กทม.ระลอกเดือน เม.ย. ข้อมูลถึงวันที่ 29 เม.ย. จำนวน 52 ราย มีถึง 16 ราย ที่มีติดเชื้อมาจากการร่วมบ้านกับผู้ป่วยยืนยัน
    อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ในเขตคลองเตย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการระบาดระลอก เม.ย.ถึง 304 ราย อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด 193 ราย อาศัยอยู่แหล่งอื่นๆ เช่น คอนโดฯ หอพัก 111 ราย สำหรับการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่คลองเตยโดยรถพระราชทานที่ชุมชนเจ็ดสิบไร่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ตรวจเชื้อทั้งสิ้น 436 ราย พบเชื้อ 21 ราย, ชุมชนริมคลองวัดสะพานตรวจเชื้อทั้งสิ้น 489 ราย พบเชื้อ 29 ราย และการค้นหาเชิงรุกในชุมชนพัฒนาใหม่เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ตรวจเชื้อทั้งสิ้น 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย โดยหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งจุดพักคอยที่ชุมชนริมคลองวัดสะพาน โดยเมื่อพบเชื้อให้อยู่รอในจุดดังกล่าวก่อนนำตัวไปส่งต่อที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปบ้านที่อาจจะแพร่เชื้อได้อีก และจะมีการปูพรมตรวจเชิงรุกต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงชุมชนเคหะบ่อนไก่ และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ที่พบผู้ติดเชื้อถึง 59 รายก่อนหน้านี้ จะดำเนินการค้นหาเชิงรุกด้วย
เข้าจุดวิกฤติโควิดของจริง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการนำคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาเปิดก่อนการแถลงข่าวประจำวันของ ศบค. โดย นพ.ประสิทธิ์ระบุว่า วันนี้ครบรอบ 1 ปี วันแรกที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ 1 ปีให้หลัง ทุกอย่างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้เราอยู่ในช่วงขาขึ้นของวิกฤติโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านี้ ประมาณแค่ 0.12% แต่ในวันนี้ตัวเลขของเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาขึ้นไปถึง 0.36% ค่าตัวเลขต่างๆ ไม่ลดลง และกลับกันยังเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าเรากำลังวิ่งเข้าไปถึงจุดวิกฤติที่แท้จริง
    "ผมขอกราบเรียนทุกท่านว่า สิ่งที่จากนี้เป็นต้นไป ผมขอความกรุณาคนไทยทุกคน เราต้องช่วยกันแล้ว การใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมขอย้ำว่าการใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งอยู่บ้านตัวเอง ในสัปดาห์นี้อัตราการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในบ้าน ในครอบครัวกับเพื่อนฝูง ตอนนี้ถึงแม้อยู่บ้าน เราไม่รู้หรอกว่าใครจะนำเชื้อเข้ามาหรือเปล่า รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ ผมย้ำอีกครั้ง เป็นหน้าที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันแล้ว และวัคซีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือตัวหนึ่งที่จะทำให้เราปลอดภัย มีข่าวลือเยอะมาก ขอความกรุณา การฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อคนที่ท่านรัก เพราะท่านจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนเหล่านั้น ถ้าเราฉีดกันได้เยอะพอและทันเวลา เรากำลังจะช่วยประเทศ ผมขอร้องกันจริงๆ ถ้าเราร่วมกันจริงๆ ผมเชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤติอันนี้ไปได้ด้วยดี อย่ารอจนวิกฤติรุนแรงจนแก้ไขไม่ได้ แล้วเราค่อยคิดออก ขอขอบคุณทุกท่าน" นพ.ประสิทธิ์ระบุ
    จากนั้นเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดเล็ก ที่ตึกภักดีบดินทร์ เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อโควิด-19 และรายงานการให้บริการวัคซีนโควิด-19 รวมถึงจะพิจารณามาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด ที่เสนอโดยศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกรณีคลัสเตอร์ชุมชนคลองเตย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
    ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.อัศวินเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งกระจายวัคซีน ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ชุมชนคลองเตย วันที่ 4 พ.ค. จำนวน 2 จุดคือ ที่โลตัสพระราม 4 และโรงเรียนคลองเตยวิทยา ตั้งแต่เวลา 13.00 น. คาดว่าจะฉีดได้ประมาณ 1,000 คน ขณะที่วันต่อไปจะสามารถฉีดได้วันละ 2,000-3,000 คน ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีขอให้เร่งเดินหน้าตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้ได้วันละ 1,000 คน จนถึงวันที่ 19 พ.ค. คาดว่าจะได้ถึง 20,000 คน จากคนในชุมชน 85,000-90,000 คน อย่างไรก็ตามคลัสเตอร์คลองเตยไม่สามารถซีลได้เหมือนที่สมุทรสาคร เพราะมีจำนวนประชาชนที่แตกต่าง และเป็นพื้นที่จำกัด จำนวนประชาชนน้อย จึงขอความร่วมมือประชาชนทำความเข้าใจในการป้องกันตัวเอง และพยายามเลี่ยงออกนอกบ้าน
คลองเตยระบาดหนัก
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชุมชนคลองเตยพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นว่า พบผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 304 ราย ซึ่งอาศัยในแหล่งชุมชนแออัด 193 ราย อาศัยอยู่ในแหล่งอื่นๆ เช่น คอนโดฯ หอพัก จำนวน 111 ราย ผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบในแหล่งชุมชนแออัด ในเขตคลองเตย เป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อที่พบผู้ติดเชื้อ และยังกระจายอยู่ 12 ชุมชน ดังนี้
    1.ชุมชนตลาดท่าเรือคลองเตย มีประชากรประมาณ 5,000 คน พบติดเชื้อ 7 คน 2.ชุมชนพัฒนาใหม่ มีประชากรประมาณ 1,469 คน พบติดเชื้อ 78 คน 3.ชุมชนวัดคลองเตยใน 2 มีประชากรประมาณ 2,028 คน พบติดเชื้อ 14 คน 4.ชุมชนร่มเกล้า 2 มีประชากรประมาณ 2,170 คน พบติดเชื้อ 2 คน 5.ชุมชนแฟลต 1-10 มีประชากรประมาณ 10,490 คน พบติดเชื้อ 6 คน 6.ชุมชนแฟลต 11-18 มีประชากรประมาณ 3,797 คน พบติดเชื้อ 2 คน 7.ชุมชนแฟลต 19-22 มีประชากรประมาณ 2,050 คน พบติดเชื้อ 2 คน 8.ชุมชนล็อค 1-2-3 หรือชุมชนร่มใจไพรินแดง มีประชากรประมาณ 8,325 คน พบติดเชื้อ 8 คน 9.ชุมชนล็อค 4-5-6 มีประชากรประมาณ 1,736 คน พบติดเชื้อ 2 คน 10.ชุมชน 70 ไร่ มีประชากรประมาณ 9,685 คน พบติดเชื้อ 37 คน 11.ชุมชนหมู่บ้านมั่นคง มีประชากรประมาณ 278 คน พบติดเชื้อ 3 คน และ 12.ชุมชนริมคลองวัดสะพาน มีประชากรประมาณ 1,150 คน พบติดเชื้อ 17 คน
    นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุม และลงพื้นที่โกดังสเตเดียมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และวัดสะพาน ว่าหลังจากวันที่ 30 เม.ย. พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการ กทท. เพื่อให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้อาคารโกดังสเตเดียม เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่ชุมชนคลองเตยและชุมชนใกล้เคียง
    โดยได้ข้อสรุปในเบื้องต้น จัดตั้งโรงพยาบาลเตียงสนามใน 2 พื้นที่คือ ระยะเร่งด่วน ที่วัดสะพาน รองรับ 100 เตียง และอาคารโกดังสเตเดียม ยังต้องมีการปรับปรุงพื้นที่อีก ซึ่งรองรับ 160 เตียง รวมทั้งหมด 260 เตียง ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานสาธารณสุขเร่งประเมินถึงความเหมาะสมของสถานที่อาคารโกดังสเตเดียม ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วันข้างหน้านี้ และวางเป้าหมายว่าจะต้องสามารถเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากชุมชนคลองเตยได้ภายใน 20-30 วัน
    รายงานข่าวจาก กทท.ระบุว่า กทท.พร้อมสนับสนุนอาคารโกดังสเตเดียม เนื้อที่รวม 15 ไร่ มีพื้นที่ภายในอาคาร 4,200 ตารางเมตร (ตร.ม.) กว้าง 35 ม. ยาว 120 ม. โดยกระทรวงกลาโหมพร้อมดำเนินการปรับปรุงสถานที่ และจัดหาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก การวางระบบให้สามารถรองรับเตียงผู้ป่วยจำนวน 160 เตียง ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พร้อมเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการดูแลทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์
    นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงประเด็นการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 และการบริหารจัดการเตียงรับผู้ป่วยแต่ละระดับในพื้นที่ กทม.ว่า สธ.มีนโยบายจับคู่แล็บตรวจและโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งในสังกัดรัฐและเอกชน แต่เมื่อพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นทำให้เตียงหนาแน่น ดังนั้น กรมการแพทย์จึงแก้ไขปัญหา จากเดิมที่ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ไปทำความเข้าใจกับ รพ.เอกชน ว่าเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้วจะต้องแจ้งไปที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ส่วนผู้ที่ผลเป็นลบให้เฝ้าระวังตัวต่อ แต่วันนี้กรมการแพทย์ได้คิดวิธีแก้ไขเพื่อให้ผู้ติดเชื้อจากระบบตรวจแล็บเอกชนเข้าสู่การรักษาใน รพ.และผ่านการประสานงานจากสายด่วน 1668 อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยกรมการแพทย์เรียกประชุมผู้ประกอบการแล็บเอกชนทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจและมีข้อตกลง กรมการแพทย์จะจับคู่แล็บที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งหมดในกรุงเทพฯ เมื่อตรวจพบผู้ป่วยให้ส่งข้อมูลไปที่ สปคม.ตามกฎหมาย แต่ต้องเพิ่มคือ ส่งข้อมูลไปยังสายด่วน 1668 เพื่อให้กรมการแพทย์ติดต่อหาเตียงให้ผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดความกังวลว่าจะมีการระบาดในชุมชน
    สำหรับสายด่วน กรมการแพทย์ 1668 ได้ปรับโฉมใหม่ ให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานคอลเซ็นเตอร์หน้าบ้าน รับสายเพื่อนำข้อมูลส่งต่อไปยังบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หลังบ้าน ทำการแนะนำประชาชนเพื่อให้เกิดการจัดการเตียงให้เร็วที่สุด
ผวา!ย้ายตึกประชุมครม.
    วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจากับผู้ขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง รวมทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า กองสถานที่ ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับแจ้งว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีกหนึ่งราย เป็นแม่บ้านบริษัทที่รับผิดชอบทำความสะอาดประจำอาคาร 18 (กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3) ตั้งอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งแม่บ้านดังกล่าวไม่ได้เข้ามาทำงานภายในทำเนียบฯ ประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว ทำให้ขณะนี้มียอดของแม่บ้านและเจ้าหน้าที่ คนสวน ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 11 ราย ทั้งนี้จากกรณีดังกล่าว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ในฐานะผู้บังคับบัญชา กำลังพิจารณาขยายเวลาให้สื่อมวลชน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทำงานต่อที่บ้านไปอีกจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้กรณีที่มีเจ้าหน้าที่บางรายที่ติดโควิดปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกบัญชาการ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)?? ทำให้เลขาธิการนายกฯ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่การประชุม ครม. ในวันพุธที่ 5 พ.ค.นี้ จากชั้น 5? ตึกบัญชาการ 1? ไปใช้ตึกภักดีบดินทร์แทน
    นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปยังนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กรณีมีข่าวว่าบางวัดไม่รับเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้ญาติผู้เสียชีวิต จนกระทั่งมีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
    นายณรงค์เปิดเผยว่า สาเหตุที่บางวัดไม่รับเผาศพเนื่องจากเตาเผาบางวัดไม่มีความพร้อม พศ.จะมีการประชุมผ่านระบบซูมร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสำรวจวัดที่มีความพร้อมสำหรับเผาศพผู้ติดเชื้อ และจัดทำบัญชีรายชื่อสำหรับการประสานงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเผาศพผู้ติดเชื้อ สร้างความมั่นใจแก่ญาติผู้เสียชีวิตว่ามีสถานที่สำหรับเผาศพอย่างแน่นอน
    ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางเข้ามาทำงานยังกระทรวงยุติธรรม ซึ่งถือเป็นวันแรกของการทำงานหลังกักตัว 14 วัน หลังร่วมรับประทานอาหารที่ร้านคาเฟ่เดอทรี จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าผลตรวจออกมาครบ 2 ครั้งแล้วจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผลออกมาเป็นลบ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"