ตั้งศูนย์สู้โควิดกทม. ‘บิ๊กตู่’บัญชาการเอง/เสียชีวิตอีก27รายอาการหนักทะลุพัน


เพิ่มเพื่อน    

  “หมอทวีศิลป์” แจงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 1,763 ราย ดับเพิ่มอีก 27 อาการหนักทะลุหลักพันแล้ว เผย “ประยุทธ์” สั่งตั้งศูนย์สู้ภัยโควิด-19 เมืองกรุง หลังเจอคลัสเตอร์ “คลองเตย-ดุสิต” พร้อมให้ 50 ผู้อำนวยการเขตเป็นแขนขาบูรณาการแก้ปัญหาในพื้นที่ ชี้ “กทม.-ปริมณฑล” ยอดผู้ป่วยรวมกันมากกว่า 73 จังหวัด “นายกฯ” ร่ายยาว 8 มาตรการสู้คลัสเตอร์คลองเตย พร้อมกำชับ ผอ.เขตยึดเป็นโมเดล “อัศวิน” ย้ำแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วย ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้คนคลองเตย 70% หรือ 5 หมื่นคน สธ.โอ่ตั้งแต่ พ.ค.ยอดฉีดวัคซีนไทยพุ่งกระฉูดแน่

เมื่อวันอังคารที่ 4 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ประจำวัน ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,750 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,519 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 231 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 72,788 ราย หายป่วยสะสม 42,474 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 1,490 ราย อยู่ระหว่างรักษา 30,011 ราย อาการหนัก 1,009 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 311 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 27 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 6 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 303 ราย  
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 4 พ.ค. ได้แก่ กทม. 526 ราย, สมุทรปราการ 201 ราย, นนทบุรี 168 ราย, ชลบุรี 91 ราย และสมุทรสาคร 55 ราย โดยภาพรวมสถานการณ์ในต่างจังหวัดแนวโน้มทรงตัวและควบคุมได้ ยกเว้น กทม.และปริมณฑล ซึ่งในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการพูดถึงการแพร่ระบาดใน กทม.และปริมณฑล เฉพาะวันที่ 4 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 956 ราย มากกว่าอีก 73 จังหวัดรวมกัน ดังนั้น ถ้าเราจัดการ กทม.และปริมณฑลได้ เท่ากับการจัดการได้เกินครึ่งของประเทศ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีชุมชนแออัด 6 แห่ง และเคหะชุมชน 1 แห่ง รวมประชากรทั้งสิ้น 29,581 คน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. พบการติดเชื้อใน 6 ชุมชน จำนวน 162 ราย ซึ่งพบมากที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ 61 ราย, เคหะบ่อนไก่ 14 ราย และชุมชนโปโล 10 ราย โดยตัวเลขพุ่งขึ้นมาในช่วงสงกรานต์ ซึ่งต้องรีบหาผู้ติดเชื้อเพื่อแยกออกจากคนในชุมชน ลงตรวจเชิงรุกในชุมชนเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย โดยวันที่ 4 พ.ค. จะไปตรวจเชิงรุกที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 80 ราย กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนวัดญวน, ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา และชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว โดยในวันที่ 21 เม.ย. ตรวจเชิงรุกในชุมชนดังกล่าว 447 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 22 ราย จากนั้นพบต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์ผับรัชดาฯ, ผับแถวพระราม 2 และกลุ่มที่ไปเที่ยวแพที่ จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ยังได้รับรายงานสถานการณ์ที่โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ว่าพบผู้ติดเชื้อ 160 ราย โดยเริ่มต้นมาจากพนักงานโรงงานชาวเมียนมา ป่วยตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. จากนั้นแพร่เชื้อไปยังเพื่อนร่วมห้องและพนักงานคนอื่น โดยมีการตรวจหาเชื้อพนักงานและญาติ 309 ราย พบติดเชื้อ 128 ราย และตรวจเชิงรุกในชุมชนใกล้เคียงอีก 47 ราย พบติดเชื้อ 9 ราย ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีพนักงาน 323 ราย ติดเชื้อแล้ว 151 ราย หรือ 46.8% ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการสั่งให้ปิดโรงงานแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.
