เส้นทางสู้คดี หลังศาลให้ประกัน แกนนำคณะราษฎร 63


เพิ่มเพื่อน    

เราต้องการความเป็นอิสระ ของตุลาการในการวินิจฉัยคดี

หลังจากนี้น่าติดตามยิ่งนักกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคณะราษฎร 63 เมื่อแกนนำบางส่วนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นกรณีเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  หรือรุ้ง ขณะเดียวกันศาลอาญาก็ได้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำคนอื่น คือนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ในวันอังคารที่ 11 พ.ค.นี้  ซึ่งมีโอกาสไม่น้อยที่ทั้งหมดอาจได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันดังกล่าว 

สำหรับเส้นทางการสู้คดีของแกนนำม็อบคณะราษฎร 63 ต่อจากนี้ รวมถึงการต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งกว่าที่แกนนำอย่าง "รุ้ง-ปนัสยา" จะได้รับการประกันตัว มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยผ่านการถ่ายทอดโดย กฤษฎางค์ นุตจรัส  ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน-หัวหน้าทีมทนายความแกนนำม็อบคณะราษฎร 63 ที่เริ่มด้วยการพูดถึงการยื่นขอประกันตัวแกนนำคณะราษฎร 63 ร่วมสิบครั้ง ก่อนที่สุดท้ายศาลอาญาจะมีคำสั่งปล่อยตัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยบอกว่าการเคลื่อนไหวของ กลุ่มคณะราษฎร 63 มีแกนนำและผู้ร่วมเคลื่อนไหวถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีร่วม 80 คน โดยหลายคนก็โดนตั้งข้อหาทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 โดยเฉพาะพวกแกนนำอย่างเช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา, ภาณุพงศ์,  อานนท์ นำภา เป็นต้น

            ...ในส่วนของแกนนำสี่คน คือ เพนกวิน, รุ้ง, อานนท์  และไมค์ ก่อนหน้านี้ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอาญา โดยยื่นไปร่วม 9-10 ครั้ง โดยยื่นคำร้องว่าสิทธิในการให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เป็นสิทธิที่กฎหมายให้อยู่แล้ว เพราะคนเหล่านี้ยังไม่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา-ตามกติการะหว่างประเทศ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกฎบัตรว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประเทศไทยลงนามไว้กับนานาชาติ บัญญัติไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ให้ถือไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา และสิทธิในการได้รับการประกันตัวและสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวต้องได้รับการรับรองโดยไม่มีเงื่อนไข การจะมีเงื่อนไขใดๆ ต้องเป็นไปเพียงเพื่อปกป้องสังคมหรือปกป้องการที่ผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดี

            ...ทีมทนายความได้ชี้ให้ศาลเห็นตลอดเวลาว่า สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมันมีอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  และเขามีความประสงค์ที่จะต่อสู้คดี ซึ่งการไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ระบุเหตุแห่งการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้มีอยู่ไม่กี่เหตุ ทางเรายืนยันว่าเหตุของบุคคลเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เราก็ยกให้ศาลเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ พวกเขาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เพราะทุกครั้งที่ถูกดำเนินคดี พวกเขาไปพบพนักงานสอบสวนและอัยการทุกครั้ง จึงไม่มีเหตุที่ศาลก็ถือว่าไม่มีเหตุ แต่เหตุที่ศาลไม่ให้ประกันตัว ศาลบอกว่าบุคคลเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง และเป็นการกระทำที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันอันเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ประกอบกับเกรงว่าเมื่อออกไปแล้วจะไปกระทำความผิดซ้ำอีก เราก็โต้แย้งว่าความผิดที่ว่ามีอัตราโทษสูง ป.วิอาญา มาตรา 108/1 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าจะเป็นเหตุในการจะไม่ให้ประกันตัว เพราะในระบบกล่าวหา  พนักงานสอบสวนหรืออัยการที่ยื่นฟ้อง เขาอาจตั้งข้อกล่าวหาหรือยื่นฟ้องในคดีที่มีอัตราโทษสูงได้ที่ก็มีหลายคดี เมื่อฟ้องไปแล้วการฟ้องนั้นเกินกว่าความเป็นจริง ศาลก็ตัดสินยกฟ้อง

