การถวายด้วยความเคารพ


เพิ่มเพื่อน    

     คงเป็นเรื่องของวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างจากในอดีต ทำให้วิธีการทำบุญตักบาตรในยุคสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ น้อยนักที่จะพบเห็นพระสงฆ์เดินบิณฑบาตมายังหน้าบ้าน แต่ส่วนใหญ่ท่านจะมี "จุดยืน" เป็นที่รับรู้กันแล้วพวกเราก็จะต้องไปตรงนั้นหากต้องการใส่บาตร

     โดยเฉพาะในเมืองหลวงทุกวันนี้ เชื่อว่าเหลือน้อยจนถึงน้อยมากที่สุดก็ว่าได้ ที่จะได้ยินเสียงนิมนต์พระมาเพื่อรับบาตร

     อีกสิ่งที่มักจะขัดลูกหูลูกตาสำหรับเรื่องการใส่บาตร ก็คือ พุทธศาสนิกชนน้อยเหลือเกินที่จะถอดรองเท้า หรือนั่งลงคุกเข่าเมื่อจะใส่บาตรหรือถวายอาหารแด่พระ อย่างไรก็ตาม มีหลายแห่งที่น่าชื่นชมเหมือนกัน ที่เลือกปูเสื่อหรือพลาสติกไว้ตรงหน้าพระสงฆ์ เพื่อให้คนที่จะใส่บาตรได้ถอดรองเท้าและนั่งลงอย่างไม่รู้สึกว่าเคอะเขิน

     สำหรับใครจะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการที่ต้องถอดหรือไม่ต้องถอดรองเท้าก็ได้เวลาตักบาตรนั้น มนุษย์ป้าคนนี้ขอปฏิบัติตามความรู้สึกส่วนตัวว่า ต้องถอดทุกครั้ง และถอดก็คือถอด และลงยืนเท้าเปลือย มิใช่ถอดแล้วยืนอยู่บนรองเท้า ซึ่งมิได้แตกต่างอะไรเลยนะจากการไม่ถอดรองเท้า..จริงไหม

     นอกจากนั้น ถ้าอยู่ในสถานที่ที่เห็นว่าพอจะสามารถคุกเข่าลงได้ มนุษย์ป้าคนนี้ก็จะไม่รีรอที่จะคุกเข่าลงไปเพื่อน้อมถวายตักบาตรพระสงฆ์ที่เดินผ่านไปมาริมถนนแม้แต่น้อย เพราะแต่เล็กแต่น้อย พ่อแม่ทำให้เห็นเช่นนั้นนั่นเอง

     อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ถอดรองเท้า เพราะไม่เห็นความจำเป็นต้องถอด หรือมีความจำเป็นที่ทำให้ถอดไม่ได้นั้น ก็มิได้หมายความว่าได้กระทำผิดใดๆ ตามหลักพุทธศาสนา เพราะการกระทำนั้นล้วนอยู่ที่ใจ

     ธรรมเทศนาตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ พระอาจารย์ชยสาโร แห่งสถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี นครราชสีมา น่าจะอธิบายได้กระจ่างที่สุดว่า ...ถ้าเอาวัฒนธรรมอินเดียในสมัยนั้นเป็นหลักการให้หรือถวายของนี่ ต้องทำด้วยกิริยาท่าทางอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น ถ้าถวายข้าว ก็ห้ามโยนอย่างนี้ ต้องใส่อย่างนี้ แล้วในสมัยนั้นการใส่รองเท้าถือว่าไม่สุภาพ ยิ่งถ้าพระท่านไม่ใส่รองเท้าอยู่แล้ว ถ้าโยมใส่รองเท้าก็สูงกว่า จึงกลายเป็นธรรมเนียม เป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ถวาย ถวายด้วยความเคารพ

     แต่เมื่อพระเราไปเมืองนอก ซึ่งคนไม่รู้จักธรรมเนียม ไม่รู้จักประเพณี เราจะไป ต้อง..อย่างนั้น อย่างนี้นะ มันไม่ได้ เดี๋ยวเขาก็ถอยเลย ใช่ไหม

     บอกแต่ว่าให้ด้วยความเคารพ เขาก็แปลตามความหมายของเขา ให้ด้วยความเคารพในความหมายของเขา อาจจะดูไม่งามเหมือนธรรมเนียมของเรา ก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเป็นลูกศิษย์วัดนานๆ แล้ว เราก็ค่อยๆ สอนให้เขาทำเหมือนคนไทย

     แม้แต่ในประเทศไทย ถ้าบิณฑบาตในกรุงเทพฯ มีทหารจะใส่บาตร จะให้ทหารถอดรองเท้ากลางถนนก็คงไม่เหมาะสม ใช่ไหม (เพิ่มเติม-รองเท้าคอมแบตทหารจะเป็นรองเท้าผูกเชือก การถอด-ใส่จะต้องใช้เวลาพอสมควร) จึงต้องใช้สามัญสำนึกด้วย ถ้าเขามีกิริยานอบน้อมที่จะถวาย เราก็ไม่ต้องไปจู้จี้ในเรื่องรายละเอียดกับเขามาก

     สาธุ!!.

                                                                                                                                                "ป้าเอง"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"