คลังแจงยิบกู้1ล้านล.รอบคอบ


เพิ่มเพื่อน    

  “คลัง” ยันพิจารณาถี่ยิบกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เน้นแหล่งเงินในประเทศเป็นหลัก มีเครื่องมือกู้เงินเพียงพอในการเยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมพิจารณาอย่างรอบคอบ ”สภาพัฒน์' แจงโครงการแพทย์ สธ.ยังเบิกจ่ายล่าช้าได้เพียง 27.5% เหตุหน่วยงานอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน "เพื่อไทย" ห่วงค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลโควิดพุ่งซ้ำเติมภาระการคลัง ลั่นหลังเปิดสภาฯ จี้รัฐบาลตัดงบซื้ออาวุธมาสู้โควิด

    เมื่อวันจันทร์ นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า หากในอนาคตรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สบน.จะวางแผนการกู้เงินอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงต้นทุน สภาวะตลาดการเงิน และจะพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนและตลาดการเงิน โดยจะมุ่งเน้นตราสารทางการเงินที่ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
    สำหรับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (พ.ร.ก.โควิด-19) วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สบน.ได้วางแผนและดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 อย่างรอบคอบ โดยใช้กลยุทธ์การระดมทุนที่เป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
    ทั้งนี้ มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) พันธบัตรรัฐบาล (Loan Bond) และพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond) อีกทั้งได้คำนึงถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะปานกลางและระยะยาว โดยใช้พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะความต้องการของนักลงทุน และสภาวะตลาดการเงินในประเทศ
    นางจินดารัตน์กล่าวว่า พ.ร.ก.โควิด-19 ได้กำหนดให้กระทรวงการคลังโดยการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ โดยจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2564 ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดย ณ วันที่ 6 พ.ค.2564 กระทรวงการคลังโดย สบน.ได้ดำเนินการจัดหาเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ ครม.อนุมัติแล้วจำนวน 7.03 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ของกรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติ
    "สบน.ขอให้เชื่อมั่นว่าการบริหารหนี้สาธารณะได้มีการดำเนินการอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ” นางจินดารัตน์กล่าว
    ด้าน นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะโฆษกสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการเบิกจ่ายและแผนการใช้งบประมาณมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานเงินกู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
    อย่างไรก็ตาม โดยปัจจุบันภาพรวมการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายแผนงาน/โครงการด้านสาธารณสุข (แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ ณ ข้อมูลวันที่ 5 พ.ค.2564 ในกลุ่มที่ 1.มีการอนุมัติแผนงาน/โครงการดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 42 โครงการ วงเงินอนุมัติรวมทั้งสิ้น 25,825.8796 ล้านบาท และจากข้อมูลของรายงาน MIS ของกรมบัญชีกลาง พบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 7,102.6471 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 27.5%
    ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้มีการเบิกจ่ายค่อนข้างต่ำ เป็นผลจากหน่วยงานรับผิดชอบโครงการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ เครื่องฉายรังสี ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค ก่อสร้างและปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางแพทย์ อาทิ ห้องความดันลบ (Negative pressure) cohort ward ห้องทันตกรรม
     นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ความมั่นใจผู้บริโภคอยู่ที่ 46.0 ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 7 เดือน การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ก.ย.-มี.ค) พลาดเป้าไป 122,545 ล้านบาท หรือ 10.7% และ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ว่าแย่แล้วถึง 123,594 ล้านบาท หรือลดลง 10.8% อีกทั้งหนี้เสียในระบบธนาคารมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 4.68 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ปริมาณคนติดเชื้อไวรัสยังคงเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 2,000 คนทุกวัน
     มีผู้ป่วยสะสม 54,412 คน มีคนเสียชีวิตจากไวรัสโควิดตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว 305 ราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวได้ เพราะจะมีผู้ติดเชื้อล้นโรงพยาบาล และจะมีผู้ติดเชื้อรุนแรงล้นห้องไอซียู รัฐบาลจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อในการรักษาพยาบาลที่สูง ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังอย่างหนักซ้ำเติมภาวะการคลังที่ย่ำแย่อยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลได้เตรียมรับมือ
           นายพิชัยกล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจทรุดหนัก การระบาดของไวรัสยังรุนแรง ความเชื่อมั่นของรัฐบาลเสื่อมถอยหนักในทุกด้าน ประเทศจำเป็นจะต้องมีผู้นำคนใหม่ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และกล้าตัดสินใจ อีกทั้งยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งคนในประเทศและต่างประเทศได้ พร้อมทั้งต้องมีแนวคิดที่ทันสมัย ไม่ยึดติดกับกรอบคิดเดิมๆ จึงจะสามารถนำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้
    นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อสภาฯ เปิดวันที่ 22 พ.ค. สิ่งที่จะเกิดขึ้นอันดับแรกคือ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเตรียมการอภิปรายกฎหมายฉบับนี้ โดยชี้ให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาของการแพร่ระบาดโควิด ที่รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณในการเยียวยาทั้งในแง่สาธารณสุข ที่ต้องดูแลผู้ที่ติดเชื้อโควิด และแง่เศรษฐกิจที่ต้องดูแลผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ดังนั้นการพิจารณางบประมาณรัฐบาลต้องลำดับความสำคัญ ตัดงบที่ไม่จำเป็นออก เช่น งบจัดซื้ออาวุธ แล้วมาเพิ่มในงบประมาณสำหรับการกอบกู้สถานการณ์โควิด ทั้งการจัดหาวัคซีน และเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ ถ้ารัฐบาลยังไม่ฟังแล้วยังจัดงบสำหรับจัดซื้ออาวุธเข้ามา พรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้งบประมาณของประเทศเป็นไปตามที่ถูกที่ควรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"