            หลักสันนิษฐานข้อกฎหมายที่เราพูดกันก็คือว่า เมื่อศาลยังไม่ได้ตัดสิน โดยที่จะกล่าวหาหรือยื่นฟ้องแบบไหนก็ได้ มันไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำมาพิจารณาในการให้ประกันตัว เพราะระบบกฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหา ตำรวจสามารถตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ก็ได้ ถ้าอย่างนั้นศาลไปเชื่อหรือว่าตำรวจฟ้องแล้วต้องมีมูลความจริง ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจพิจารณา

ส่วนประเด็นที่ว่าออกไปแล้วจะไปกระทำความผิดซ้ำอีก ก็เนื่องจากการกระทำในคดีมันยังไม่เป็นความผิด ในหลักการก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาไม่ได้กระทำ หากเขาได้รับการประกันตัวแล้วเกิดเขาออกไปกระทำความผิดใดๆ ก็เป็นอำนาจของตำรวจที่จะจับตัวส่งฟ้องศาลหรือส่งตัวดำเนินคดีอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นในความเป็นจริง กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ "ไปกระทำผิดซ้ำอีก" แต่ใช้คำว่า "ไปก่อให้เกิดภยันตรายอื่น" ซึ่งการก่อให้เกิดภยันตราย ยกตัวอย่างเช่นมีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย แล้วบุคคลนั้นประกาศว่า หากได้ประกันตัวออกไปจะออกไปฆ่าพยาน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าไปก่อภยันตรายและเป็นการไปก่อให้เกิดภยันตรายอื่น ไม่ใช่ภยันตรายในคดี  เพราะในคดีที่ฟ้องยังไม่มีการตัดสินว่ากระทำความผิด  หลักมันชัดเจนอยู่แล้ว เราก็ยื่นหลักตรงนี้เพื่อคัดค้านการไม่ปล่อยตัวชั่วคราว แต่หลังจากศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นศาลก็อธิบายในการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวครั้งหลังๆ ร่วม 8-9 ครั้งว่า "ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง" เท่านั้นเอง 

ขณะเดียวกันเมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ศาลมีการให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีที่มีการฟ้องกระทำความผิดเดียวกันกับเพนกวินและรุ้ง คือสมยศ พฤกษาเกษมสุข, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, ปติวัฒน์  สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ศาลก็ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งที่เป็นกรรมเดียวกัน เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากคดีเดียวกัน  จากมูลคดีเดียวกัน คือถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิด ตอนหลังเราก็ใช้หลักยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวไปว่า เมื่อศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลอื่นในคดีลักษณะเดียวกันได้  ทั้งที่เป็นการกระทำเดียวกัน เราก็ขอให้ศาลเมตตาในสิทธิที่เรามีอยู่ด้วย

            กฤษฎางค์-ทนายความแกนนำม็อบคณะราษฎร 63 กล่าวต่อไปว่า เหตุที่เราต้องการให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะปัจจุบันมันอยู่ในสภาวะที่ว่าเนื่องจากจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นทนายต้องคุยกับจำเลยถึงพยานหลักฐานที่เขาต้องรวบรวมมาต่อสู้คดี เช่น เหตุจูงใจ เจตนา แล้วมันผิดจริงตามที่โจทก์กล่าวหาหรือไม่ ในเมื่อพวกเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาแล้ว การสู้คดีมันต้องมีพยานหลักฐาน แต่เนื่องจากการที่เขาถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ การติดต่อกันกับทนายความทำได้ยากมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อ้างว่ามีโควิด การคุยกับทนายเขาต้องคุยกันผ่านทางโทรศัพท์หรือทีวีคอนเฟอเรนซ์ ระหว่างจำเลยคือพวกแกนนำกับทางเรา ที่ก็มีโอกาสได้เจอกันน้อยมาก และพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีที่พวกแกนนำคณะราษฎรถูกฟ้อง ทางโจทก์อ้างพยานบุคคลถึง 80 คน รวมถึงภาพเคลื่อนไหวและพยานเอกสารต่างๆ 200 กว่าอันดับ ก็ทำให้โอกาสที่ทนายความจะไปปรึกษาหารือกับพวกเขาอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมการต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้พวกเขาจึงเป็นไปได้ยาก

