SEAMEO Congress 2021: การปรับตัวของอุดมศึกษาในยุคดิจิตอล


เพิ่มเพื่อน    

 

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย ได้จัดประชุมสมัชชาการศึกษา The SEAMEO Congress 2021 ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2564 ภายใต้หัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคดิจิตอล” (Transforming Southeast Asian Education, Science and Culture in the Digital Age) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ออกแบบนโยบายด้านการศึกษา นักการศึกษา นักวิจัย ภาคีด้านการศึกษา ผู้แทนองค์การสหประชาชาติเข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน

ศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาของซีมิโอ (SEAMEO Regional Centre for Higher Education and Development: RIHED) จัดให้ถกแถลงในประเด็น “การปรับตัวของอุดมศึกษาในยุคดิจิตอล”

(Transforming Higher Education in the Digital Era) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุดมศึกษาจาก 3 ทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา กล่าวคือศาสตราจารย์ เมลินดา เดลา เพนยา บันดาลาเรีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเปิดของมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ และประธานอธิการบดีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเปิดแห่งเอเชีย รองศาสตราจารย์ สมพร พุทธาพิทักษ์ผล รักษาการรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเทศไทย คุณเฮเลน บัลเดอร์รามา รองผู้อำนวยการ โครงการความร่วมมือนานาชาติ และ ศาสตราจารย์ โดมินิก ชัฟเฟล ดูนองด์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โครงการการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายโลก (Globally Networked Learning) มหาวิทยาลัยยอร์ก แคนาดา คุณซิลวี บอนิชอน ผู้เชี่ยวชาญ EURASHE เบลเยี่ยม และ ดร.รันเดล มาร์ติน ผู้อำนวยการ สภาบริติชโคลัมเบียเพื่อการศึกษานานาชาติ (British Columbia Council for International Education) ประเทศแคนาดา

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ท่านชี้ให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนในภาคอุดมศึกษาเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน เพราะการศึกษาคือสินค้าสาธารณะ (public goods) และสถาบันอุดมศึกษาคือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) ที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

ณ ปัจจุบัน สังคมกับเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตที่ทำให้โลกพลิกผัน (Disruptions) หลายประการ เช่น ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศในหลายจุดทั่วโลก วาระการพัฒนาของโลกที่ทุกฝ่ายมุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเสมอภาค อาทิ วาระการศึกษาของโลก 2030 (Education Agenda 2030) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) กระทบต่อการอุดมศึกษาโดยตรงเพราะเป็นทั้งแหล่งผลิตความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน การทำหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงภารกิจสำคัญที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนที่จะต้องออกไปใช้ชีวิตและทำงานในโลกการทำงานแห่งอนาคต จึงต้องการการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่อุดมศึกษาเผชิญกับภาวะ VUCA คือ V- Volatility ความผันผวน U- Uncertainty ความไม่แน่นอน C- Complexity ความซับซ้อนของปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน A- Ambiguity ความคลุมเครือไม่ชัดเจนในหนทางการแก้ปัญหา ดังนั้น การระบาดของไวรัสโควิด-19 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร จึงกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นเครื่องมือที่ไม่เพียงแต่ทำให้ได้ปรับตัว และต้องเป็นการปรับตัวที่ล้มแล้วลุกเร็ว (Resilience)  

ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วพลิกผัน (Disruptions) เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวโดยมีแผนรองรับเพื่อให้ภารกิจของตนเองสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง (Continuation Plan) ศาสตราจารย์ บันดาลาเรีย มองว่าการปรับตัวของอุดมศึกษาต้องมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นคุณภาพการศึกษา และดำเนินการด้วยการมองสู่อนาคต สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเร่งปรับตัวด้วยการเปลี่ยนสื่อกลางในการเรียนการสอนโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี แต่การปรับเพียงเรื่องสื่อกลางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีไม่ได้เป็นหลักประกันถึงคุณภาพของการศึกษาเพราะอาจจะไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ไม่มีการออกแบบการเรียนรู้ที่ดีพอ และการประเมินการเรียนรู้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายของการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสำหรับผู้เรียนบางกลุ่ม 

