WFHลดแพร่โควิด ค่าไฟ-น้ำ-เน็ตพุ่ง!


เพิ่มเพื่อน    

  สวนดุสิตโพลชี้เวิร์กฟรอมโฮมช่วยลดแพร่เชื้อโควิด แต่ค่าใช้จ่ายในบ้านเพิ่มขึ้น ค่าไฟ-น้ำ-อินเทอร์เน็ตพุ่ง ซูเปอร์โพลเผยคนไทยยังมีหวังเศรษฐกิจฟื้นหลังวิกฤติไวรัส ขอรัฐบาลเยียวยาเรื่องปากท้อง ผ่อนผันหนี้สิน แก้ปัญหาสินค้าเกษตร

    เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,553 คน ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค. 2564 พบว่า ในช่วงนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ร้อยละ 42.72 และทำทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ร้อยละ 34.45 โดยเห็นว่าการทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้รู้สึกปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ร้อยละ 74.82 รองลงมา ร้อยละ 48.60 ระบุ เป็นการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ/ให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน ร้อยละ 44.05 ระบุ มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ร้อยละ 40.53 ระบุอุปกรณ์ เครื่องมือไม่พร้อม ไม่เอื้อต่อการทำงาน
    ทั้งนี้ข้อดีของ WFH คือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 88.33 ระบุ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะที่ข้อเสียคือ ร้อยละ 65.80 ระบุ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตามจากการทำงานที่บ้าน ผลงานประสบความสำเร็จ ร้อยละ 70.33 ส่วนความชื่นชอบต่อรูปแบบการทำงาน พบว่า ชอบทั้งการทำงานที่บ้านและการทำงานที่ทำงาน ร้อยละ 37.17 และเห็นว่านโยบายการทำงานที่บ้านนั้นช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ ร้อยละ 82.66
    ในระยะเวลาปีกว่าที่ภาคประชาชนให้ความร่วมมือด้วยการทำงานที่บ้าน และปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะต้องการให้สถานการณ์โควิด-19 นั้น “เจ็บแต่จบ” เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ในส่วนของภาครัฐเองก็ต้องเร่งมาตรการอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ทั้งการรับมือและเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
    ผศ.ทิพสุดา คิดเลิศ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า การทำงานที่บ้านเป็นแนวคิดช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การทำงานที่บ้านจะทำให้มีค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาเป็นการแบ่งเบาประชาชน ซึ่งการทำงานที่บ้านจะเกิดประสิทธิภาพได้นั้น ควรแยกเวลาทำงานและเวลาส่วนตัว (Work Time and Personal Time) เพื่อกำหนดชั่วโมงการทำงานและความสำเร็จของงาน และองค์กรควรกำหนดนโยบาย (Policy) ให้ชัดเจนในเรื่องการทำงานที่บ้านนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างสำนักงานเสมือน (Virtual Office) สนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันในการสื่อสารและทำงานร่วมกันในองค์กร หรือพัฒนารูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด (Hybrid model) ที่เน้นการทำงานแบบผสมผสาน พนักงานสามารถเลือกทำงานจากที่บ้านหรือที่สำนักงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการทำงานที่บ้าน “ทำให้เกิดสิ่งใหม่” นั่นคือ “วิถีการทำงานรูปแบบใหม่” และยังเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย
    วันเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "ปากท้องวันนี้ ปากท้องหลังโควิด" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,382 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ขอรัฐบาลบูม ส่งเสริมสินค้าเกษตร รองลงมาคือร้อยละ 78.0 ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ในระบบ เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ร้อยละ 74.4 ต้องการมาตรการเยียวยา เช่น ลดค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ร้อยละ 73.0 ต้องการให้เจ้าสัว ผู้ประกอบการ ลดราคาอาหารและสินค้าจำเป็น
    ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ต้องการรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หามือปราบหนี้นอกระบบมาสร้างผลงานช่วงวิกฤติชาติ ลดความเดือดร้อนปลอดจากอำนาจมืด และร้อยละ 64.0 ต้องการให้รัฐบาลกระจายที่ทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นธรรม ทั่วถึง ตามลำดับ    
    อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนหลังโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 หวังให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและฐานผลิตอาหารปลอดสารพิษ รองลงมาคือร้อยละ 74.4 ต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพลิกฟื้นเศรษฐกิจปากท้องนำชีวิตชีวาของประชาชนกลับมา ร้อยละ 66.1 คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรวดเร็ว และร้อยละ 63.1 ระบุประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางและฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.5 ระบุมีความหวังจะลุยไปข้างหน้าค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 16.4 ระบุปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่มีความหวังเลย
    ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าประเทศชาติและประชาชนยังมีทางออกที่ดีหลายทาง โดยข้อมูลที่ค้นพบสามารถจำแนกออกให้เห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความหวัง หลังโควิดที่จะลุยกันต่อไปข้างหน้า ด้วยความหวังในมาตรการต่างๆ ของรัฐ ใน 3 กลุ่ม
    กลุ่มที่ 1 คือ การเยียวยาเร่งด่วน แก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและทั่วถึงในกลุ่มต่างๆ เพื่อพยุงให้ยืนได้ก่อนกลับมาเดินหน้ากันต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผ่านแรงเสียดทานของอารมณ์ความรู้สึกและความพึงพอใจที่หลากหลาย ที่ต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างมาก
    กลุ่มที่ 2 คือ การช่วยเหลือแก้ปัญหายาดำเดิมในสังคม ที่บั่นทอนความรู้สึกเหลื่อมล้ำเป็นธรรมในสังคม เช่น ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ดินทำกิน ราคาพืชผลการเกษตร และสิ่งค้างคาใจอื่นๆ ที่ประชาชนอยากปฏิรูปในเรื่องใกล้ตัวมากกว่า
    และกลุ่มที่ 3 คือ เป้าหมายที่ชัดเจนของประเทศและความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการขับเคลื่อน เช่น การเป็นศูนย์กลางและฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การเป็นประตูอาเซียน และการเป็นศูนย์กลางการเกษตรปลอดสารพิษ เป็นต้น ซึ่งหากมีสนับสนุนและมีความชัดเจนจากรัฐ มันคือหัวรถจรวดกำลังแรงที่จะฉุดประเทศให้เปลี่ยนแปลงอย่างโดดเด่น
    "การสะท้อนของประชาชนผ่านผลโพลถึงความหวังทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นว่าในวิกฤติยังมีโอกาส และในโอกาสนี้ยังเป็นความหวังของทุกคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ และพัฒนาการของคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ในขณะที่เรากำลังปัดป้องตั้งรับจากโรคระบาดด้วยความกลัวและขัดแย้งกันอยู่ ในเวลาเดียวกัน เราต่างไม่หยุดคิดและจินตนาการตัวเราและสังคมไทยในอนาคตอย่างมีความหวังร่วมกัน ต้องช่วยกันจบโรคระบาดให้เร็วที่สุด และพร้อมจะรวมพลังขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างถูกทิศทางและเป็นประโยชน์ร่วมกัน ขอเพียงความจริงใจและความมุ่งมั่นที่ชัดเจนจากรัฐบาล เชื่อว่าเราทุกคนทุกภาคส่วนพร้อมใช้ยุทธศาสตร์ “ล้มและลุกทันที” เมื่อเราล้มแล้วพยุงกันลุกพร้อมจับมือเดินหน้าลุยไปด้วยกัน" ผศ.ดร.นพดลระบุ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"