การเอาเอกสารต่างๆ ส่งเข้าไปในเรือนจำก็ทำไม่ได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ รวมถึงการพูดคุยกันในลักษณะเป็นการส่วนตัวระหว่างทนายความกับจำเลยที่เป็นหลักสำคัญ เพราะจำเลยก็ต้องการเล่าเรื่องของเขาเป็นการส่วนตัวกับทนายความ เมื่อไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็เท่ากับเป็นการปิดโอกาสพวกเขาไม่ให้เข้ามาในกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเหตุให้พวกเขาบอยคอตกระบวนการยุติธรรม โดยการถอนทนายความเมื่อวันที่ 8 เม.ย.  เพราะเขาถือว่าเขาจะไม่เข้าร่วมในกติกาที่เขาเสียเปรียบ คำพิพากษาที่จะตัดสินออกมาจะเป็นการชี้ชะตาของพวกเขา ทั้งเรื่องอุดมการณ์, แนวความคิด, อิสรภาพของพวกเขา ทำให้พวกเขาต้องการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

...ที่ผ่านมาเราก็พยายามอย่างมาก นำทั้งรองอธิการบดี, คณบดี, รองคณบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายื่นขอประกันตัว แต่ก็ยังไม่ได้รับความเมตตา จึงเป็นเหตุให้พวกเขาอึดอัด เพราะที่ผ่านมาลักษณะจะเป็นการที่พวกเขาได้รับสิทธิในการพบทนาย หรือพบญาติพี่้น้องเพื่อปรึกษาหารือกันมีน้อย ซึ่งมันอาจเกิดจากข้ออ้างว่าเป็นคดีที่มีคนสนับสนุนเยอะ เกรงจะเกิดความวุ่นวาย  เพื่อรักษาความเรียบร้อยในการพิจารณาคดี อย่างที่ศาล  โดยปกติแล้วเมื่อจำเลยมาที่ศาล ผู้ต้องหาหรือจำเลยกับทนายความจะต้องได้คุยกัน ได้ปรึกษากัน แต่ในคดีนี้ไม่ได้อย่างนั้น รวมถึงในเรือนจำเอง การไปพบพวกเขาก็ยากมาก

            ...เพนกวินบอกกับผมว่า "มันก็เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอล ขณะที่ฝ่ายหนึ่งมี 11 คนในสนาม แต่เรามีผู้เล่นได้แค่ 3 คน ยังไงก็แพ้ การที่เขาสู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้แน่นอน ก็เท่ากับไปยอมรับว่าการแข่งขันครั้งนั้นเป็นธรรม" เพนกวินตอนนั้นเขาก็เลยใช้วิธีบอยคอต การถอนทนายไม่ได้แปลว่าทนายกับจำเลยแตกแยกกัน เป็นความคิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แต่เราในฐานะที่ร่วมต่อสู้กันมา เราก็ยังเป็นที่ปรึกษาเขาอยู่

-ที่ผ่านมาการเป็นทนายความให้แกนนำนักเคลื่อนไหวกลุ่มคณะราษฎร 63 ตั้งแต่ชั้นตำรวจถึงอัยการ เจอปัญหาอะไรบ้าง?

