วิกฤติโควิด มรสุมศก.ไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

       2564 เป็นอีกปีที่ “เศรษฐกิจ” ยังเจอมรสุมหนักเอาการ โดยเฉพาะจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นั่นคือการระบาดของโควิด-19 ที่หลายประเทศก่อนหน้านี้ รวมถึงประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้เป็นอย่างดี   แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับแตกต่าง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง เจอการระบาดระลอกใหม่ที่ปะทุขึ้นมาอย่างหนัก จนหลายฝ่ายออกมาประเมินว่า การระบาดระลอก 3 นี้ ในแง่ของการระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อ ที่กระจายเป็นวงกว้าง ถือว่าสถานการณ์สาหัสกว่าระลอกที่ผ่านๆ มาอย่างมาก

                โดยต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดในระลอกใหม่นี้ สร้างความหวาดหวั่นให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันที่ยังอยู่ในระดับสูงที่สร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วไป นั่นเพราะการระบาดในรอบนี้ไม่เพียงจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่การกระจายวัคซีนของรัฐบาลที่ต้องยอมรับว่ายังทำได้ค่อนข้างช้า และยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ มิติเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน

                ส่วนในแง่มุมของ “เศรษฐกิจ” แม้หลายฝ่ายจะมองว่าในมิติของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่นี้อาจจะไม่แย่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่าง “ล็อกดาวน์” เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าต่อไป แต่หากมองในรายละเอียดจะพบว่า แม้รัฐบาลไม่ได้ล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่หลายๆ มาตรการจากการขอความร่วมมือ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังลุกลามต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่นของประชาชน”  อย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจจะมีผลไปยังแนวโน้มการใช้จ่าย อุปโภคบริโภค ไปจนถึงสถานการณ์การจ้างงานในระยะต่อไป เพราะมีหลากหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดในรอบใหม่นี้อยู่ไม่น้อย

                ก่อนหน้านี้ “ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)” ได้ออกมาประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% เนื่องจากผลกระทบอย่างมาก จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล และแนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ ขณะที่มาตรการเยียวยาที่อาจจะได้ผลน้อยกว่าที่คาดการณ์ อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน

                ขณะที่ “กระทรวงการคลัง” เอง ล่าสุดได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ เหลือ 2.3% เท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% โดยยังหนีไม่พ้นผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมคาด 5 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลงถึง 49% เหลือ 1.7 แสนล้านบาท จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6 แสนล้านบาท

                “กระทรวงการคลัง” ยอมรับตรงๆ ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีผลสำคัญต่อการปรับประมาณการในครั้งนี้ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในหลายประเทศ แม้ว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ หลายประเทศจะมีสถานการณ์ดีขึ้น หลายประเทศมีการกระจายวัคซีน แต่ก็ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์

                ขณะที่ “ศูนย์วิจัย Kurngthai COMPASS” ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 1.5-3% ท่ามกลางปัจจัยหลักอย่างความสามารถในการจัดการโควิด-19 กลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการประเมินว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.2564 จากไวรัสกลายพันธุ์ ที่อาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าสถานการณ์จะทยอยคลี่คลาย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำ (Double-dip)  และอาจกระทบเศรษฐกิจลากยาวถึง 6 เดือนเหมือนที่เกิดในอังกฤษ, การแจกจ่ายวัคซีนได้ตามแผน และรัฐอัดฉีดเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจอีกกว่า 2 แสนล้านบาท แต่หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประมาณการได้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"