‘บิ๊กตู่’ปลุกปชช.ฝ่าวิกฤติโควิด


เพิ่มเพื่อน    

  ศบค.เผยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,112 ราย มีเสียชีวิต 15 ราย ป่วยโคม่า 1,042 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 343 คน รับเชื้อโควิดบราซิลเข้าไทย แต่อยู่ในสถานกักตัว "บิ๊กตู่" ดึง 8 อาจารย์หมอเป็นที่ปรึกษาศูนย์แก้ไขโควิด กทม.-ปริมณฑล พร้อมตั้ง "เลขาฯ สมช." นั่งประธาน กก.เฉพาะกิจบูรณาการด้านการแพทย์ "อนุทิน-สาธิต" ที่ปรึกษา วางเป้าฉีดวัคซีนเมืองกรุงวันละ 6 หมื่นคน นายกฯ ลั่นสู้โควิดไม่มีท้อ ผุด รพ.สนามเพิ่มที่อิมแพ็ค "บ.ไฟเซอร์ฯ" แจงยังไม่มีวัคซีนเข้ามาในไทย "ครม." ไฟเขียวงบกลาง 12,576 ล้านบาทให้ สธ.แก้โควิดระลอกเม.ย.

    เมื่อวันที่ 5 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,112 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,107 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,955 ราย ค้นหาเชิงรุก 152 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 74,900 ราย หายป่วยสะสม 44,360 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 1,886 ราย อยู่ระหว่างรักษา 30,222 ราย อาการหนัก 1,042 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 343 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 15 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 7 ราย อายุเฉลี่ย 50-86 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมี 1 รายที่มาโรงพยาบาลโดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในวันดังกล่าวเลย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 318 ราย
    "สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 5 พ.ค. ได้แก่ กทม. 789 ราย, นนทบุรี 249 ราย, สมุทรปราการ 226 ราย, ชลบุรี 110 ราย และสุราษฎร์ธานี 65 ราย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑลยังเป็นตัวเลขก้อนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อของ กทม.และปริมณฑลวันที่ 5 พ.ค. รวมกัน 1,314 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 154,973,048 เสียชีวิตสะสม 3,241,024 ราย" พญ.อภิสมัยกล่าว  
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ใน กทม.ผอ.เขตปทุมวันได้รายงานเรื่องการลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงรุกระหว่างวันที่ 5 เม.ย.-4 พ.ค. ว่าได้ค้นหาเชิงรุกในชุมชนในเขตปทุมวันไปร่วม 30,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,586 ราย เฉพาะวันนี้ในพื้นที่เขตปทุมวันพบผู้ติดเชื้อ 162 ราย ซึ่งทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว และมีผู้สัมผัสใกล้ชิด 304 ราย ทั้งหมดได้ให้กักตัวที่บ้าน ถ้ามีพบว่ามีผู้ติดเชื้อจะมีการคัดแยกและส่งต่อไปรักษาตามอาการ อีกทั้งสำนักอนามัยยังจัดถุงยังชีพเพื่อให้การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย
    "ในสัปดาห์นี้ กทม.จะคุยกันเรื่องการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งทั้ง 50 เขตมีประชาชนอย่างน้อย 7 ล้านคน จะระดมฉีดให้ได้วันละ 60,000 รายต่อวันเป็นอย่างน้อย" พญ.อภิสมัยกล่าว
    ถามถึงรายงานการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลในไทย พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ตอนนี้บุคคลต่างๆ ที่เดินทางเข้าไทยจะจัดให้อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ซึ่งนอกจากตรวจหาเชื้อแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มมาตรการตรวจหาสายพันธุ์ด้วย ยอมรับว่าตอนนี้มีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลในสถานกักตัวของรัฐ แต่ยังไม่มีการพบชุมชน  
ตั้ง 8 อาจารย์หมอที่ปรึกษา
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ลงนามคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขโควิด-19 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตามที่พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอรายละเอียด โดยศูนย์ดังกล่าวมีนายกฯ เป็น ผอ.ศูนย์ฯ แบ่งการทำงานเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดหาผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน โดยให้ ผอ.เขต ผอ.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในระดับเขตจะทำงานร่วมกับศูนย์ใหญ่บริหารจัดการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน
    นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาความเห็นและข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสาธารณสุขและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย 1.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร 2.นพ.อุดม คชินทร 3.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา 4.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ 5.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา 7.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร 7.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล และ 8.นพ.ไพโรจน์ จงบัญญัติเจริญ  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 มีคณะกรรมการ 22 คน โดยรมว.สาธารณสุขและ รมช.สาธารณสุขเป็นที่ปรึกษา, เลขาธิการ สมช. เป็นประธานกรรมการ, ปลัด สธ.และปลัดมหาดไทยเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ 17 คน ประกอบด้วย อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, อธิบดีกรมสุขภาพจิต, อธิบดีกรมอนามัย, ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม, เลขาธิการองค์การอาหารและยา, เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ,เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, เสนาธิการทหาร, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม, นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน, อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ, รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้ช่วยเลขาธิการ สมช. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ได้รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและเกิดกลุ่มก้อนต่างๆ ในหลายจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และสั่งการเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ดังต่อไปนี้ เรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ได้สั่งให้มีการจัดระบบการบูรณาการเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด นอกจากนั้นได้สั่งให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อรอส่งไปรักษาตัวต่อไป พร้อมกันนั้นได้สั่งการให้ทั้ง สธ., กทม., ก.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงกลาโหม เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด
    "จากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้เรามีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง และรัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีคลัสเตอร์คลองเตยว่า ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยได้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก
'บิ๊กตู่'ลั่นสู้โควิดไม่มีท้อ