            ก็ตั้งแต่การถูกดำเนินคดีแล้ว เพราะหลายคดีส่วนใหญ่ตำรวจไม่ควรดำเนินคดี ที่ตั้งข้อหามาตรา 112 และ  116 คือผมเชื่อว่าการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนไทย โดยเฉพาะยิ่งเป็นคดีการเมือง มีการดำเนินคดีไปตามความเห็นของผู้บังคับบัญชาหรือที่เรียกว่า "นาย" ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจสั่งให้ทำ อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีไทย เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร.โดยตำแหน่ง จึงถือเป็นผู้บังคับบัญชา แล้วเวลามีนักเรียนนักศึกษาออกมาต่อต้านนายกฯ หรือเรียกร้องให้ลาออก  ผมถามว่าตำรวจจะกล้าหรือที่จะไม่ดำเนินการตามประสงค์

เพราะฉะนั้นเกณฑ์ที่เราได้รับ ก็เลยเป็นเกณฑ์ที่อยู่ในมาตรฐานต่ำ อย่างเกิดเหตุที่พื้นที่ สน.ชนะสงคราม ไปจับตัวคนมาแล้วเอาไปฝากขังที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี ซึ่งมันคือค่ายทหาร กว่าทนายความจะไปพบลูกความตัวเองได้ใช้เวลา 24 ชม. แต่ก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นใครจะไปรู้ ทั้งที่กฎหมายเขียนว่าเมื่อมีการจับกุมต้องแจ้งสิทธิกับคนนั้น เช่นสิทธิในการมีทนายความ

และเมื่อสำนวนคดีไปถึงขั้นตอนของพนักงานอัยการ  ทางอัยการก็รับสำนวนจากตำรวจ ที่เขาก็ฟ้องทุกข้อหา ทั้งที่บางข้อหาก็ไม่ควรฟ้อง แล้วก็ยื่นคัดค้านการประกันตัว แต่ในชั้นอัยการ ผมก็เชื่อมั่นอยู่ว่าพนักงานอัยการเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ ส่วนราชทัณฑ์เป็นระบบราชการปกติ คือหากคุณมีอำนาจก็ได้อยู่สบาย บางคนเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี เข้าคุกไม่ต้องตัดผม มันก็สะท้อนภาพ

-ยังเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน?

            ผมก็ยังเชื่อมั่น แต่ปัญหาเป็นเรื่องตัวบุคคล อย่างเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่านสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นอดีตผู้พิพากษาอาวุโสที่ผมยกมือไหว้ได้โดยสนิทใจ ก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องการไม่ให้ประกันตัวเพนกวิน ที่บอกว่า "ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้ประกันตัวเด็กๆ นักศึกษา และบอกว่าผู้พิพากษาไม่ต้องเกรงกลัวต่ออำนาจ เพราะคนมีอำนาจมาแล้วก็ไป แต่หากอยู่กับประชาชน จนประชาชนศรัทธา  ประชาชนจะเป็นหลังอิงให้ แล้วท่านจะไม่ล้ม"

ระบบศาลผมยังศรัทธาอยู่ เพราะเป็นคนละเรื่องกันกับตัวบุคคล เพราะสมัยนี้คนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในระบบศาลที่เป็นผู้พิพากษา ผมเห็นใจว่าเขาคงต่อสู้ได้ยาก  เพราะระบบยังมีความเทอะทะและมีการบริหารแบบราชการ ที่บางทีศาลก็ไม่ใช่ราชการ ผู้พิพากษาต้องมีอิสระและมีจินตนาการ รวมทั้งต้องมีอิสระในการพิจารณาคดีจากผู้บริหารศาลเองด้วย เช่นหากคุณเป็นผู้พิพากษาประจำศาลปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องฟังสิ่งที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรืออธิบดีศาลอาญาสั่ง แต่ความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้นหรือไม่ สังคมก็ต้องตัดสินเอง