ศาสตราจารย์ โดมินิก ชัฟเฟล ดูนองด์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โครงการการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายโลก (Globally Networked Learning) มหาวิทยาลัยยอร์ก แคนาดา ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการเรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิตอลต่อผู้เรียนภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาที่ 2 ซึ่งพบว่า แม้ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้เนื้อหา องค์ความรู้ และทักษะทางภาษาผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลได้ แต่สมรรถนะและความสามารถในการทำงานหรือการประสานความร่วมมือ (Cooperation) ตลอดจนการร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Co-creation) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการทำงานเป็นทีมข้ามศาสตร์หรือการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีทักษะที่แตกต่างเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะตอบสนองต่อโจทย์ที่ซับซ้อนพัวพันกันของโลกปัจจุบัน

นักวิชาการได้สรุปถึงประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรภายใต้กลยุทธ์การสร้างความเป็นนานาชาติว่ามีส่วนทำให้ผู้เข้าโครงการฯ มีทักษะที่จะเรียนรู้และอยู่อาศัยในบริบทสังคมข้ามวัฒนธรรม มีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีภูมิหลังแตกต่าง มีความเป็นพลเมืองโลก และมีความเป็นนานาชาติ นักวิชาการพบว่าคุณสมบัติเหล่านี้มีผลโดยตรงและเอื้อให้เกิดความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อนของโลกได้ และแม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางจะทำให้โครงการแลกเปลี่ยนเชิงกายภาพหยุดชะงัก แต่ประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยยอร์ก แคนาดา กลับพบว่าการออกแบบการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยความร่วมมือในต่างประเทศที่ดี ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวในต่างประเทศที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดชั้นเรียนออนไลน์โดยกำหนดให้ผู้เรียนในแคนาดาทำงานคู่กับผู้เรียนในค่ายผู้ลี้ภัย หรือมีกิจกรรมที่ให้คิดและทำร่วมกัน ซึ่งถ้าหากเป็นการแลกเปลี่ยนแบบกายภาพในสภาวะปกติแล้ว นักศึกษาแคนาดาจะไม่สามารถเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่เฉพาะ หมายความว่า แม้การแลกเปลี่ยนที่ถูกมองว่าได้รับผลกระทบโดยตรง ก็สามารถออกแบบให้มีการดำเนินงานที่ส่งผลดีกับผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่องและอาจจะมีบางมิติที่ดีกว่าได้อีกด้วย

โดยภาพรวม แม้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดจะเห็นพ้องว่าการปรับเปลี่ยนของอุดมศึกษาด้วยการผนวกร่วมเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสามารถส่งเสริมให้การเรียนรู้ขยายไปได้กว้างไกลขึ้น ต้นทุนน้อยลง รวดเร็ว แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การปรับเปลี่ยนของอุดมศึกษาประสบความสำเร็จเพียงใดขึ้นอยู่กับผู้บริหารอุดมศึกษาและนโยบายที่ชัดเจน กลไกในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ผู้เรียนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบุคลากรทุกคนในสถาบันอุดมศึกษา และประชาชนที่เป็นผู้เรียนตลอดชีวิต ประเด็นสำคัญอีกเรื่องอยู่ที่ผู้ออกแบบการเรียนรู้ซึ่งจำเป็นต้องทำให้การเรียนรู้มีสมดุลทั้งองค์ความรู้ ทักษะทางวิชาชีพ โลกทัศน์ต่อโลกที่เห็นประโยชน์ของสังคมส่วนรวมในฐานะพลเมืองโลก และทักษะทางสังคมที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีพื้นฐานที่แตกต่าง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) และมีความใคร่รู้ (inquisitive mindset) พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวตลอดชีวิต

กล่าวโดยสรุปคือ สถาบันอุดมศึกษาในยุคดิจิตอลต้องปรับตัวเร็ว (agile and flexible) ตอบสนองต่อความจำเป็นของผู้เรียนและสังคม สถาบันอุดมศึกษาควรจะมองเทคโนโลยีดิจิตอลว่าเป็นโอกาสและใช้ในฐานะเครื่องมือของผู้ออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงอย่างเสมอภาค ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและร่วมมือของผู้คนที่มีความแตกต่างเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม

 

คอลัมน์เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร ร่มเย็น โกไศยกานนท์
ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา  (SEAMEO RIHED)
อาจารย์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"