ภัย‘โรแมนซ์สแกม’ ล่อเหยื่อวัยเกษียณ


เพิ่มเพื่อน    

  ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยออนไลน์ “โรแมนซ์สแกม” ล่อลวงให้สูญเงิน เหยื่อส่วนใหญ่วัยเกษียณ แนะ 5 ข้อสำคัญ เก็บข้อมูลส่วนตัว ไม่คุยกับคนแปลกหน้า อย่าไว้ใจง่าย ชี้มิจฉาชีพใช้คำหวาน ให้ความหวัง      

    วันที่ 18 พ.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.และโฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงแนวทางการป้องกันการตกเป็นผู้เสีบหายกรณีมีการนำเสนอข่าว “รวบผัวเมียแสร้งรักออนไลน์ ตุ๋น ขรก.วัยเกษียณสูญ 10 ล้าน” ดังนี้ การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) ได้เข้าจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี และชายชาวไนจีเรีย อายุ 36 ปี ที่บ้านพักใน จ.สระบุรี ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองรายนั้นได้ร่วมกระทำความผิดในลักษณะโรแมนซ์สแกม (Romance Scam) มีผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าราชการวัยเกษียณทั้งชายและหญิง ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นมีมูลค่าความเสียหายรวมนับสิบล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้นำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
    รองโฆษก ตร.และโฆษก บช.สอท.กล่าวว่า โรแมนซ์สแกมนั้นเป็นหนึ่งในภัยออนไลน์ที่ยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน โดยมีการพัฒนารูปแบบและเทคนิคที่ใช้ในการล่อลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่น Facebook หรือ Instagram หรือผ่าน chat application ต่างๆ เช่น Line Application โดยเหล่ามิจฉาชีพจะหาช่องทางไปพูดคุยทำความรู้จักกับผู้เสียหายจนสนิทสนมและมีความสัมพันธ์ถึงขั้นคบหาดูใจกัน หลังจากเกิดความไว้วางใจแล้ว เหล่ามิจฉาชีพจะออกอุบายว่าจะส่งของหรือทรัพย์สินไปให้ แต่สิ่งของนั้นมาจากต่างประเทศ การจะส่งไปให้ต้องเสียภาษีนำเข้าพัสดุก่อนจึงจะส่งพัสดุไปยังบ้านของผู้เสียหายได้ จากนั้นเหล่ามิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายโอนเงินที่อ้างว่าเป็นค่าภาษีนำเข้าพัสดุนี้ไปยังบัญชีซึ่งเป็นบัญชีที่จ้างเปิดมาอีกทีหนึ่ง เมื่อผู้เสียหายโอนเงินมาแล้ว เหล่ามิจฉาชีพจะกดเงินออกในทันที จากนั้นมิจฉาชีพจะเลิกติดต่อผู้เสียหายและหลบหนีไป
    รองโฆษก ตร.กล่าวต่อว่า ฝากเตือนภัยและแนวทางการป้องกัน หลีกเลี่ยงการฉ้อโกงในรูปแบบโรแมนซ์สแกม ดังนี้ ควรเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยเฉพาะบนโลกไซเบอร์ จะนํามาซึ่งความเสี่ยงในการตกเป็นเป้าหมายของเหล่ามิจฉาชีพ ควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับบุคคลแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ หรือหากจะพูดคุยก็ควรตรวจสอบข้อมูลหรือรูปภาพของบุคคลที่คุยด้วยทุกครั้ง ว่านำภาพบุคคลใดมาแอบอ้างหรือไม่ มีตัวตนจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ไม่ควรไว้ใจหรือเชื่อใจบุคคลอื่นง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งรู้จักกันทางสื่อสังคมออนไลน์ หากพบพฤติกรรมในลักษณะ เช่น เมื่อพูดคุยกันไปสักพักจะมีการใช้คำหวาน พูดให้ความหวัง และอยากจะส่งของมาให้ โดยจะอ้างว่าเป็นเงินสด หรือสิ่งของมีค่าต่างๆ แต่คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและภาษี ให้สันนิษฐานได้ว่าอาจถูกหลอก ควรตรวจสอบข้อมูลของบุคคลดังกล่าวให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
    “พึงระลึกไว้เสมอว่าอะไรที่ดีเกินไป เร็วเกินไป มักจะลงเอยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ ควรระมัดระวังในเรื่องการมีความสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ Chat Application ในรูปแบบต่างๆ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"