 การแก้ไขระบบยุติธรรม ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ทางแก้ไขคือต้องทำให้ระบบยุติธรรมมาอิงกับประชาชน เพราะอย่างระบบศาลในสหรัฐฯ หรือในยุโรปก็อิงกับประชาชนทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันระบบตุลาการของเรา การบริหารงานไม่ได้อิงกับประชาชนอย่างแท้จริง ศาลดูเหมือนสูง คนก็ไม่อยากไปยุ่งด้วย แต่ถามว่าศาลมาจากคุณตรงไหน อย่าง ส.ส.เรายังพูดได้ เช่นรอบหน้าจะไม่เลือก หรือเลือกไปแล้วก็ยังวิจารณ์ ส.ส.ได้ แม้แต่ คสช.ที่มาจากรัฐประหาร เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ใหญ่กว่าผู้พิพากษาด้วยซ้ำ คนก็ยังวิจารณ์ได้ แต่เรารู้สึกไหมว่าระบบตุลาการไม่อิงกับประชาชน ตรงนี้ต้องแก้ คือการวินิจฉัยคดีต้องเป็นอิสระ แต่ไม่ใช่ศาลที่เป็นอิสระ ตรงนี้แตกต่างกัน เพราะเราต้องการความเป็นอิสระของตุลาการในการวินิจฉัยคดี แต่เราไม่ต้องการตุลาการที่เป็นอิสระจากอำนาจของประชาชน มันต้องมีระบบถ่วงดุล-คัดกรองและระบบกฎหมายที่ดี

-ในฐานะเป็นทนายความให้แกนนำม็อบคณะราษฎร 63 การสู้คดีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร หนักใจแค่ไหน?

            พวกแกนนำนักศึกษาเขาต้องการต่อสู้เพื่อปฏิรูปให้มันดีขึ้น ความหนักใจก็มีอยู่แล้วเพราะเรากำลังทะเลาะกับระบบ การทำงานของเราก็อาจมีอุปสรรคเยอะ การต่อสู้ของเราแต่ละครั้งจะมีความหนักใจแต่ละคราวไม่เหมือนกัน  อย่างช่วงก่อนหน้านี้ก็กลุ้มใจว่า เพนกวิน-รุ้งที่อดอาหาร จะเป็นอะไรไปหรือไม่ คนที่อยู่ในเรือนจำจะติดโควิดหรือไม่ คือเราอยากเอาเขาออกมาจากคุกโดยที่ยังมีชีวิตอยู่

-กระแสสังคมบางส่วนก็บอกว่าไม่อยากให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าออกมาแล้วจะกลับมาก่อเหตุวุ่นวายไม่สงบอีก?

            ก็เป็นความรู้สึกของคนทั่วไป ที่ไปมองว่าหากพวกเขาออกมาแล้วจะก่อเหตุวุ่นวาย แต่อย่างที่บอกแต่ต้นในเรื่องหลักกฎหมายการให้ประกันตัว ซึ่งคนที่พูดแบบนั้นถ้าสักวันหนึ่ง บิดามารดาหรือลูกชายเขาโดนคดีที่เขาไม่ได้ทำ  หรือเขาเชื่อว่าไม่ได้ทำ เช่นถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์ขโมยของ โดยที่เขาไม่ได้ทำ แล้วศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ลูกชายเขาเป็นคนดี พ่อแม่เขาเป็นคนดี ถูกขังไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลา 5-8 ปีก็ได้ แล้วเขาจะพูดคำพูดแบบที่ถามหรือไม่ เราต้องเอากฎหมายเป็นเทอร์โมมิเตอร์  (เครื่องวัดอุณหภูมิ) ที่เที่ยงตรง ไม่ต้องสนใจว่าน้ำแข็งก้อนนั้นเป็นของใคร ถ้ามันเย็นมันก็ศูนย์องศา ถ้ามันเป็นน้ำร้อนก็ร้อยองศา ผู้พิพากษาก็เหมือนกัน คนที่ออกมาเรื่องนี้ ผมไม่ได้สนใจ แต่ผมต้องการผู้พิพากษาที่มีจินตนาการ และปราศจากอคติทั้งปวง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับฝ่ายไหน  ตัดสินบนมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราว  โดยต้องอยู่บนหลัก อย่าเอนอิงไปกับกระแสสังคม

คนที่วิจารณ์ว่าออกมาแล้วจะมาทำอีก เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูดมาทั้งหมด ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาอาจไม่ผิดเลยก็ได้ ซึ่งผมว่าวันหนึ่งพวกเขาจะเข้าใจเมื่อเราได้ระบบยุติธรรมที่ถูกต้อง ระบบที่ดีและมีมาตรฐาน เขาก็จะมีความสุขในประเทศนี้

-แต่การเคลื่อนไหวต่างๆ ของแนวร่วมม็อบคณะราษฎร 63 อย่างเช่นที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม redem เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 พ.ค.ที่หน้าศาลอาญา  แบบนี้ก็มีการมองว่าเคลื่อนไหวเพื่อไปกดดันศาลอาญา?