    "เรื่องการจัดหาและการฉีดวัคซีนได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายคือ ภายในสิ้นปีนี้ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดย 61 ล้านโดสนี้เป็นวัคซีนของบริษัท แอสตร้า เซนเนก้าฯ ที่จะผลิตในประเทศไทย และจะเริ่มส่งมอบได้แน่นอนในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเริ่มทำการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวได้ทันทีจำนวน 16 ล้านคน นอกจากนั้นในเดือนนี้เราจะได้รับวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มเติมจากแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าและผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด และ สธ.ยังเสนอแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมคือ วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิก วี, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้" นายกฯ กล่าว
    ""ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและ ศบค.ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. จะไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคนก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า วันนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้ประชุมและจัดตั้ง รพ.บุษราคัม ที่บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ในกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยมีจำนวนเตียง 1,200 เตียง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่หาเตียงไม่ได้  
    ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ว่ากระบวนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ต้องเป็นผู้ที่รับอนุญาตนำเข้าและมีทะเบียน รวมทั้งต้องผ่านด่านอาหารและยาเพื่อนำเข้าอย่างถูกต้อง ซึ่งขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมี 3 ราย ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม รวมถึงวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น- ซีแลค จำกัด สำหรับวัคซีนโมเดิร์นนา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน และยังมีอีก 2 รายอยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิก วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ยังไม่ได้มายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับ อย.
    "กระแสข่าวว่ามีการนำเข้าวัคซีนของไฟเซอร์โดยยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.นั้น ได้ตรวจสอบยืนยันไม่พบมีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด" เลขาฯ อย.กล่าว
    วันเดียวกัน ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ได้มีข้อความปรากฏเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคในประเทศไทย จากหลายแหล่งข่าวและสื่อออนไลน์หลายแห่ง บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการดำเนินงานรวมถึงจุดยืนบริษัทฯ ไฟเซอร์มุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อให้คนทั่วโลกรวมถึงประชาชนชาวไทยได้สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของเราได้อย่างเท่าเทียมกัน ในภาวะของการระบาด ณ ขณะนี้ ไฟเซอร์จำเป็นต้องมุ่งจัดลำดับความสำคัญโดยมุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีน ผ่านหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติเท่านั้น ในขณะนี้ไฟเซอร์อยู่ระหว่างการทำงานและหารืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทย
    "เราขอรับรองว่าไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคไม่มีนโยบายจัดจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใดๆ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันไม่เคยมีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น" แถลงการณ์ระบุ
งบ1.2หมื่นล.รับมือรอบ3
    นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ดว่า กรมได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว ภายหลังจากให้โอกาสผู้ขอได้ชี้แจงเพิ่มเติม โดยผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาแล้วยังคงเห็นว่าการประดิษฐ์ดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ใดมีสิทธิผูกขาดในยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งในโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลัก ซึ่งไม่เคยมีการขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยและรูปแบบยาเม็ด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเม.ย.2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576  ล้านบาท ตามที่ สธ.เสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทันเวลา ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ
    "ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเม.ย.2564 ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท เพื่อลดการติดเชื้อใหม่ให้ไม่เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม และกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาส" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว
    ขณะที่บริเวณลานจอดรถห้างโลตัส พระราม 4 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่คลองเตยเป็นวันที่ 2 กทม.ได้จัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนในชุมชนคลองเตย ซึ่ง กทม.ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 2,500-3,000 คน โดยวัคซีนที่ กทม.นำมาฉีด ประกอบด้วย วัคซีนของซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้า โดยซิโนแวคฉีดให้กับประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี 10 เดือน และแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
    นพ.ปราการ ถมยางกูร ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าลงทะเบีบนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมว่า ข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม จำนวน 1,016,893 ราย และลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาล รพ.สต. อสม. 135,999 ราย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับการฉีควัคซีนด้วย
    ด้านเว็บไซต์กรมสวัสดิการกองทัพบก เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า กองทัพบกขอดูแลประชาชนในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยให้ฌาปนสถานของกองทัพบก ได้แก่ 1.วัดโสมนัสวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 2.วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิตร รามอินทรา เขตบางเขน 3.วัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด ทำการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดต่อได้ที่ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด ทบ. 0-2270-5685-9 ตลอด 24 ชม.
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สั่งการให้กรมสวัสดิการทหารบก และหน่วยทหารทั่วประเทศ รวมทั้งฌาปนสถานของกองทัพบกในพื้นที่ กทม. ได้แก่ วัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด, วัดโสมมนัสวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เขตบางเขน ได้ให้ความอนุเคราะห์และช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจัดเตรียมสถานที่ในการประกอบพิธีทางศาสนา การเผาศพให้กับศพของผู้ติดเชื้อโควิดที่ครอบครัวหรือญาติมีความเดือดร้อนและขอรับการสนับสนุน นอกจากนี้ ได้มอบให้พิจารณาอำนวยความสะดวกในการจัดยานพาหนะช่วยเคลื่อนย้ายศพไปยังวัด ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อตามที่สาธารณสุขแนะนำอีกด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"