‘ปริญญา’โต้คดี‘ธรรมนัส’ ศาลไม่ให้ความเป็นธรรม


เพิ่มเพื่อน    

 "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา" กางตำราเห็นแย้งศาลรัฐธรรมนูญคดีธรรมนัส ติงฝ่ายตุลาการของประเทศไทยมีปัญหาการให้ความยุติธรรม ลามถึงผู้พิพากษาถูกตั้งคำถามเรื่องไม่ให้ประกันตัวสามนิ้วหมิ่นสถาบัน อ้างไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่คนรู้สึกกับศาลว่าไม่ให้ความเป็นธรรมมากเท่านี้มาก่อน

    เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นโต้แย้งศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่วินิจฉัยสถานภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และไม่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 170 จากกรณีต้องโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศ
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา ระบุว่า เหตุผลแรกของศาลรัฐธรรมนูญคือ อำนาจตุลาการของไทยไม่อยู่ภายใต้อำนาจตุลาการของประเทศอื่น ถ้าเรายอมรับคำพิพากษาของศาลประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยไม่มีสนธิสัญญาที่จะยอมรับคำพิพากษาของกันและกัน ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าจะทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือน
    เห็นว่าเหตุผลนี้ควรต้องมีการโต้แย้ง ประมวลกฎหมายอาญาของไทยมีหลักให้ยอมรับคำพิพากษาของศาลประเทศอื่น ในกรณีที่ศาลประเทศนั้นพิพากษาให้ลงโทษและผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษจนพ้นโทษแล้ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องมีการลงโทษซ้ำต่อการกระทำที่ถูกลงโทษไปแล้ว และกฎหมายยาเสพติดของประเทศไทยก็กำหนดให้นำหลักนี้มาใช้ โดยไม่ต้องมีสนธิสัญญายอมรับคำพิพากษาระหว่างกัน หรือจะเป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยแต่ประการใดครับ
    ว่าง่ายๆ คือถ้าใครต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ประเทศอื่นและรับโทษครบแล้ว กฎหมายไทยก็กำหนดไม่ให้มีการดำเนินคดี พิพากษา และลงโทษเขาที่ประเทศไทยอีก แต่ถ้าไปกระทำในต่างประเทศแล้วยังไม่ถูกพิพากษาให้รับโทษ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย และอาจจะต้อง “คำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” และทำให้เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ดังนั้นการปฏิเสธไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยสิ้นเชิงในการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีโดยอ้างเหตุผลเรื่องอำนาจอธิปไตยของศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายอาญาของไทย และเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด
    เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญประการที่สองคือ กฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดฐานความผิดไว้แตกต่างกัน โดยชี้ว่าการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิด แต่กฎหมายของไทยอาจไม่กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้ ดังนั้นจึงเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ไม่ได้ ประเด็นนี้อาจรับฟังได้ หากเป็นการต้องคำพิพากษาในต่างประเทศสำหรับการกระทำที่ไม่เป็นความผิดในประเทศไทย แต่เนื่องจากการกระทำนี้ถือเป็นความผิดในประเทศไทยด้วย ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นเช่นเดียวกันครับ
    สำหรับประเด็นที่สามคือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า หากตีความว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย อาจทำให้ไม่สามารถกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว    เหตุผลข้อนี้ก็จะฟังขึ้นหากเป็นคำพิพากษาจากประเทศเผด็จการที่ศาลถูกแทรกแซงได้ ศาลไทยก็ไม่ควรที่จะยอมรับ แต่เนื่องจากประเทศออสเตรเลียไม่ได้มีปัญหานั้น แล้วความจริงศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียว่า พิจารณาโดยชอบด้วยหลักนิติธรรมหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถร้องขอได้โดยตรงจากศาลออสเตรเลียอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงไปขอให้ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และกระทรวงต่างประเทศไปขอสำเนาคำพิพากษาแล้วไม่ได้ ก็สรุปไปเลยว่าตรวจสอบไม่ได้เช่นนี้ ดังนั้นการเอาเหตุผลนี้มาใช้จึงเป็นปัญหาเช่นกันที่ทำให้คนรู้สึกเห็นต่างไปจากศาล