            เรื่องนี้ผมขอพูดในสองประเด็น ประเด็นแรก ศาลตัดสินคดีไปตามหลักนิติปรัชญาและกฎหมาย การมีกระแสกดดันหรือไม่ ไม่ได้เป็นผลที่จะทำให้ศาลตัดสิน อย่างสมมุติมีคนไปเชียร์ แล้วศาลจะบอกว่าไม่ตัดสินแบบนี้แล้ว  เพราะจะถูกหาว่าไปเข้าข้างฝ่ายเชียร์ หรือมีคนด่า ก็ตัดสินไปตามฝ่ายด่า เพราะกลัวคนด่า แบบนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ในประเด็นที่ถามจึงไม่น่าจะมีผลต่อตุลาการผู้เที่ยงธรรม

            ประเด็นที่สอง ความกดดันหรือเกิดเหตุเช่นคนเดินขบวนไปศาล ไปด่าไปว่าอะไร ก็เป็นความผิด ก็ว่าไป แต่ทั้งหลายทั้งปวงผลมันมาจากเหตุ มีบางคนปากไม่ดี  บอกว่าหากนักโทษยาเสพติดอดอาหารประท้วงก็ต้องให้ประกันตัวหรือ แบบนี้ก็เกินเลยไป แต่ผมพูดก็ได้ว่าหากนักโทษยาเสพติดคนนั้นเขาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรเลย เขาติดคุกที่ออสเตรเลีย ไม่ได้ติดคุกที่เมืองไทย แบบนี้เขาก็น่าจะมีสิทธิ์ประกันตัว

อย่าลืมว่าการที่คนอดข้าวประท้วงหรือคนมาวิจารณ์ศาลอะไร มันมาจากเหตุ ผลมาจากเหตุทั้งนั้น เมื่อผลมาจากเหตุก็ต้องไปดูว่าที่มีคนมาด่าศาลเพียงเพื่อจะมาเอาคนออกไป หรือเป็นเพราะเรื่องอื่นด้วย อย่างที่เราคุยกันมาทั้งหมด เช่นเรื่องดุลยพินิจที่มันไม่ตรงข้อกฎหมาย ความเห็นที่ขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้คือเชื้อไฟ แต่พอมีเชื้อไฟแล้วใครเอาไฟมาโยนเราก็ไม่รู้ อย่างหากมีคนเชียร์ให้ลงโทษคนคนหนึ่ง แล้วท่านจะไม่กล้าลงโทษหรือ ถ้าเขาทำผิดในความเห็นของท่าน หรือคนเชียร์ให้ปล่อยแต่ท่านไม่กล้าปล่อย  ทั้งที่ก็เห็นว่าเขาไม่ผิด อย่างนั้นหรือ

-ประเมินชะตากรรมของแกนนำม็อบคณะราษฎร อย่างไรหลังจากนี้ เส้นทางคดีรวมถึงการดำเนินชีวิต  บางคนเกรงว่าหากได้รับการปล่อยตัวก็อาจเสี่ยงโดนอุ้มหายหรือไม่?

            อันนี้ผมพูดกับคุณแบบตรงไปตรงมา ทุกคนก็คิด คุณก็คิด ผมก็คิด แต่ในฐานะทนายความของเขา ผมคงไม่ประเมิน ตอนนี้ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือสู้คดีตามหลักให้พวกเขาถูกตัดสินโดยยุติธรรม ถ้าเขาผิด ผมยอมรับ ถ้าศาลตัดสินมาว่าเขาผิดโดยกระบวนการยุติธรรมที่ผมรับได้  เช่นเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม หากตัดสินว่าผิด  ผมก็ยอมรับในคำพิพากษานั้นโดยสนิทใจด้วย

-คนในสังคมจำนวนหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจการต่อสู้คดีของแกนนำม็อบ โดยเฉพาะการประกันตัว ทำนองว่า ศาลไม่ให้ประกันตัวแล้วทำไมไม่เคารพคำสั่งศาล?

