เฉ่ง‘รีเดม’ขู่เข็ญศาล ไต่สวนเบนจาละเมิด


เพิ่มเพื่อน    

 

สำนักงานศาลยุติธรรมออกแถลงการณ์พฤติกรรมของกลุ่มรีเดม ขู่เข็ญและสร้างความหวาดกลัวไปยังบุคคลในครอบครัวของผู้พิพากษาและบุคลากรในศาลยุติธรรม ก้าวล่วงใช้ความรุนแรงเพื่อแทรกแซงศาล ไม่ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย ตร.พหลฯ ยื่นฝากขัง 2 ราย ศาลไม่ให้ประตัว คิวต่อไป "เบนจา" โดนแน่

    เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมเผยแพร่แถลงการณ์หลังผู้ชุมนุมกลุ่มรีเดมชุมนุมหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 2 พ.ค. มีเนื้อหาระบุว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณศาลอาญาเมื่อคืนวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่บุคคลจำนวนหนึ่งใช้ความรุนแรงด้วยการขว้างปาสิ่งของ ใช้เครื่องมือยิงวัสดุเข้ามาในอาคารศาล การใช้วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง จนเกิดความเสียหาย ความรุนแรงและไม่สงบขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลอาญา ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยและอันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยชอบธรรมภายในกรอบของกฎหมาย อีกทั้งยังมีลักษณะของการก้าวล่วงใช้ความรุนแรงเพื่อแทรกแซงโดยหวังผลให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปในทางหนึ่งทางใดตามที่กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงมุ่งประสงค์โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ของกฎหมาย อันเป็นการมุ่งทำลายความอิสระของตุลาการตามรัฐธรรมนูญ  
    นอกจากการใช้ความรุนแรงดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีพฤติกรรมทำนองขู่เข็ญและสร้างความหวาดกลัวไม่เพียงแก่บุคลากรในศาลยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีการขู่เข็ญและสร้างความหวาดกลัวไปยังบุคคลในครอบครัวของผู้พิพากษาและบุคลากรในศาลยุติธรรมด้วย ทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด พฤติกรรมดังกล่าวที่มีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ ใช้สื่อโซเชียลต่างๆ ล้วนมุ่งหวังให้เกิดผลในทำนองเดียวกับการใช้ความรุนแรงข้างต้นที่ต้องการให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในทางที่ตนเองหรือขบวนการของตนต้องการโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของกฎหมาย จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย
    ในการนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ตรวจสอบการกระทำและพยานหลักฐานที่ปรากฏ หากมีการกระทำใดที่เป็นการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอให้พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นและใช้เสรีภาพของตนอย่างสันติ ด้วยความสงบ และงดเว้นการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต เป็นภยันตรายแก่ร่างกาย หรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินไม่ว่าของส่วนบุคคลหรือของทางราชการ และให้การดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ ดำเนินไปตามครรลองของกฎหมายที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลตามที่กฎหมายกำหนด
    ในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ศาลยุติธรรมทุกศาลจะยังคงทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ พิพากษาและมีคำสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันต่อไป  
    วันเดียวกันนี้ พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คดี 2 ผู้ต้องหาร่วมชุมนุมกับกลุ่มรีเดมหน้าศาลอาญา คือนายร่อซีกีน นิยมเดชา อายุ 20 ปี และ น.ส.หทัยรัตน์ แก้วสีคราม อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-2 โดยฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 3-14 พ.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานจำนวน 6 ปาก, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาทั้งสองมาประกอบสำนวนการสอบสวน เพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณา
    คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า ผู้ต้องหาที่ 1-2 ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ไม่เลิกฯ, ร่วมกันทำให้ทรัพย์เสียหายฯ, ร่วมกันมั่วสุมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดต่อฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 83, 138 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 140 วรรคหนึ่ง, 295 ประกอบมาตรา 289 (2), 215 วรรคหนึ่ง, 216, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
    ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาทั้งสอง เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง
    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองไป มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธินยื่นคำร้องขอให้ศาลตรวจสอบการจับกุม 1 ในเยาวชนที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มรีเดม ศาลได้ทำการไต่สวนตามที่พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธินผู้ร้องขอแล้ว มีคำสั่งว่าให้ออกหมายควบคุมเว้นแต่มีประกัน ต่อมาผู้ปกครองได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยให้ทำสัญญาประกัน วางหลักประกันจำนวน 10,000 บาท  
    ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายข้อหา จึงเห็นควรเรียกหลักประกันเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงระบาดของเชื้อโควิด-19 หากควบคุมผู้ต้องหาอาจได้รับการติดเชื้อ จึงเห็นสมควรปล่อยชั่วคราว แต่ให้เรียกหลักประกัน วันนี้ผู้ต้องหานำเงินมาเพียง 2,000 บาท จึงให้วางเป็นหลักประกัน ส่วนที่เหลือให้วางภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ โดยให้วางส่วนที่เหลือถึงวันที่ 17 พ.ค.2564 หากนำเงินมาวางครบให้ใช้สัญญานี้เป็นสัญญาประกันต่อไป และนัดรายงานตัวในวันที่ 22 มิ.ย.2564 เวลา 08.30 น.
    ที่นอกรั้วศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของสำนักงานเขตจตุจักร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของศาลอาญา และจิตอาสาจำนวนกว่า 100 คน เข้าทำความสะอาดบริเวณภายในและภายนอกศาลอาญา ที่กลุ่มผู้ชุมนุมรีเดมได้ทำลายสิ่งของ ขว้างปาและสาดสี รวมทั้งยิงหัวนอต ลูกเหล็ก ลูกแก้ว ลูกหิน ใส่บริเวณกระจกทางเข้าศาลอาญา มีร่องรอย 7-8 รู ในเหตุการณ์ชุมนุมหน้าศาลเมื่อวันที่ 2 พ.ค. โดยในช่วงที่ทำความสะอาดมีคราบสีน้ำมัน คราบไข่ไก่ มะเขือเทศปะปน และมีกลิ่นคาวคละคลุ้ง ซึ่งในการทำความสะอาดครั้งนี้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการฉีดน้ำล้างทำความสะอาด และนำทรายมาถมตรงจุดที่มีคราบน้ำมัน
    นอกจากนี้ บริเวณป้ายศาลอาญาริมถนนรัชดาภิเษกได้รับความเสียหายด้วยการถูกสาดสี เจ้าหน้าที่ทำการระดมล้างทำความสะอาด และตัวสัญลักษณ์พญาครุฑหักโค้งงอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทำให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 08.30 น. เนื่องจากวันนี้ศาลยังคงเปิดให้บริการประชาชนตามปกติ
    ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญายื่นคำร้องคดีละเมิดอำนาจศาล รวม 3 ชุด ที่กล่าวหา น.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี, นายณัฐชนน ไพโรจน์ อายุ 21 ปี สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 28 ปี แกนนำกลุ่มราษฎรนนทบุรี ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และกระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564  
    กรณีเมื่อวันที่ 29 เม.ย. เวลาประมาณ 12.30 น. มีมวลชนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประมาณ 300 คน ได้มีการเชิญชวนกันมาทำกิจกรรมอื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัติ” ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เข้ามาในบริเวณศาลอาญา และรวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา (บริเวณหน้ามุกศาลอาญา) มีการใช้เครื่องขยายเสียงพร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา”
    โดย น.ส.เบนจาได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา โปรยแผ่นกระดาษขณะวิ่งขึ้นบันได โดยพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา พร้อมตะโกนสรุปข้อความว่า “ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย” เมื่อโปรยกระดาษเสร็จแล้วได้หยุดยืนอยู่บริเวณบันได และพูดผ่านเครื่องขยายเสียงโดยหันหน้าเข้าหาเจ้าหน้าที่ศาล พร้อมโปรยกระดาษที่เหลืออีกครั้งต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ขณะที่นายณัฐชนนกับนายชินวัตรได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง มีเนื้อหาโจมตีศาล
    ศาลจึงให้เรียก น.ส.เบนจามาไต่สวนฐานละเมิดอำนาจศาลในวันที่ 27 พ.ค.2564 เวลา 13.30 น. ส่วนนายณัฐชนนและนายชินวัตร ให้เรียกมาไต่สวนในวันที่ 19 พ.ค.2564 เวลา 13.30 น.
    วันเดียวกันนี้ ศาลยังไม่ให้ประกันตัวนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112 กรณีร่วมชุมนุมกับกลุ่มรีเดมที่สนามหลวง แปะป้ายที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลบนพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.อีกด้วย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"