ผุดศูนย์สู้โควิดเมืองกรุง
    เมื่อถามถึงผลการประชุม ศบค.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. มีข้อสรุปอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุมสรุปว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อบูรณาการงานโควิด-19 ที่เกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑล ที่ถือเป็นงานใหญ่มาก เนื่องจากเกิดการติดเชื้อเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงต้องยกระดับมาตรการขึ้น โดยจะตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ด้วยตัวเอง ซึ่งรายละเอียดการตั้งศูนย์นั้น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. จะเป็นผู้ยกร่าง และจะได้เสนอให้นายกฯ ลงนาม นอกจากนี้ จะมีการตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขตขึ้นมาด้วย โดยมีผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตของ กทม.เป็นหัวหน้าศูนย์ และรับการถ่ายทอดนโยบายต่างๆ ลงมา ถือเป็นการบูรณาการงานในระดับเขตของ กทม. เนื่องจากจำนวนประชากรใน กทม.มีประมาณ 10 ล้านคน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบ
“ที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือพยาบาล แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ขณะนี้ทุกคนรู้ดีว่าทุกโรงพยาบาลตึงอย่างเต็มที่ จึงมีการพูดถึงแพทย์อาสา ดังนั้นขอความกรุณา แพทย์ท่านใด บุคลากรการแพทย์ที่มีจิตอาสาต้องการเข้ามาช่วย หากสามารถเข้ามาช่วยได้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครขอให้ขึ้นรายชื่อไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมสรรพกำลังช่วยกันดูแลผู้ป่วยหรือผู้ที่ทุกข์ร้อนอยู่ในขณะนี้”
    เมื่อถามว่า เรื่องการฉีดวัคซีนในชุมชนคลองเตยตอนนี้จะทันหรือไม่ เพราะแพร่ระบาดแล้ว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า อย่างน้อยคนที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจะทำให้อาการจากหนักให้ลดน้อยลงได้ และอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรืออาการหนักจะได้ลดลง ดังนั้นต้องรีบรับการฉีดวัคซีน
    เมื่อถามว่า ผู้ป่วยที่ได้เข้าโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม.แล้วจะได้รับยาต้านยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคนใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมให้กรมการแพทย์ สธ.ไปดูเรื่องข้อสำคัญของเรื่องดังกล่าว และทบทวนปรึกษากันก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุม ซึ่งขณะนี้เราได้รับทราบกันว่ายาช่วยทำให้อาการน้อยลง ยืดระยะเวลา และช่วยชีวิตได้ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องการฉีดวัคซีนทำไมตัวเลขต่อวันจึงน้อยนั้น นั่นคือข้อมูลที่เป็นจริง เพราะเป็นปลายล็อตของซิโนแวค และได้รับทราบว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาล็อตใหม่เดินทางมาถึงไทยแล้วอีก 5 แสนโดส เป็นการเพิ่มขึ้นและลดลงตามความต้องการปกติ  
    “ยืนยันว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ โดยข้อมูลวันที่ 3 พ.ค. มียาคงเหลือ 1.6 ล้านเม็ด และกำลังนำเข้าจากญี่ปุ่นอีก 22 ล้านเม็ด” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขอประชาชนได้ทราบว่าการระบาดที่เกิดขึ้นเราแก้และปรับตามสถานการณ์ ทุกคนที่ทำงานโดยเฉพาะ ผอ.ศบค. รับทราบรับฟังทุกข้อแนะนำ ทั้งจากระดับผู้บริหาร นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ที่มีข้อแนะนำดีๆ เราก็นำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาการทำงานทุกวัน และการบูรณาการงานในภาพรวมของ กทม.และปริมณฑล ถึงแม้จะยากเพียงใด และศึกจะใหญ่เพียงไหน เพียงเรามีความร่วมมือกันของทางภาครัฐและเอกชน จะทำให้เห็นผลทางในการเดินไปด้วยกัน ขอความร่วมมือประชาชนให้ความร่วมมือด้วย
วัคซีนอันตรายน้อยกว่าข้ามถนน
    ทั้งนี้ ก่อนการแถลงข่าวประจำวันของ ศบค.ได้มีการนำคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเปิดก่อนการแถลงข่าว โดยเฉพาะในเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่ง นพ.ยงระบุว่า การให้วัคซีนแม้มีความเสี่ยง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ห่างกันเป็นพันเท่า โควิดมีโอกาสเสียชีวิตอย่างน้อย 1% แต่โอกาสเกิดอันตรายจากการฉีดวัคซีนอาจเป็นหนึ่งในหลายแสน หรือหนึ่งในล้าน ส่วนการแพ้วัคซีนตามข่าว ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราว แต่ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีน ซึ่งเปรียบเทียบเสมอว่าความเสี่ยงในการข้ามถนนอาจมากกว่าการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำ จึงขอให้มาฉีดวัคซีน เรามีมาตรการป้องกันการเกิดอันตรายอยู่แล้ว โดยการให้ฉีดที่โรงพยาบาล  
     ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าขณะนี้จำนวนวัคซีนโควิด-19 จัดสรรไปแล้ว 2.1 ล้านโดส มีจำนวนการได้รับวัคซีนโควิด-19 รวม 1,498,617 โดส โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,106,071 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 392,546 ราย โดยวัคซีนซิโนแวค 5 แสนโดสที่เข้ามาถึงไทยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ขณะนี้ได้กระจายไปส่วนภูมิภาคเพื่อเร่งฉีดให้ประชาชน ส่วนกำหนดการวัคซีนซิโนแวคที่จะเข้ามาในเดือน พ.ค. รวม 2.5 ล้านโดส เพื่อฉีดในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด แบ่งเป็นวันที่ 6 พ.ค. จะเข้ามา 1 ล้านโดส และวันที่ 22 พ.ค. อีก 1.5 ล้านโดส ทั้งนี้ เดือน มิ.ย.ก็จะมีวัคซีนล็อตใหญ่จากแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะทยอยส่งมอบจนครบ 61 ล้านโดส ดังนั้นตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ตัวเลขการฉีดวัคซีนในไทยจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ระบาด
    เมื่อถามถึงการฉีดวัคซีนล็อตแรกของแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มเสี่ยง 16 ล้านคน จะมีการประเมินตัวเลขผู้ลงทะเบียนตามความสมัครใจว่ามีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงกระจายไปยังกลุ่มหรือไม่อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า แผนของการฉีดวัคซีนจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ตามความจำเป็น ซึ่งเรามีแผนการกระจายวัคซีนในล็อตดังกล่าวไปกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น เดือน มิ.ย. ก็จะเปิดเทอม ก็จะพิจารณาฉีดให้บุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงในเหตุการณ์ระบาดที่เกิดขึ้น เช่น เขตคลองเตย ที่ต้องเอาวัคซีนไปฉีดให้ประชาชน แต่ต้องเน้นย้ำว่าวัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ก็จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้เช่นกัน
แจง 8 ข้อสู้คลัสเตอร์คลองเตย
    นพ.โอภาสยังกล่าวถึงกรณีมีการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียว่ามีกลุ่มคนไทยเช่าเครื่องบินเหมาลำไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีนโมเดอร์นาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาฟรี ไม่ต้องรอคิว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ว่าจากการสอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยหากเราใช้สามัญสำนึกเล็กน้อยในการวิเคราะห์ ที่สหรัฐยังฉีดคนของเขาได้ไม่ถึงครึ่ง แล้วเขาจะไปแจกฉีดให้คนอื่นได้อย่างไร ถ้าว่าฉีดแบบเสียเงินก็ยังพอมีเหตุผล แต่คนอเมริกาเองก็ยังฉีดไม่ครบ แล้วคนชาติอื่นจะฉีดฟรีก็ไม่สมเหตุสมผล
    ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ถึงการแพร่ระบาดของโควิดที่เขตคลองเตย ว่าได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด โดยได้ประชุมและกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์เร่งด่วน คือ 1.ให้ตรวจเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ทั้ง 39 ชุมชน เน้นไปที่ 20 ชุมชนที่เกิดการระบาด โดยเร่งตรวจชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000-1,500 คนต่อวัน และจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน 2.หากพบผู้ติดเชื้อ ให้แยกผู้ป่วยออกจากชุมชนตามระดับอาการเขียว, เหลือง และแดง เพื่อให้ศูนย์เอราวัณส่งตัวต่อเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลสำหรับกลุ่มนั้นๆ และ 3.กลุ่มสีแดง หรือกลุ่มติดเชื้อและมีอาการหนัก จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของ กทม.ทันที ซึ่งมีความเป็นห่วงผู้ป่วยในกลุ่มนี้มากที่สุด จึงได้เร่งรัดให้มีการเตรียมโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด
    4.ส่วนกลุ่มผู้เสี่ยงสูงที่ยังไม่พบว่าติดเชื้อ จะต้องกักตัวในบ้านจนกว่าจะได้รับการแจ้งผล และให้ผู้นำชุมชนช่วยเป็นผู้ประสานงาน ส่งอาหารให้ผู้กักตัว 5.จะระดมกำลัง 10-20 จุด เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด วันละ 1,000-3,000 คน รวมให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน ภายใน 2 สัปดาห์ และจะฉีดต่อไปให้ได้ถึง 60% ของประชาชนในชุมชนแออัดคลองเตย หรือประมาณ 80,000 คน 6.จะเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เพิ่มเติม โดย กทม. และกระทรวงกลาโหม ที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด 7.ให้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนในการส่งอุปกรณ์ป้องกันโรค อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ และ 8.ให้ทุกเขตใน กทม.เตรียมการเชิงรุก โดยใช้รูปแบบโมเดลคลองเตยนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต
    “ทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว โดยผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันการขยายวงของการแพร่ระบาด และให้รายงานความคืบหน้ากับผมโดยตรง ผมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับแผนการควบคุมสถานการณ์หากมีความจำเป็น เป้าหมายคือการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้เล็กที่สุด และควบคุมให้ได้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกคนกำลังเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคนครับ"
    ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยรถพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พร้อมมอบเจลแอลกอฮอล์ให้ประชาชน บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยชุมชนพัฒนาบ่อนไก่และตลาดคลองเตย เขตคลองเตย ส่วนสำนักงานเขตปทุมวัน ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยเคลื่อนที่ทำการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มเสี่ยงที่ภายในชุมชนบ่อนไก่ จำนวน 1,000 คน ขณะที่ลานจอดรถตลาดคลองเตย โดยสำนักงานเขตคลองเตยก็ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย และกรมควบคุมโรคนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานจำนวน 2 คัน เพื่อใช้ในงานเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ส่งตรวจหาเชื้อ ด้วยวิธีการ SWAB จำนวนผู้รับการตรวจประมาณ 600 คน
ย้ำแจกยาฟาวิพิราเวียร์
        พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่า หากติดเชื้อ กทม.พร้อมนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาของ กทม. ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง พร้อมมอบยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยตามระดับอาการที่แพทย์ประเมิน ซึ่ง กทม.ได้จัดซื้อยาดังกล่าวเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนการสวอบครั้งนี้ เขตปทุมวันสามารถให้บริการได้วันละ 1,000 คน ส่วนคลองเตยได้กำชับให้เขตเพิ่มจุดให้บริการตรวจให้ได้อีก 4 จุด สามารถตรวจได้วันละ 1,000 คน รวม 4,000 คน สำหรับผลการตรวจจะแจ้งให้ผู้รับการตรวจทราบภายใน 24 ชม. โดยผู้ที่มีผลการตรวจเป็นลบ หรือไม่ติดเชื้อ ขอให้ไปรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกคน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเขตเพิ่มจุดบริการวัคซีนให้ทั่วถึง โดย กทม.ตั้งเป้าจะฉีดให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ 50,000 คน คิดเป็น 70% ของประชาชนในพื้นที่
         “ในวันที่ 5 พ.ค. เวลา 10.30 น. กทม.มีกำหนดประชุมแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน เช่น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมที่สุด”พล.ต.อ.อัศวินกล่าว
    ผู้ว่าฯ กทม.ยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนในเขตคลองเตยว่า กทม.ได้กำหนดจุดให้บริการฉีดวัคซีน 2 จุด ได้แก่ บริเวณวัดคลองเตย และศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาพระราม 4 สำหรับวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการให้บริการฉีดวัคซีน คาดว่าจะมีผู้เข้ารับวัคซีนประมาณ 1,000 คน เนื่องจากเริ่มดำเนินการในช่วงบ่าย จากนั้นตั้งเป้าฉีดให้ได้วันละ 2,500-3,000 คน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดจำนวน 50,000 คน นอกจากนี้ กทม.จะเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ให้ได้วันละ 1,000 คน โดยดำเนินการต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.นี้
    “กทม.มีเป้าหมายจะให้บริการฉีดวัคซีนประชาชนทุกคนในชุมชนคลองเตยที่พร้อม และสมัครใจรับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทราบว่าการรับการฉีดวัคซีนนั้น นอกจากจะเป็นผลดีต่อตนเองที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ยังเป็นผลดีต่อครอบครัวของท่าน ที่จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งยังเป็นผลดีต่อสังคม” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว            ส่วนนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังจากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อจัดพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกให้ชาวชุมชนคลองเตยเป็นการเร่งด่วน ว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปให้การท่าเรือจัดพื้นที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ชุมชนพัฒนา 70 ไร่ เพื่อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารสุข นำรถ Mobile LAB มาตรวจหาเชื้อไวรัสเชิงรุกให้แก่ชาวชุมชนคลองเตย โดยวันที่ 4 พ.ค. เปิดจุดตรวจ 1 จุด คือ โดมอเนกประสงค์ ชุมชนพัฒนา 70 ไร่ และในวันที่ 5 พ.ค. จะเปิดเพิ่มอีก 4 จุด ประกอบด้วย โดมอเนกประสงค์ บริเวณแฟลต 11-18, โดมอเนกประสงค์ บริเวณแฟลต 19-22, โดมอเนกประสงค์ บริเวณล็อก 4-5-6 และโดมอเนกประสงค์ ลานกีฬาชุมชนโรงหมู
         ขณะเดียวกัน เรือโท ดร.ชำนาญ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ กทท. พร้อมเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ที่จะเข้ารับการตรวจ โดยช่วงเช้าจะดำเนินการตรวจเชิงรุกให้แก่ชาวชุมชน 70 ไร่ จำนวน 350 คน ส่วนช่วงบ่ายจะตรวจเชิงรุกให้แก่ชาวชุมชนล็อก 4-5-6 อีก 350 คน ซึ่งการตรวจหาเชื้อเชิงรุกนี้จะรู้ผลภายใน 1-2 ชั่วโมง นอกจากนี้ การท่าเรือฯ ยังได้แจกน้ำดื่ม เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ให้แก่ผู้ที่มารับการตรวจทุกคนอีกด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"