            ฝ่ายแกนนำเขาเห็นว่า ที่เขาถูกดำเนินคดีจากฝ่ายบริหารเวลานี้เป็นการถูกกลั่นแกล้ง และเมื่อเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาก็อยากได้สิทธิ์ที่เขามีอยู่เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ต่อสู้คดี เช่นการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปเตรียมตัวต่อสู้คดี

            ...เขาบอกผมว่า ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิการได้รับการประกันตัว ไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อพวกเขา แต่เพื่อนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางคดีอาญาอื่นๆ ที่ถูกกลั่นแกล้ง เช่น เป็นพระสมณศักดิ์สูงส่ง บำเพ็ญธรรมจนได้ยศฐานันดร และเป็นที่เชื่อถือ แล้วไม่ให้ท่านได้รับการประกันตัว แต่ภายหลังศาลตัดสินว่าท่านไม่ได้ทำความผิด จะให้ทำอย่างไร ผมไม่ได้พูดถึงปัจจุบันเพราะจะไปสะเทือนใคร แต่พูดถึงพระพิมลธรรมในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วไม่ได้รับการประกันตัว  แล้วท่านก็นุ่งขาวห่มขาว กินข้าววันละมื้อ จนสุดท้ายศาลตัดสินว่าท่านไม่ได้มีความผิด ผมถามว่าใครจะคืนสิ่งเหล่านี้ให้เขา วันเวลาแห่งอิสรภาพมันมีความสูงส่ง โดยที่อันดับของพระพิมลธรรมเป็นรองจากสังฆราชเท่านั้นเอง

ผมอยากบอกผู้คนที่กำลังสงสัยในการต่อสู้ ว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้คนทั้งหลาย ให้กฎหมายครอบคลุมมีมาตรฐาน เราจะได้เดินในสังคมนี้อย่างมีความสุข  เพราะรัฐคุ้มครองคุณ ศาลคุ้มครองคุณ ใครมากล่าวหาคุณมากเกินไปไม่ได้ แต่ว่าต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วก็มีกฎเกณฑ์การควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ให้ศักดิ์และศรีกับความเป็นมนุษย์

-ในฐานะเคยเป็นอดีตนักศึกษาที่ผ่านเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519 มองว่าความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมตอนนี้ รัฐบาลสามารถคุยกับแกนนำคณะราษฎร 63 ได้หรือไม่ เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องต่างๆ?

            หากศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่มีแต่รัฐบาล แต่ก็มีทั้งผู้พิพากษา อัยการ  ตำรวจ ทหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งรับผิดชอบสังคมเท่ากันหมด ผมเสนอว่าให้ใช้วิธีที่ถามมา คือควรมีการคุยกัน เพราะสังคมมันเดินไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มากมาย วันนี้ประเทศมันเปลี่ยนไปเยอะ ยุค 6 ตุลาคม 2519 ยังไม่มีแม้แต่วิดีโอให้ดู แล้วเราจะอยู่กันยังไง ถ้ายังไม่คุยกัน ไม่เจรจา ผมหวังว่าเราจะเดินทางไปโดยสันติโดยการคุยกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะหวังได้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าเราต้องคุยกับเขา

“อย่าทำกับเยาวชนแบบนี้ อย่าเอาเขาไปขัง อย่างที่เพนกวินพูด คุณขังเขาได้ แต่คุณขังความจริงไม่ได้ เพนกวินตายไป เกิดอะไรขึ้น ความจริงที่เพนกวินพูดยังอยู่ แล้วคนก็จะเกลียดชังระบบมากขึ้น  ผมถามว่าเราแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นเรื่องเดียวกัน เราแก้ด้วยวิธีแบบนี้ มันก็ไม่ได้แล้วทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีความสุขเลย” ทนายความแกนนำม็อบคณะราษฎร 63 ย้ำทิ้งท้าย. 

                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"