กทม. สรุปสถานการณ์โควิด ลั่นเร่งควบคุมคลัสเตอร์ต่างๆ ในพื้นที่ ให้ได้ภายใน 28 วัน 


เพิ่มเพื่อน    

13 พ.ค.64- กรุงเทพมหานคร แถลงข่าวสรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นำโดย  ร.ต.อ. พงศกร  ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า  ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ในกทม.มีหลายกลุ่มก้อน คลัสเตอร์ (cluster) ที่สำคัญ อาทิ ชุมชนแออัดในเขตคลองเตย  ตลาดห้วยขวาง  แฟลตดินแดง เขตดินแดง ปากคลองตลาด เขตพระนคร สี่แยกมหานาค เขตดุสิต สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค เป็นต้น 

ทั้งนี้ มีหลายคลัสเตอร์ ที่มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค  ทั้งนี้กรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดใน Cluster ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนแออัดคลองเตยปัจจุบันได้เร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Swab) ในตลาดคลองเตย เพื่อแยกผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล

 

สำหรับแนวทางการให้วัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โฆษก กล่าวต่อว่า มี 3 รูปแบบ คือ 1.การลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม 2.การลงทะเบียนผ่านระบบที่แต่ละจังหวัด/โรงพยาบาลได้จัดทำขึ้น 3.การอนุมัติอนุญาตให้แต่ละจังหวัดพิจารณาให้วอล์คอิน ซึ่งในส่วนของการวอล์คอินให้ฉีดวัคซีน ทางกรุงเทพฯ ยังคงใช้การลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมเป็นหลัก  เพื่อไม่ให้พื้นที่แออัดเกินไป รวมไปถึงจัดการบริหารวัคซีนได้ แต่ปัจจุบันเนื่องจากปริมาณวัคซีนในกรุงเทพฯ มีอย่างจำกัด จึงมีการจัดลำดับในการวัคซีนแก่ผู้มีความเสี่ยง เบื้องต้นจะมีการฉีดให้กลุ่มตามที่ทางรัฐกำหนด 
ในส่วนของการฉีดวัคซีนนอก รพ.ระหว่างวันที่12-14 พ.ค. เป็นระยะทดลองระบบร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย คือ  บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังตกค้างบางส่วน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง หากได้รับวัคซีนเพิ่มก็จะทำการขยายกลุ่มเป้าหมาย  รวมไปถึงในกลุ่มชาวต่างชาติหรือต่างด้าว ทั้งนี้จุดบริการวัคซีนนอกรพ.ยังไม่เปิดรับประชาชนทั่วไปวอล์กอิน เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ด้วย 

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวเสริมว่า โดยการดำเนินการขอวัคซีนไปที่ 5 แสนโดส ในเดือนมิถุนายน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงทางกระทรวงสาธารณสุขจึงจะจัดสรรมาให้จำนวน 1 ล้านโดส  คาดว่าภายในช่วงหลังวันที่ 17 พฤษภาคม ทั้งนี้ การให้บริการวัคซีนในกรุงเทพฯ มี 4 รูปแบบคือ 1.ให้บริการในโรงพยาบาล 126 แห่ง โดยเฉพาะ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จะต้องรับวัคซีนที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาฉุกเฉิน จำนวนผู้ลงทะเบียนในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกว่า 3 แสนคน จากที่คาดการณ์ไว้ 6 แสนคน หากใครยังไม่ได้ลงทะเบียนทางโรงพยาบาลก็จะใช้ระบบกึ่งวอล์กอิน คือ หากเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลแล้วเข้ามารักษาก็จะฉีดให้เลย 

2. มีการเปิด 15 จุดฉีดวัคซีน ความร่วมมือจากหอการค้าไทย และจุฬาฯ โดยจะมีการจองวัคซีนในห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็จะมีโรงพยาบาลทุกสังกัดจับคู่กับห้างสรรพสินค้าในการให้บริการฉีดวัคซีน
 3.กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขยายเวลาตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบ และกลุ่มพนักงานส่งอาหาร Delivery โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้- 31 พ.ค.64 ซึ่งในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน นอกจากนี้มีแผนร่วมกับกองทัพไทยในการให้บริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกกระจายไปตาม 6 กลุ่มโซน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงจะสามารถไปใช้บริการได้


 4.หน่วยเคลื่อนที่เร็วของสำนักอนามัยที่จะฉีดเชิงรุกในกลุ่มเปราะบาง  รวมไปถึงการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มชาวต่างชาติหรือต่างด้าว แต่จะให้คนไทยได้ลงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อน เพราะเป็นนโยบายทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศจะต้องได้รับวัคซีน 

ผอ.สำนักอนามัย ได้ให้มุมมอง การตรวจเชิงรุกของกรุงเทพฯ ประมาณวันละ 1-2 หมื่นตัวอย่าง/วัน มีการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ตรวจในพื้นที่คลัสเตอร์ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วมี คลองเตย บางแค ปทุมวัน บ่อนไก่ และดุสิต เป็นต้น โดยจะเร่งควบคุมการระบาดในแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ภายใน 28 วัน ขณะนี้พบว่ามีหลายคลัสเตอร์ที่อยู่ในชุมชน และชุมชนบางแห่งสามารถบริหารจัดการดูแลกันเองได้เป็นอย่างดี อาทิ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ที่ได้แยกประชาชนที่ติดเชื้อออกจากครอบครัวมาดูแลพักคอยก่อนนำส่งสถานพยาบาล  อันเป็นการลดการแพร่ระบาดให้แก่คนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบ Community Isolation ซึ่งชุมชนอื่นสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้หรือจัดเตรียมสถานที่รองรับไว้หากพบการระบาดในพื้นที่ต่อไป 2.การเฝ้าระวังเชิงรุก โดยตรวจโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน ตรงสนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และได้มีการวางแผนเพิ่มจุดตรวจอีก 6 จุด อยู่ในขั้นตอนของการวางแผนที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันจันทร์ 17 พ.ค.นี้ 

นพ.สุขสันต์  กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 12 พ.ค.64 ระบุ โรงพยาบาลสนามมีกว่า 500 เตียง และ Hospital แบ่งเป็น ภาครัฐเหลือว่างอยู่กว่า 800 เตียง และภาคเอกชนเหลืออยู่เกือบ 7,000 เตียง โดยรองรับผู้ป่วยสีเขียว แต่จากจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันถึงหลักพันจึงเป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าติดตาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ที่โรงพยาบาลบุษราคัม จะเปิดเฟสแรกรองรับผู้ป่วย 1,100 เตียง และผู้ป่วยสีแดง โดยมีการเปิดเตียงเพิ่มที่สำนักการแพทย์ เป็น 21 เตียง คาดว่าในสัปดาห์ก็จะสามารถเปิดเตียงเพิ่มได้อีก 10 เตียง ซึ่งในสถานการณ์โรงพยาบาลสนามตอนนี้ก็จะสามารถมีเตียงช่วยในการรองรับผู้ป่วยได้ 

อย่างไรก็ตาม สามารถลงทะเบียนรับวัคซีนได้ทางรพ.สังกัดกทม.ทั้ง 11 แห่ง หรือปรึกษาสายด่วนสำนักการแพทย์ 1646


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"