    มีคำกล่าวมาตั้งแต่เกือบร้อยปีมาแล้ว แล้วก็เอามาสอนกันในโรงเรียนกฎหมายกันทั่วไป โดยผู้พิพากษาของอังกฤษชื่อลอร์ด Hewart ในคดี Rex v. Sussex Justices ว่า “Justice is not only to be done, but also seen to be done!” แปลเป็นไทยได้ความว่า ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้เห็นด้วยว่าที่ทำลงไปนั้นคือความยุติธรรม!
    ศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นมาแล้วหรือไม่ และรัฐมนตรีคนนี้ควรพ้นตำแหน่งหรือไม่ เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน และอาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำคือประโยคหลังครับ Justice is seen to be done คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำให้คนเขาเห็นหรือไม่ ว่าที่ทำลงไปนั้นคือความยุติธรรม
    "ผมเห็นว่าในขณะนี้ฝ่ายตุลาการของประเทศไทยดูจะมีปัญหาตรงนี้อยู่มากในเรื่องทำให้คนเห็นว่าศาลได้ให้ความยุติธรรมแล้ว แล้วก็ไม่ได้มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งคำถามทั้งคดีนี้และคดีก่อนหน้านี้อีกหลายคดี แต่ศาลยุติธรรมก็ถูกตั้งคำถามมากในขณะนี้ในเรื่องการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีบางคดีด้วยครับ ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่คนรู้สึกกับศาลว่าไม่ให้ความเป็นธรรมมากเท่านี้มาก่อน ซึ่งกระทบต่อความเชื่อถือของผู้คนที่มีต่อฝ่ายตุลาการ และหลักการปกครองโดยกฎหมายที่ทุกคนและทุกฝ่ายเสมอกันภายใต้กฎหมาย และดังนั้น ด้วยความเคารพ จึงเป็นเรื่องด่วนที่ศาลควรต้องแก้ไขครับ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญาระบุ
    ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะต้องทำหน้าที่ที่มีอยู่ร่วมคลี่คลายปัญหาต่างๆ แม้มีสมาชิกพรรคเรียกร้องให้ถอนตัว เพราะไม่อยากให้พรรคเสียหายร่วมงานกับรัฐมนตรีที่มีคดีความว่า นายจุรินทร์อ้างสารพัดอย่าง โดยลืมสิ่งที่พูดไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เป็นประเภทได้หน้าแล้วลืมหลัง พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับผลในการตัดสินในเกาะอยู่กับอำนาจครั้งนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งประชาชนเขาจะตัดสินท่านเอง จะเป็นสิ่งพิสูจน์การกระทำของพรรคท่าน
    เมื่อถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นมองว่าจะเป็นรอยร้าวของรัฐบาลหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ลักษณะแบบนี้เป็นรอยร้าวในรัฐบาลอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต่างหาจังหวะช่วงชิงโอกาส ทั้งโอกาสทางผลประโยชน์และโอกาสถอนตัวออกจากรัฐบาล เมื่อมันถึงทางตันเดินหน้าไม่ได้จริงๆ กรณีที่เกิดขึ้นคนที่เสียโอกาสจริงๆ คือประชาชนชาวไทย อยากเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อไปกับรัฐบาลนี้ได้หรือไม่
    ส่วนความเคลื่อนไหวของร้อยเอกธรรมนัสนั้น พบว่าลงพื้นที่ร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนค่าภัตตาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ในโครงการ "โรงทานวัดอรุณ" ที่สำนักงานกลางวัดอรุณราชวราราม สำหรับกำหนดการจัดตั้ง "โรงทานวัดอรุณ" ดังกล่าว จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-31 พฤษภาคม 2564 โดยคณะสงฆ์วัดอรุณราชวราราม นำโดย พระธรรมรัตนดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 9 เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เพื่อเป็นการสนองพระดำริเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อจัดภัตตาหารถวายแด่พระภิกษุ-สามเณรในพระอาราม และสงเคราะห์ประชาชนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19).

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"